นักวิชาการ ชี้สื่อไทยอยู่ขั้น Red Alert แนะเลิกทำข่าวแชร์-ซ้ำ จนหมดคุณค่า
นิเทศฯ นิด้า จัดเวทีถกทางรอดของสื่อไทยในยุคดิจิทัล นักวิชาการอิสระมองสื่อวิทยุ เป็นสื่อที่ไม่ตาย สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าสื่อโทรทัศน์ ด้านบก.นิตยสาร Lifestyle & Travel เชื่อนิตยสารยังคงมีทางรอด แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการให้มีคอนเทนท์ดี ทำให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าเก็บ ไม่ใช่แค่สวยอยู่บนแผง
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนิเทศศาสตร์ และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า (NIDA) จัดงานสัมมนา "The Survival Kit ทางรอดของสื่อไทยในยุคดิจิทัล" ณ ห้อง Learning Auditorium อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 Central World
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่่อใหม่ กล่าวถึง Social Media นับเป็นแหล่งแรกของการรับข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน กลายเป็นยุคบูรณาการสื่อของโหมดการทำข้ามสื่อได้ หรือด้านงานโปรดักชั่นใช้เงินน้อย สามารถทำให้มียอดคนดูเป็นล้านได้ สื่อไทยจึงต้องมีการปรับตัว ด้วยการเลิกทำข่าวแชร์ ทำข่าวซ้ำ ที่ก่อให้เกิดการขาดคุณค่าข่าว โดยเปลี่ยนมาทำเนื้อหายากๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ลงใน Platform ต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น info graphic
ดร.สิขเรศ กล่าวถึงสื่อวิทยุ อันที่จริงเป็นสื่อที่ไม่ตายและมีอิทธิพลจากการเห็นว่า ปัจจุบันก็ยังมีคนฟังจำนวนมากอยู่ อย่างเช่น รายการ Club Friday ดังนั้นหากจะมีการปรับตัวของสื่อ สื่อทางวิทยุจะปรับตัวได้เร็วกว่าสื่อโทรทัศน์แถมยังจะอยู่รอดกว่าด้วย ดังนั้นสื่อไทยนับว่ากำลังอยู่ในขั้น Red Alert คือต้องหาทางลดระดับลง เพื่อไม่ให้เม็ดเงินสื่อไหลออกสู่ต่างประเทศ
ขณะที่นางอุรศา จิตต์ธรรมวาณิช บรรณาธิการนิตยสาร Lifestyle & Travel กล่าวถึง สื่อออนไลน์กับสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ทั้งสองเป็นสื่อประเภทเดียวกัน แต่คนละศาสตร์ โดยออนไลน์เปรียบเป็น Fast Food ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์เป็น Fine Dining ฉะนั้นนิตยสารยังคงมีทางไปได้ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการให้มีคอนเทนท์ดี ทำให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่าเก็บ เหมือนช่วงนี้ที่ผู้อ่านหลายคนจับจองหนังสือที่เกี่ยวข้องกับในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อเก็บไว้อ่านซ้ำ เป็นหลักฐานที่จับต้องได้ ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้แล้วว่า หนังสือยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่น่าสะสมอยู่ รวมถึงการทำหนังสือออกมาต้องไม่ใช่แค่สวยอยู่บนแผง แต่ต้องไปดักเจอลูกค้า เพื่อให้เอเจนซี่หันมามอง ทั้งนี้ก็ต้องดำรงเอกลักษณ์ของตนไว้ที่หน้ากระดาษ เพียงเพิ่มช่องทางโอกาสในยุคดิจิทัลโดยการมีลิงค์เข้าสู่ออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ก็จะอยู่รอด
ด้านนางพนิชา อิ่มสมบูรณ์ บรรณาธิการนิตยสารและเว็บไซต์ในประเทศและต่างประเทศ กล่าวว่า ยุคที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของยุคดิจิทัล คนทำสื่อจะทำคอนเทนท์ อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจและดูการตลาดด้วย ทางรอดจึงขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอ การกล้าทำลายกำแพงไปเรียนรู้พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อจับความสนใจคนอ่านได้ตั้งแต่หัวเรื่องที่เกริ่นนำให้คนอ่านอยากอ่านจนจบ โดยการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของคนอ่าน เพื่อหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เกิดความแตกต่างด้วย
ส่วนสื่อโทรทัศน์ นายเดียว วรตั้งตระกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่อง ONE กล่าวว่า การอยู่รอดของช่อง ONE คือการทำรายการ ทำละคร และซิทคอมให้โดนใจผู้ชมให้ได้มากที่สุด โดยต้องเอาผู้ชมให้อยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ 16.00-22.00 น. ซึ่งเป็นช่วง Prime Time ของช่อง ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการทำคอนเทนท์ดีที่สุด แต่สิ่งที่นำมาเป็นเครื่องมือ คือ การใช้ Digital Platform เป็นตัวสร้างการรับรู้ โดยให้ผู้ชมรู้ว่าเวลาเท่าไรจะมีรายการอะไรออกอากาศบ้าง เพื่อดึงคนกลับทีวีจอหลักได้ ให้เรทติ้งสูงขึ้น ขายโฆษณาได้ และยังทำให้คนสนุกโดยเพิ่มการสร้าง Online community ให้ผู้ชมสามารถสนทนาแบบ real time และรับชมพร้อมกันได้ การดึงให้ทุกกลุ่มให้มาดูจอหลัก เพื่อสร้างความเข้มข้นและอรรถรสของการชมช่องONE
สำหรับผู้ชมที่ต้องการชมแบบรีรัน นายเดียว กล่าวว่า วิธีการของช่อง ONE คือการจับมือกับ Platform อื่น เป็นการขายสินค้า เช่น YouTube และ Line ซึ่งก็เป็นการเพิ่มรายได้และจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้นการจะแข่งขันได้ขึ้นอยู่กับคอนเทนท์ต้องดีและมีรสนิยม