มุสลิมกทม.-ชายแดนใต้ฮือกดดันเมียนมา เอ็นจีโอเตือนรับมือโรฮิงญาทะลัก
ประชาคมมุสลิมในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในอาเซียนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเมียนมาต่อปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน ที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรง และมีรายงานการเสียชีวิตของมุสลิมโรฮิงญาจำนวนมาก
วันศุกร์ที่ 25 พ.ย.59 เวลาประมาณ 14.00 น.จะมีกลุ่มมุสลิมในประเทศไทยไปยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลเมียนมา ที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาทร
ประเด็นที่ยื่นประท้วงคือ การปล่อยให้เกิดการกระทำรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา และเรียกร้องให้หยุดการปราบปรามชาวโรฮิงญาทันที โดยกลุ่มมุสลิมไทยจะจัดกิจกรรมพร้อมกับมุสลิมในมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย
ขณะที่เมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย. หลายมัสยิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพี่น้องมุสลิมร่วมกันละหมาดฮายัด ขอพรให้ชาวโรฮิงญาปลอดภัยและได้รับความเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และกดดันให้รัฐบาลเมียนมาหยุดปฏิบัติการใช้ความรุนแรง
นางสนะ มะนาหิง ชาว จ.ยะลา กล่าวว่า ชาวโรฮิงญากำลังประสบเหตุการณ์ความไม่สงบ เกิดความรุนแรงกับสตรี เด็ก คนชรา และชาวโรฮิงญาทุกกลุ่มอย่างไม่มีทางสู้ ซ้ำยังไร้ที่อยู่อาศัย ขอเรียกร้องทุกฝ่ายให้ความสนใจปัญหาของชาวโรฮิงญาด้วย ขอเรียกร้องนักข่าวทุกสำนักติดตามและเผยแพร่สถานการณ์ที่เกิดจริงในเมียนมา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง
“ชาวโรฮิงญาก็เป็นมนุษย์ สมควรได้รับสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์” นางสนะ กล่าว
แฉบ้านโรฮิงญาพันหลังถูกทำลาย
สำนักข่าวเนชั่น รายงานอ้างข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ วอทช์” ที่ได้เปิดเผยภาพถ่ายจากดาวเทียมจำนวนหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า มีสิ่งก่อสร้างราว 820 แห่งในพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ในเมียนมา ถูกทำลายระหว่างวันที่ 10-18 พ.ย.ที่ผ่านมา
ช่วงดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่กองทัพเมียนมาลงพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคงในรัฐยะไข่ แต่รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธไม่ได้มีการเผาทำลายบ้านเรือนประชาชน
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะมายืนยันคำกล่าวอ้างของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาสั่งห้ามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนนับหมื่นรายพากันหลบหนีออกมา
แต่สำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานจากบริเวณชายแดนเมียนมาด้านที่ติดกับบังกลาเทศ โดยได้พูดคุยกับครอบครัวชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกมาหลายครอบครัว ซึ่งแต่ละคนได้อธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมาว่า “เหมือนกับนรกบนดิน”
อย่างไรก็ดี รัฐบาลเมียนมา ระบุว่า ชาวโรฮิงญาจุดไฟเผาบ้านของตัวเอง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ และตอบโต้ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ว่ารายงานเกินความเป็นจริง
เตือนไทย-อาเซียนรับมือผู้อพยพทะลัก
ด้านตัวแทนเครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ออกมาระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ อาจทำให้มีชาวโรฮิงญาลี้ภัยมาประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น
“ขณะนี้มีข่าวว่ามีชาวโรฮิงญาอพยพออกมาแล้ว แต่มีจำนวนไม่มากถ้าเทียบกับเหตุการณ์ในปี ค.ศ.2012 โดยปัจจัยหนึ่งของการอพยพ นอกจากความรุนแรงในเมียนมาแล้ว ยังมีขบวนการนำพาจากประเทศไทยไปรับตัวชาวโรฮิงญามาทางเรือจากรัฐยะไข่มายังประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ด้วย โดยเรือที่ไปรับไม่ใช่เรือของชาวโรฮิงญา หรือของเมียนมา แต่เป็นเรือของไทย รูปแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 – 2014 ทำให้จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคนต่อปี” นายศิววงศ์ สุขทวี จากเครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ระบุ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก่อนจะมีการสู้รบในรัฐยะไข่เริ่มเปลี่ยนไป เพราะมีความสำเร็จจากกระบวนการปราบปรามของไทยพอสมควร ทำให้มีโรฮิงญาออกมาจำนวนน้อยมาก แต่ก็ยังมีข่าวว่ามีเรือขนาดเล็กจุได้ไม่เกิน 90 คน พาคนออกมาแล้ว และพยายามไม่ขึ้นฝั่งไทย แต่ไปมาเลเซียโดยตรง จึงเป็นแค่การเดินทางผิดกฎหมายแบบปกติมากกว่า
แต่ถึงกระนั้น ก็เชื่อว่าจากสถานการณ์สู้รบในปัจจุบัน จะมีแนวโน้มให้ชาวโรฮิงญาอพยพออกจากรัฐยะไข่มากขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้
“คิดว่าแนวโน้มการอพยพมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่พม่าควบคุมแบบเบ็ดเสร็จในรัฐยะไข่ ภาพที่เรือขนาดเล็กจำนวนมากที่หนีออกมาแล้วมาจมในบ้านเราก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นปัญหา เพราะเรือเขาจม เราไม่สามารถผลักเขาออกนอกน่านน้ำได้ เราจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือพวกเขา ภายใต้กฎหมายของไทยเรายังไม่มีการรับในฐานะผู้ลี้ภัย เรารับในฐานะของคนหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะกลับบ้านได้ นี่เป็นปัญหาในอนาคตเมื่อคนหนีเข้ามาแล้วไม่มีกลไกลกฎหมายที่รับรองได้ เราก็ยังต้องดูแลเขาอย่างไม่มีกำหนด อย่างปัจจุบันก็มีคนถูกกักมากพอสมควร” นายศิววงศ์ ระบุ
"จุดขึ้นฝั่งฉุกเฉิน" ไม่เกิดขึ้นจริง
ตัวแทนเครือข่ายสิทธิของผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาหนักมาก รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหัวข้อ “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” โดยเชิญตัวแทนรัฐบาลทุกประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และมีผลประชุมออกมา 2-3 เรื่อง เช่น การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งทุกประเทศก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการลงทุนในส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นกลไกการทำงาน และยังไม่มีกลไกฉุกเฉินว่าเมื่อชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งที่ประเทศใด ใครจะลงมาดูแลอย่างชัดเจน
ขณะที่การจัดตั้งจุดขึ้นฝั่งฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาทุกประเทศทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ผลักดันคนเหล่านี้ออกไป สุดท้ายมีข้อตกลงว่าจะต้องจัดตั้งจุดขึ้นฝั่ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนเปิดพื้นที่ให้เป็นจุดขึ้นฝั่งเลย ที่สำคัญคือ กลไกที่จะกดดันให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ยังไม่เกิดขึ้น การประชุมอาเซียนเองก็ยังไม่สามารถหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดได้ คิดว่านี่คือความล้มเหลว และเป็นความท้าทายอย่างมากของอาเซียน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พี่น้องมุสลิมชายแดนใต้ละหมาดขอพรให้ชาวโรฮิงญาปลอดภัย
2 โปสเตอร์เชิญชวนไปรวมตัวหน้าสถานทูตเมียนมา วันศุกร์ที่ 25 พ.ย.
3 ศิววงศ์ สุขทวี