เปิดใบโอนเงิน 3 ล้าน คดีสินบน รพช.
เปิดสลิปต์โอนเงินคดีสินบนเก้าอี้ รพช. ผอ.ศูนย์ฯขอนแก่น โอน 3 ล้าน จากแบงก์กสิกรไทย ให้ บิ๊ก ขรก. ผ่านบัญชีเจ้าของร้านขายเครื่องจักรกลในกรุงเทพฯ ขณะที่ ‘ผู้รับ’อ้างเป็นของผู้ร้องเพื่อความสะดวก ไม่ต้องพกเงินสดเข้า กทม. คืนให้แล้ว –ไม่ได้ส่งต่อ
กรณีเรียกรับสินบนในสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ที่มีข้าราชการระดับสูงใน รพช.เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำให้การของนายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนขอเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มารายงานไปแล้ว
นายประสิทธิ์ให้การสรุปว่าได้จ่ายเงินให้ข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง(ขอปิดชื่อ) ในช่วงปี 2538- 2540 จำนวน 8 ครั้งประมาณ 28 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.จ่ายเพื่อช่วยเหลือให้เลื่อนตำแหน่งจากระดับ 8 เป็น ระดับ 9 จำนวน 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2539 จากวงเงินที่ถูกเรียก 10 ล้านบาท และ
2.จ่ายเพื่อช่วยเหลือไม่ต้องย้ายไปประจำท้องที่อื่น (เพื่อรักษาเก้าอี้) จำนวน 7 ครั้ง
ระหว่างเดือน มี.ค.2538-เม.ย.2540 รวม 23 ล้านบาท
รวมยอด 2 กรณีประมาณ 28 ล้านบาท (อ่านประกอบ:คำให้การลึก! คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช. คนเดียวจ่ายยิบให้ ‘บิ๊ก’ 8 ครั้ง 28 ล้าน)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหลักฐาน ใบโอนเงิน (MONEY TRANSFER) หลักฐานชื้นสำคัญมาเสนอ กล่าวคือ
ใบโอนเงิน ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนประชาสโมสร จ.ขอนแก่น วันที่ 1 ต.ค.2539 จำนวน 3 ล้านบาท เข้าบัญชี เงินฝากของนักธุรกิจชื่อ ป. (ขอปิดชื่อ) ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนมหาไชย เลขที่ 037-2-048xxx ผู้โอนคือ นายจั่ว หาญห้าว อยู่บ้านเลขที่ 457 หมู่ที่ 14 ต.ศิลา อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
นายจั่ว หาญห้าว เป็น ลูกน้องนายประสิทธิ์ วิไลลักษณ์ ทำงานเป็นลูกจ้างประจำที่สำนักงาน รพช.ศูนย์ขอนแก่น ให้การต่อ คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2546 ว่า เป็นผู้โอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีนาย ป.(ขอปิดชื่อ) จริง โดยได้รับเงินสดมาจากนายประสิทธิ์ ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ใช้ให้ไปโอนเงินให้นาย ป. โดยนายประสิทธิ์เป็นผู้แจ้งชื่อและเลขที่บัญชีของนาย ป. พร้อมมอบเงิน 3 ล้านและค่าธรรมเนียมการโอน 1,020 บาท
นายจั่วให้การว่า กรณีเงิน 3 ล้านบาท นายประสิทธิ์ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นเงินชำระหนี้ค่าอะไร และนายจั่วก็ไม่ได้สอบถาม เพราะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา
ขณะที่นาย ป. ให้การต่อ ป.ป.ช.ว่า เงินจำนวนดังกล่าวและเงินก้อนอื่นอีก 5 ครั้งที่ถูกโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนาย ป. นั้น นาย ป. ไม่ได้นำไปส่งต่อให้ข้าราชการระดับสูง กรณี 3 ล้านบาท เป็นการโอนเงินเพื่อความสะดวกของนายประสิทธิ์ผู้กล่าวหา ในการเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ และจะมารับเป็นเงินสดไปในภายหลัง และผู้กล่าวหาได้มารับเงินคืนไปทุกครั้ง
นอกจากนาย ป. คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ยังสอบปากคำบุตรชายนาย ป.อีก 4 คน
จากการตรวจสอบพบว่า นาย ป.เป็นเจ้าของร้านขายเครื่องจักรกล ถนนบริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ร้านที่เป็นคู่ค้าของหน่วยงานใน รพช. และเป็นเจ้าของบริษัทขายอะไหล่รถยนต์ อีกแห่ง อยู่ถนนบางแวก แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพฯ จดทะเบียนเมื่อ 23 เมษายน 2539 ทุน 1 ล้านบาท และถูกนายทะเบียนขีดชื่อเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556
นาย ป.ยอมรับว่า รู้จักกับข้าราชการ รพช.หลายคน รวมทั้งนายประสิทธิ์ ผู้ร้อง
อ่านประกอบ:
คำให้การลึก! คดีซื้อขายเก้าอี้ รพช. คนเดียวจ่ายยิบให้ ‘บิ๊ก’ 8 ครั้ง 28 ล้าน
เปิดพฤติการณ์คดีสินบน 3 ล. ซี 9 รพช. เบิกเงินสดจากแบงก์ไปจ่ายถึงห้องทำงาน
ศาลสั่งจำคุก 6 ปี ซี 9 รพช.รับเงินสด 3 ล.ค่าซื้อเก้าอี้ ผอ.ศูนย์ขอนแก่น ไม่ให้ถูกย้าย