สุวิทย์ มิ่งมล ปธ.สหภาพฯ แจงข้อเท็จจริงอีกด้าน กรณีคาดสิ้นปี อสมท ขาดทุน700ล.!
"...ในฐานะ ตัวแทนพนักงาน ขอยืนยันกระทรวงการคลัง ไม่เคยเข้ามาให้ความช่วยเหลือ หรือให้สิทธิพิเศษ แก่ อสมทเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ตรงกันข้ามกฎระเบียบราชการ หรือนโยบายจากคลังกลับทำให้ อสมท ประสบปัญหาด้วยซ้ำเช่นล่าสุดในข่าวของอิศรา ที่ระบุว่าคลังไม่ให้ อสมท กู้ หรือเพิ่มทุน .."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงาน บมจ. อสมท ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีสำนักข่าวอิศรา นำเสนอรายงานเรื่อง คาดสิ้นปีขาดทุน700ล.!ล้วงรายได้ อสมท รื้อโครงสร้างทั้งระบบ-สู้วิกฤตสื่อดิจิทัล
โดยระบุว่า ตามที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอบทความล่าสุด เกี่ยวกับผลประกอบการ อสมท ว่าอาจขาดทุน 700 ล้านบาท และมีการสรุปว่าที่สุด อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจและรัฐคงต้องยื่นมามาช่วย และขึ้นอยู่กับฝีมือฝ่ายบริหาร ในการบริหาร และพนักงานต้องหยุดเล่นเกมส์ชิงอำนาจนั้น
ในฐานะประธานสหภาพ ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กระผมขอบคุณสำนักข่าวอิศรา ที่ให้ความสนใจ ต่อกิจการของ อสมท แต่ในฐานะสื่อสารมวลชนด้วยกัน ซึ่งย่อมได้รับการปลูกฝังเหมือนกันว่า การนำเสนอข่าวสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบ สมควรที่จะต้องมีการเสนอความเห็นอย่างรอบด้าน ในกรณีนี้ก็เช่นกัน กระผมเห็นว่าบทความของสำนักข่าวอิศราจะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากได้ สอบถามหรือนำเสนอข้อมูลจากทางอสมท ด้วย
เพื่อเป็นประโยชน์กับ ผู้รับข่าวสารในฐานะตัวแทนพนักงาน ขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ อสมท ดังนี้ ตั้งแต่ก่อตั้ง อสมท กฎหมายระบุให้ อสมท มีรายได้หลัก 3 ทาง คือ รัฐอุดหนุน สัมปทาน และรายได้จากการประกอบกิจการ ในข้อเท็จจริง รัฐเคยให้เงินอุดหนุนกับ อสมท 10 ล้านบาท เมื่อก่อตั้ง และไม่เคยให้เพิ่มสัมปทาน ในอดีตซึ่งเคยมีรายได้จากสัมปทาน ถูกนำเข้าเป็นรายได้ ส่งให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ มิใช่รายได้ที่พนักงานจะนำมาจัดสรรกันการประกอบกิจการ อสมท ไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษ ไม่มีกฎหมายใดเขียนให้ หน่วยงานรัฐต้องนำเงินโฆษณามาลงให้ อสมท ถ้า อสมท จะได้เงินจากหน่วยงานรัฐก็ต้องเข้าไปประมูล หรือเสนอโครงการแข่งกับรายอื่นๆ นอกจากนี้รายได้หลักที่มาจากโฆษณาก็ต้องมาจากการทำรายการให้มีเรตติ้ง ซึ่งแนวทางสาระที่ อสมท ยึดเป็นหลักก็ทำให้เสียเปรียบ สถานีและคู่แข่งรายอื่น เมื่อ อสมท นำเสนอรายการเน้นเรตติ้งก็จะถูกสังคมวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสมเพราะเป็นสื่อของรัฐ
ส่วนข้อเท็จจริง เมื่อมี กสทช. เกิดขึ้น อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจ กฎหมายระบุให้ต้องไปประมูลเสมือนเอกชน ซึ่งพนักงานค้านมาตลอดว่า รัฐไม่ควรประมูลรัฐ และไม่ควรต้องใช้การประมูลกับทุกราย ควรมีการแก้กฏหมายใช้กระบวนการ Beauty contest เหมือนนานาประเทศนอกจากต้องใช้เงินในการประมูลรายได้จากสัมปทานก็มิได้มีอีกต่อไป
ขณะรายได้จากการโฆษณา อสมท ไม่เคยได้สิทธิพิเศษ ในการแข่งขันกับเอกชน และยังต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบราชการ นอกจากนี้รายได้จากโฆษณายังลดลง จากผลกระทบฟองสบู่สื่อ ช่องมากเกินจริง ราคาต่อนาทีของโฆษณาถูกลงด้วย
แม้ในตอนท้าย บทความของสำนักข่าวอิศรา จะคาดหมายว่า รัฐจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือในที่สุด
แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ในฐานะ ตัวแทนพนักงาน ขอยืนยันกระทรวงการคลัง ไม่เคยเข้ามาให้ความช่วยเหลือ หรือให้สิทธิพิเศษ แก่ อสมทเหมือนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ตรงกันข้ามกฎระเบียบราชการ หรือนโยบายจากคลังกลับทำให้ อสมท ประสบปัญหาด้วยซ้ำเช่นล่าสุดในข่าวของอิศรา ที่ระบุว่าคลังไม่ให้ อสมท กู้ หรือเพิ่มทุน และในฐานะคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เร็วๆนี้
กระผมและพนักงานอาจไปเข้าพบรัฐมนตรีคลัง และผู้อำนวยการ สคร.เพื่อขอคำแนะนำรูปแบบ หรือนโยบายที่เหมาะสม ที่ท่านเห็นว่า อสมท ควรดำเนินการต่อไป
กล่าวโดยสรุป ภายใต้การแข่งขันเสรี ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง แต่ อสมท ซึ่งรัฐถือหุ้นใหญ่แต่ถูกระบุให้ไปประมูลเช่นเอกชน ทั้งยังถูกพันธนาการด้วยกฎระเบียบต่างๆ พร้อมต้องสนองนโยบายรัฐ ประกอบกับอัตราค่าโฆษณาต่อนาทีที่ลดลงซึ่งเป็นผลจากภาวะฟองสบู่สื่อ ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงอีกส่วน ซึ่งมีความสำคัญและเกี่ยวข้องโดยตรงต่อผลประกอบการของ อสมท
จึงเรียนมาเพื่อทราบข้อเท็จจริง อีกด้าน และเพื่อประโยชน์ในการเสนอข้อมูลรอบด้านของสำนักข่าวอิศรา
ขอแสดงความนับถือ
( นายสุวิทย์ มิ่งมล)
ประธานสหภาพแรงงาน บมจ อสมท