โลกปฎิรูปการศึกษาเปลี่ยนการสอน-วัดผล ดร.วิริยะ ยัน 90% ไทยติดรูปแบบเดิม
นักวิชาการ เชื่อคนมีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาประเทศได้ แนะเปลี่ยนระบบการเรียนการสอน จากสอนให้เชื่อเป็นสอนให้คิด เปิดโลกดูงานต่างประเทศแล้วนำปรับใช้ไม่ใช่ไปลอกเลียนแบบมา
ดร. วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการด้านการศึกษา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการมองไปข้างหน้าได้ดีมาก เพราะยุคนี้เป็นยุคของความรู้ หากย้อนไปยุคหนึ่งเป็นยุคของเกษตรกรรมยุคของทรัพยากรมีแร่ธาตุ ซึ่งยุคนั้นประเทศไทยมีทรัพยากรจำนวนมาก พอมายุคที่ 2 คือยุคอุตสาหกรรม ประเทศสหรัฐอเมริการเป็นผู้นำในระบบอุตสาหกรรมทำให้ทรัพยากรมีความสำคัญน้อยลง พอมายุคที่ 3 เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ยุคที่ 4 เป็นยุคความรู้ เป็นยุคที่เปิดไปทั้งโลก หมายถึงทั้งโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ไม่ยาก ฉะนั้น อนาคตต้องมีความคิดและไม่ใช่แค่คิดวิเคราะห์ แต่คือความคิดสร้างสรรค์
"ประเทศใดที่มีประชากรที่เติบโตมาและมีความคิดสร้างสรรค์ ก็จะทำให้ประเทศนั้นประสบความสำเร็จได้ง่าย การที่จะเข้าสู่ 4.0 คือการที่จะสร้างสังคมที่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เชื่อว่าถ้าบริบทของโรงเรียนหรือวิธีการสอนของครูในโรงเรียนยังไม่เปลี่ยนแปลง ประเทศไทยไม่มีทางสร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้เลย นอกจากคนๆนั้นจะมีความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ ถ้าเกิดเขามีความคิดสร้างสรรค์ แต่ไปเจอระบบการเรียนการสอนแบบที่ทำกันปัจจุบัน อยู่ความคิดสร้างสรรค์ก็จะลดลงตามลำดับ"
ดร. วิริยะ กล่าวอีกว่า การที่มีคนพูดว่าต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการคนที่วิเคราะห์เก่ง พูดแบบนี้ถูกต้อง เห็นด้วย แต่เวลาปฎิบัติ ต้องสร้างให้เกิดขึ้นมาให้ได้ ระยะเวลาในการพัฒนาให้การศึกษาไทย เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
เมื่อถามถึงระบบการศึกษาไทย นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า การศึกษาไทยปัจจุบันนี้ ดีขึ้นหลายอย่าง หัวใจของการปฎิรูปของการศึกษาที่ทั่วโลกทำกัน คือ เปลี่ยนการสอนและการวัดผล โดยสอนให้น้อยที่สุด แต่เอากิจกรรม ปัญหา โครงงาน เข้าไปในการสอน ซึ่งในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ใช้ในรูปแบบนี้มาก่อน โดยแต่ละประเทศมีการวิจัยในรูปแบบการสอนและการประเมินผลซึ่งสอดคล้องความต้องการของประเทศนั้นๆ แต่ประเทศไทยชอบไปเลียนแบบมาใช้และก็ไม่เข้าใจระบบนั้นๆ
"ที่ประเทศไทยติดอยู่กับปัญหา เพราะเวลาคิดจะทำอะไรชอบทำเป็นโครงการ นั่งประชุมเสร็จก็ตั้งโครงการและจ่ายงบประมาณ ในโครงการก็เรียกครูมาอบรม พออบรมเสร็จครูกลับไปก็สอนแบบเดิม เพราะบริบทยังเป็นแบบเดิม การจะเปลี่ยนรูปแบบการสอนก็ต้องเปลี่ยนข้อสอบให้เป็นแบบใหม่"
ดร. วิริยะ กล่าวด้วยว่า แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการสอน แต่การสอบ การวัดผลไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ หรือจะเปลี่ยนที่ละอย่างก็ไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นการเรียนการสอนในประเทศไทย 90 % ก็ยังเป็นแบบเดิม ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในทางวิชาการในโลกมีครูอยู่ 2 แบบ แบบที่ 1. คือแบบเล่าเรื่องให้ฟัง บอกให้จดให้ความจำและก็นำไปสอบ ส่วนแบบที่ 2. ไม่เล่าเรื่อง แต่เอาปัญหามาตั้งและให้นักเรียนเอาปัญหามานั่งคุยกันหาวิธีแก้ปัญหา เปิดหาข้อมูลด้วยตัวเอง ความรู้ที่นำเข้ามาไม่ใช่การบอก แต่ต้องเป็นการชี้บอกรายกลุ่ม ความรู้แทนที่ได้จากการนั่งฟังก็กลายเป็นการค้นหาทักษะการหาก็จะเกิดขึ้น เมื่อเช่นนี้ เด็กก็จะมีทักษะของการหา เวลาฟังอะไรก็จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ใครโพสอะไรก็ไม่ใช่แห่ตามกันไป ใครด่าใครก็ด่าตามกันไปก็จะไม่เกิด คนแบบนี้คือคนที่มีคุณภาพ เพราะมีทักษะของการเรียนรู้ไม่ใช่ทักษะของการนั่งฟังและก็เชื่อ เมื่อก่อนเราสอนเด็กให้เชื่อวันนี้ต้องสอนให้เด็กคิด
ขอบคุณภาพจาก: pmca