สตง.ชงผู้ว่าฯแพร่ สอบโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจ16 ล.-แบ่งสอยซื้อจ้างงานเพียบ
สตง. สรุปผลสอบโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติฯ จว.แพร่ วงเงิน 16 ล.- ชงผู้ว่าฯ ตั้งกก.สอบ หลังพบมีการแบ่งสอยซื้อจ้างงานในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดทำราชการเสียหาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบดำเนินการโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีศักยภาพและไผ่ รวมทั้งพืชสมุนไพรระบบวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมจังหวัดแพร่ ประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งใช้วงเงินงบประมาณ 16.47 ล้านบาท ของ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างงานในลักษณะการตกลงราคาแบ่งซื้อแบ่งจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนด
แยกเป็น จ้างเหมาจัดทำฐานข้อมูลรายครัวเรือน จำนวน 6 สัญญา 2. จ้างเหมาสำรวจ GPS พื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจและกำหนดพื้นที่เป้าหมายครัวเรือน จำนวน 14 สัญญา 3.จ้างเหมาจัดทำแปลงสาธิตระบบน้ำควบวงจร จำนวน 38 ราย จำนวน 38 สัญญา ซึ่งไม่เป็นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรค 2
เบื้องต้น สตง.โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 9 จังหวัดลำปาง มีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีจัดซื้อจัดจ้างโดยการแบ่งซื้อแบ่งจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนด หากผลการตรวจสอบ พบว่า เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 10 แก่ผู้เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามควรแก่กรณี และดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 10 ระบุว่า ผู้มีอํานาจหรือหน้าที่ดําเนินการตามระเบียบนี้ หรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทําการใดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ หรือกระทําการโดยมีเจตนาทุจริต หรือกระทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือนอกเหนืออํานาจหน้าที่ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่เอื้ออํานวยแก่ผู้เข้าเสนอราคาหรือเสนองาน ให้มีการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ถือว่าผู้นั้นกระทําผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการหรือตามกฎหมายเฉพาะของส่วนราชการนั้น ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(1) ถ้าการกระทํามีเจตนาทุจริต หรือเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ให้ดําเนินการลงโทษอย่างต่ำปลดออกจากราชการ
(2) ถ้าการกระทําเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายแต่ไม่ร้ายแรง ให้ลงโทษอย่างต่ำตัดเงินเดือน
(3) ถ้าการกระทําไม่เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ให้ลงโทษภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทําคําสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
การลงโทษทางวินัยตาม (1) หรือ (2) ไม่เป็นเหตุให้ผู้กระทําหลุดพ้นจากความรับผิดในทางแพ่งตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้องหรือความรับผิดทางอาญา (ถ้ามี)
ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ข้อ 8 ระบุว่า เมื่อเกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐแห่งใด และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระท าของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดังกล่าวแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดขึ้นคณะหนึ่ง โดยไม่ชักช้าเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับผู้ต้องรับผิด และจ านวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้นั้นต้องชดใช้
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนไม่เกินห้าคน โดยแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้น หรือหน่วยงานของรัฐอื่นตามที่เห็นสมควร
กระทรวงการคลังอาจประกาศกำหนดว่าในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่จำนวนเท่าใด จะให้มีผู้แทนของหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ ให้กำหนดเวลาแล้วเสร็จของการพิจารณาของคณะกรรมการไว้ด้วย