แรงงานนอกระบบ 4 แสนรายโรครุมเร้า พบคนขับแท๊กซี่เมืองกรุงเสี่ยงวัณโรค
กรมควบคุมโรคชี้สถานการณ์โรคไม่ติดต่อ สุขภาพแรงงานนอกระบบยังน่าห่วง พบ 4 แสนรายโรครุมเร้าผลตรวจเลือด เกษตกรยังปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชกว่า 36% โรควัณโรคยังพบมากในแท๊กซี่ กทม. ขณะที่คนงานแกะสลักหิน มีปัญหาได้ยินผิดปกติและพังผืดที่ปอด 100% ส่วนคนงานตัดเย็บผ้าเสี่ยงปัญหาฝุ่นฝ้ายสูงถึง 52% เร่งออก พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม
นพ.ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึง สถานการณ์โรคจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนและถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงานและงานส่งเสริมป้องกันโรคจากกลุ่มคนทำงานนอกระบบ ว่าประเทศไทยมีประชากรวัยทำงาน 38.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 21.4 ล้านคน ซึ่งในปีนี้สามารถพัฒนาหน่วยปฐมภูมิเพื่อคัดกรองข้อมูลความเสี่ยงและการเจ็บป่วยจากการทำงานได้ทั้งหมด 4,600 หน่วย จากเป้าหมายที่ต้องดำเนินการทั้งหมด 9,800 หน่วย นอกจากนี้สามารถคัดกรองสุขภาพของคนงานที่ทำงานนอกระบบได้ตามเป้าหมายคือ 4.2 แสนราย จากจำนวนทั้งหมด 21.4 ล้านคน
นพ.ปรีชา กล่าวถึงผลจากการคัดกรองพบว่า แรงงานนอกระบบยังเผชิญต่อปัญหาโรคไม่ติดต่อ และมีความเสี่ยงในอัตราที่น่าเป็นห่วง โดยพบว่า กลุ่มอาชีพเกษตรกร มีผลตรวจเลือดที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงร้อยละ 36.7 กลุ่มคนขับแท๊กซี่ มีปัญหาเรื่องของโรควัณโรค ในอัตราเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คนงานแกะสลักหิน มีปัญหาเรื่องของการได้ยิน ร้อยละ 96 และมีผังผืดในปอดร้อยละ 100 คนงานเย็บผ้าตามบ้าน เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นฝ้ายในระดับปานกลางถึงสูงร้อยละ 52 คนงานเก็บขยะทั่วไป มีปัญหาสุขภาพเสี่ยงต่อโรคติดต่อ ร้อยละ 26.42 ขณะที่คนเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงต่อสารเคมีโลหะหนักปนเปื้อนสูงร้อยละ 66.05
ปัญหาและข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพของแรงงานนอกระบบ นพ.ปรีชา กล่าวอีกว่า ในเมื่อแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีนายจ้าง จึงไม่มีสวัสดิการ ส่วนงบประมาณของบัตรทองก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ และไม่มีความรู้ในเรื่องการป้องกันอันตรายจากการทำงาน ทำให้แรงงานเหล่านี้ เข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพ อาชีวอนามัย
ขณะที่ นางอรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการโครงการพัฒนานโยบายและกลไกการเข้าถึงอาชีวอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงข้อจำกัดในเรื่องของความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงแรงงานได้ผลักดันให้เกิดการออมตาม มาตรา 44 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ก็พบว่าผู้ที่เข้ามาสมัคร จำนวนมากคือผู้สูงอายุ และก็ลาออกไปขณะที่วัยทำงานยังสมัครไม่มากนัก
แต่อย่างไรก็ตามก็มีความก้าวหน้าในอีกหลายด้านที่ทำให้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีเจ้าภาพในการดูแลเริ่มมีระบบในการเข้ามาดูแลมากขึ้น โดยกระทรวงแรงงานมีแผนกที่เรียกว่าคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และมียุทธศาสตร์ และแผนงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพแรงงานนอกระบบ โดยขณะนี้มีแผนส่งเสริมร่วมกันเป็นฉบับที่ 2 แล้วจึงเชื่อว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบเพื่อการคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้น
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงปัญหาของแรงงานนอกระบบในเรื่องของการเข้าถึงสุขภาพ ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในพื้นที่ชนบท ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ ยังคงเป็นเรื่องของสุรา บุหรี่ ความเครียด และการไม่ออกกำลังกาย โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พยายามทำงานด้านนี้ ขับเคลื่อนความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นแผน Safety Thailand บริหารจัดการสิ่งแวดล้อ ขับเคลื่อนการส่งเสริมการป้องกันโรคกับแรงงานนอกระบบ โดยได้มีการเซ็นข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมีแผนการทำงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมและการป้องกัน
“การทำงานที่ผ่านมา ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากในเรื่องนี้ มีกลุ่มแรงงานเป้าหมายสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น แท๊กซี่ ที่มีปัญหาในเรื่องของวัณโรค อาจจะเริ่มสร้างระบบการคัดกรองจากการต่อใบอนุญาติขับขี่ ซึ่งในเรื่องนี้กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องของการคัดกรองโรคให้ดีขึ้นได้อย่างไร”
ส่วนในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการคุ้มครองในระยะยาวต่อเนื่อง นพ.สุเทพ กล่าวว่า ผลักดันให้ พระราชบัญญัติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยร่างเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยกฏหมายนี้จะทำให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองเรื่องสุขภาพอนามัยได้ดีขึ้น
ที่มาภาพ:http://www.thaisocialist.com