พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้ม.14(1) ร่างพ.ร.บ.คอมฯ ไม่ใช้กับหมิ่นประมาท
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จัดเวที รับฟังความคิดเห็น นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมายสากล ห่วงภาครัฐใช้กฎหมายจะเป็นการคุกคามการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แกล้งฟ้อง จนกลายเป็นเครื่องมือการตอบโต้ของภาครัฐ
วันที่ 23 พฤศจิกายน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่า ด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัตแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กับแนวทางการใช้บังคับในอนาคต” ณ ห้องรับรอง 1 - 2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยผู้ที่เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน เช่น ตัวแทนจากปตท. ตัวแทนจากบริษัทไลน์ แห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ นักสิทธิมนุษยชน พนักงานสอบสวน และนักวิชาการด้านกฎหมาย เป็นต้น
พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สนช. กล่าวถึงมาตรา 20/1 ที่บัญญัติเพิ่มเข้ามา
"ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นสมควรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ว่า มีการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่
ประเด็นมีข้อมูลไหนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ จึงมีแตกมาตรา 20 ออกมาเป็น มาตรา 20/1 เนื่องจากไม่มีนิยามที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเขียนกฎหมายให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะทำโดยพลการไม่ได้ "
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ ที่เร่งด่วน พนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นคำร้อง ก่อนได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแค่ระงับหรือลบเฉยๆ ไม่ให้เผยแพร่ต่อ สามารถทำก่อนได้
ส่วนการเปรียบเทียบปรับนั้น ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กล่าวว่า กฎหมายบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับได้ เหตุผลสำคัญไม่ให้คดียืดยาว และคดีนั้นต้องไม่ร้ายแรง จึงใช้วิธีเปรียบเทียบปรับ และผู้กระทำความผิดยอมรับ ซึ่งจะอยู่ในมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 11 มาตรา 13 มาตรา 16/2 มาตรา 23-27
ขณะที่ มาตรา 14(1) ของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ นั้น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาท โดยจะต้องทำความเข้าใจให้หนัก ว่า ในร่างพ.ร.บ.คอมฯ วันนี้แก้ไขแล้ว ไม่เกี่ยวกับหมิ่นประมาท
ด้านนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฎหมายไพบูลย์ จำกัด กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุว่า ผู้ใดกระทำผิดที่ระบุได้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมาตรา 14(1) ระบุว่า การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
"ต่อมาได้มีการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยกากระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่....) พ.ศ. .......... มาตรา 14 ผู้ใดที่กระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมาตรา 14 (1) ระบุว่า โดยทุจริตหรือ โดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน"นายไพบูลย์ กล่าว และยืนยันว่า มาตรา 14(1)ไม่ใช้กับหมิ่นประมาท ใช้กับการปลอมเว็บ ปลอมตัวตน พร้อมกับเชื่อว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จะไม่มีปัญหาตีความแน่นอน อีกทั้งจะไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงการนำไปบังคับใช้ด้วย
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึงมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 เจ้าหน้าที่รัฐพยายามใช้มาตรการนี้ในการปิดข่าว ยกกรณีรัฐบาลก่อน มีนักการเมืองคนหนึ่งโพสต์รูปตัวอดีตนายกฯ ที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง มีคนไปแจ้งความที่ดีเอสไอ แต่อธิบดีดีเอสไอจะเอาผิดคนแจ้งความด้วยการใช้มาตรา 14 (1) ให้ได้ โดยอ้างว่าตัวนายกฯ คือความมั่นคง นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะใช้กฎหมายนี้ในการปกปิดข่าว
"แนวโน้มทั่วโลกคดีหมิ่นประมาทแทบจะไม่ใช่กฎหมายอาญาแล้ว หากยังต้องการที่จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอยู่ก็มีมาตรา 16 และหากยังต้องการมีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่ ก็อยากให้เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ เพราะการเอาเรื่องหมิ่นประมาทมาใส่ในพ.ร.บ.นี้ จะเหมือนกับนำมาใช้มั่ว และจะเป็นภาระของเจ้าหน้าที่รัฐมหาศาล"
ผอ.สถาบันอิศรา กล่าวถึงถ้ามาตรา 14 (1) ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้ายังปล่อยเอาไว้อยู่ก็จะนำมาเป็นเครื่องมือขู่ เพราะเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ โทษหมิ่นประมาทแรงถึง 5 ปี ต้องทำให้เกิดความชัดเจน
ส่วนนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ประเด็นที่ประเทศไทยจะไป 4.0 บอกว่าประเทศไทยมีงานที่เป็นลิขสิทธิ์ มีความคิดสร้างสรรค์มาก แต่อย่าลืมว่า ไทยเองก็เป็นแหล่งที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งตอนนี้ไทยนำจีนไปแล้วแพ้แค่อินเดียเท่านั้น ฉะนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของไทยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างกว้างขวาง จึงเป็นที่มาของมาตรา 20 (3) ระบุ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญา ตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ หรือกฎหมายอื่น ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ร้องขอ...."
"พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯปัจจุบัน เป็นพ.ร.บ.ที่เขียนมาใช้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ฉะนั้นกฎหมายที่เขียนออกมาเอาไว้คุ้มครองสิ่งที่ไม่มีชีวิตคือคุ้มครองระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่พอจะมาใส่มาตรา 20 นี้เข้าไป โดยส่วนตัวคิดว่า ร่างที่มีอยู่ในฐานนี้อย่างไรก็แบกรับไม่ไหวเพราะโครงของมันถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองของที่ไม่มีชีวิต"
ทั้งนี้ บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นช่วงท้ายเวที นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมายสากล ต่างแสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้ภาษา ในกฎหมายจะเป็นการคุกคามการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และห่วงจะมีการใช้กฎหมายจัดกาาร แกล้งฟ้อง จนกลายเป็นเครื่องมือการตอบโต้ของภาครัฐ ด้วยมองว่า การรายงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย
สำหรับผู้ประกอบการโฮสติ้ง ห่วงมาตรา 20 (3) ฐานความผิดจะกว้างขึ้น ต้องเซ็นเซอร์ก่อนมิเช่นนั้นจะกลายเป็นผู้สนับสนุนยินยอม ขณะที่พนักงานสอบสวน ให้ข้อมูลการรับแจ้งความตามมาตรา 14 (1) ตัวเลขตั้งแต่ต้นปี กว่า 1,400 เรื่อง ในทางปฏิบัติในต่างจังหวัดไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ หากแจ้งความท้องที่อื่นการร้องขอข้อมูลจะล่าช้ามาก ดังนั้นควรกำหนดให้อำนาจพนักงานสอบสวนไปเลย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรวบรวมพยานหลักฐาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แอมเนสตี้เสนอแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์