กฎหมายลูกของรธน.ใหม่ ความท้าทายของรัฐบาลยุคปราบคอร์รัปชัน
ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการ “จัดทำกฎหมายขึ้นใหม่หรือปฏิรูปกฎหมายเดิม” เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว ในจำนวนนี้มีกฎหมายอย่างน้อย 22 ฉบับและมาตรการอื่นที่มิใช่กฎหมายอีก 8 เรื่อง ที่จะส่งเสริมการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ. การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม กฎหมายเกี่ยวกับความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลและสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น ซึ่งเมื่อรวมกับกฎหมายและมาตรการที่มีบังคับใช้อยู่แล้วเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงครอบคลุมที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันได้อย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ในกระบวนการนิติบัญญัติกำลังมีการพิจารณากฎหมายสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างมาก ได้แก่
1. พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ....
2. พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมฯ
3. พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ..
4. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำกับและติดตามการประชาสัมพันธ์ในภาครัฐ พ.ศ....
มาตรการทั้งหมดนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งในการต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชัน เพราะเป็นการวางระบบการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันให้เข้มแข็งอย่างรอบด้านเพื่อเป็นหลักประกันความสำเร็จในการแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศและเนื่องจากกฎหมายลูกเหล่านี้เป็นการขยายความจากร่างรัฐธรรมนูญฯ
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการยอมรับและความร่วมมือจากประชาชน รัฐบาลควรสร้างความชัดเจนเสียแต่วันนี้ว่าแต่ละมาตรการที่กล่าวนั้นมีเพื่ออะไรแนวทางเป็นอย่างไรประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรและในกระบวนการจัดทำรายละเอียดนั้นจะยึดโยงหรือสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างไร
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
22 พฤศจิกายน 2559
รายชื่อกฎหมายลูกและมาตรการให้เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้ว (เฉพาะที่จะส่งผลต่อการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน)
1. การจัดทำกฎหมายโดยพิจารณาจัดทำ ขึ้นใหม่หรือปฏิรูปกฎหมาย จำนวน 22 ฉบับ
1.1 พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต*****
1.2 พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
1.3 พ.ร.ป. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
1.4 พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
1.5 กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง
1.6 กฎหมายรณรงค์ต่อต้านการทุจริต***
1.7 กฎหมายแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ
1.8 กฎหมายการบริหารงานการงบประมาณและการดำเนินงานอื่นขององค์กรอัยการ
1.9 กฎหมายปฏิรูปตำรวจ*****
1.10 กฎหมายปฏิรูปการศึกษา
1.11 กฎหมายการจัดตั้งองค์กรอิสระของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
1.12 การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิของประชาชนและชุมชนในการติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมถึงฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐ ในหมวด 5 (หรือ ร่าง พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ...)***
1.13 เกี่ยวกับการใช้สิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ/การเปิดเผยข้อมูล/ข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ (ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ...)*****
1.14 กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม***
1.15 คณะผู้ไต่สวนอิสระหาข้อเท็จจริงกรณีกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าร่ำรวยผิดปรกติ
1.16/17. กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่าง ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่างกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
1.18 การปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกป้องกันการทุจริตในทุกขั้นตอน (ร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ)***
1.19/20/21. การปรับปรุงระบบการจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล (ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ร่าง พ.ร.บ. การเงินการคลังภาครัฐฯ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ)
22. การจ่ายเงินแผ่นดิน (ร่าง พ.ร.บ. การเงินและการคลังภาครัฐฯ)
2. การดำเนินการโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากการออกกฎหมาย 8 รายการ
2.1 ม. 25 ว. 2-3สิทธิเสรีภาพของประชาชนและอำนาจในการฟ้องร้องรัฐ
2.2 ม. 35 การควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ
2.3 ม. 65, 275การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติหลังจากการออกกฎหมายแล้ว
2.4 ม. 76 ว.1, 258 ข. (3) การพัฒนาระบบราชการ และการใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
2.5 ม. 76 ว.3, 258 ข. (4) มาตรฐานทางคุณธรรมจริธรรมบุคคลของหน่วยงานของรัฐ*****
2.6 ม. 77, 258 ค.(1)(3)(4) การจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น RIA/ การรับฟังความคิดเห็น ประเมินผลสัมฤทธิ์ ลดระบบกรรมการและลดระบบการอนุญาตที่ไม่จำเป็น***
2.7 ม. 78, 2588 ก. (1) ส่งเสริมความเข้าใจและการมีส่วนร่วม
2.8 ม. 276, 219มาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. และ ครม.*****
หมายเหตุ
***5 เรื่องสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก ได้แก่ ข้อ 1.6, 1.12, 1.14, 1.18 และ 2.6
*****5 เรื่องสำคัญที่สังคมข้องใจว่าจะทำได้แค่ไหน ได้แก่ ข้อ 1.1, 1.9, 1.13 และ 2.5 2.8
ขอบคุณภาพประกอบจาก hilight.kapook.com