"อภิสิทธิ์" หนุนมาตรการช่วยคนจน เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตรงสุด
อภิสิทธิ์ชี้เศรษฐศาสตร์แบบเก่าใช้ไม่ได้กับเศษรฐกิจยุคปัจจุบัน-ในชีวิตจริง หนุนโครงการช็อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 สถาบัน ISAB ในหลักสูตรประกาศนียบัตร นักบริหารยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก : THE MASTER รุ่นที่ 1 จัดงานบรรยายในหัวข้อ “Appreciative Business : ยุคใหม่....เศรษฐศาสตร์ใหม่” ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 1 อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสถาบัน ISAB เป็นวิทยากร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงโครงการสตาร์ทอัพหรือไทยแลนด์ 4.0 ควรต้องมาคิดโครงสร้างให้ดี ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน เพราะทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงกำลังส่งผลรุนแรงเป็นอย่างมากในทุกๆด้าน การเปลี่ยนแปลงล่าสุดที่วิจารณ์กันมากคือ ผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่บ่งบอกอะไรหลายอย่าง ที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์หลายอย่างที่กระเทือนไปทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการเก็งกำไรค่าเงิน ทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ส่วนเรื่องเล็กอย่างการตัดสินใจซื้อสินค้ามีปัจจัยอื่นเข้ามาอีกมาก เช่น การซื้อของลดราคามีความสุขที่ได้ซื้อของลดราคากว่าปกติ ทุกคนใช้เหตุผลของตัวเอง บางทีการวิเคราะห์ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์อาจไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงเรื่องการผูกขาดตลาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการจำนำข้าว โดยขอให้จับตาดูการซื้อข้าวจากชาวนาที่พยายามจะไม่ผ่านโรงสีหรือผ่านคนกลางว่า จะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องยากมาก หลายคนที่เข้ามาช่วยด้วยความตั้งใจดีต้องแบกค่าขนส่งเองไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถให้ราคาที่ดีแก่ชาวนาได้ แต่หากสามารถสนับสนุนให้เป็นเครือข่ายเกษตรกรมีโรงสี และมีตลาดที่แน่นอน เชื่อว่า จะเป็นวิธีที่น่าจะทำได้มากกว่า
ส่วนการขายข้าวออนไลน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสถาบัน ISAB กล่าวว่า ค่าขนส่งข้าวแพงเท่ากับราคาข้าวแล้ว โดยระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ มีแนวโน้มที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีลักษณะแบบผูกขาดมากยิ่งขึ้น และส่งผลสำคัญเวลาบริหารเศรษฐกิจแบบมหภาค ตัวเลขจีดีพีนั้นจะไม่สะท้อนความกินดีอยู่ดีของประชาชนอย่างแท้จริง
"จีดีพีเป็นตัวเลขที่ง่ายและกลายเป็นตัวเลขหลักของการวิเคราะห์เศรษฐกิจ แต่ก็ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก ตัวเลขจีดีพีบางทีก็ต้องคิดให้ดี เอาตัวเลขเหล่านี้เป็นหลักจะเป็นคำตอบทุกอย่างหรือไม่ "
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงโครงการช็อปช่วยชาติ ปีที่แล้วก็ช็อปช่วยชาติไปแล้วครั้งหนึ่ง ถามว่าปีที่แล้วได้ผลแค่ไหน ผู้ประกอบก็บอกว่า ช่วงโครงการตัวเลขเห็นได้ชัดแค่ประมาณเดือน หลังช็อปช่วยชาติยอดก็ตกลง เพราะเป็นมาตรการที่ทำให้ซื้อของเร็วขึ้น ไม่ได้ช่วยทำให้ซื้อของเยอะขึ้น
"เวลาวิเคราะห์นโยบายดูตัวเลขเฉพาะหน้า แต่ก็ไม่ได้ดูผลที่ตามมาคืออะไร ที่สำคัญหนึ่งในมาตรการช็อปช่วยชาติ คือ จะลดภาษีน้ำหอมและเครื่องสำอาง ส่วนตัวไม่เข้าใจว่าจะกระตุ้นให้คนไปซื้อทำไม ทั้งๆที่รัฐเก็บภาษีจากสินค้าประเภทนี้ได้ แต่พอยกเลิกการเก็บภาษี คำถามคือคนไทยเศรษฐกิจไทยได้อะไร"
ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสถาบัน ISAB กล่าวทิ้งท้ายถึงวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลนี้ลองมาเกือบทุกวิธีแล้ว ล่าสุดจะจ่ายเงินให้กับคนจนที่มาขึ้นทะเบียน 5 ล้านคน คิดว่าวิธีนี้ดีที่สุด ดีกว่าโครงการที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการอื่นๆ ที่กว่าเงินจะไปถึงช้ามาก และเงินก็ไปกระจุกอยู่กับผู้รับเหมา ตอนปี 2552 ถึงตัดสินใจทำโครงการเช็คช่วยชาติ เพราะเร็วที่สุด ได้ผลภายใน 2-3 เดือน สุดท้ายตัวเลขก็เพิ่มขึ้นมา แต่วิธีคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยน ถ้าจะทำเรื่องโครงการก็ต้องมุ่งในเรื่องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจริงๆ ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจการเอาเงินไปให้ประชาชนง่ายที่สุดเร็วที่สุด เป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุดเพราะไม่ต้องมีค่าจัดการ
"ยุคใหม่เศรษฐศาสตร์ใหม่หลายเรื่องต้องมาทบทวนจริงๆ วิธีคิดวิธีวิเคราะห์ของผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศยังยึดอยู่กับกรอบเดิมๆอยู่จะไม่สามารถทำให้แก้ไขปัญหาได้"