นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ชัดปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้สร้างรายได้สูงกว่าพืชอื่น
นักวิจัย เผยชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะมีตลาดรองรับ แนะออกแบบตลาด-รูปแบบธุรกิจ รองรับพืชทางเลือกอื่น เชื่อแก้ปัญหาวิกฤตป่าต้นน้ำได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยโครงการ “รูปแบบธุรกิจการเกษตรในพื้นที่สูง และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันคลังสมองของชาติ
ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวถึงงานวิจัยว่า ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 14 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบธุรกิจในพื้นที่สูงที่ควรส่งเสริม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
"พื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือเป็นที่สูง มีประชาชนจำนวนมากอยู่อาศัย และทำกินบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวทางนิเวศ และปัญหาวิกฤตต้นน้ำที่ผ่านมามีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวของพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ข้อมูลพบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้เป็นพืชที่สร้างรายได้สูงกว่าพืชอื่นๆ แต่มีลักษณะตลาดที่เอื้ออำนวย ฉะนั้นการหาทางออกจากปัญหาพืชเชิงเดี่ยว และการบุกรุพื้นที่ป่า รวมถึงการพัฒนาต่างๆ บนพื้นที่สูง จึงต้องให้ความสำคัญต่อการออกแบบลักษณะตลาดและรูปแบบธุรกิจ เพื่อรองรับพืชทางเลือกในพื้นที่สูงด้วย"
ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวถึงพื้นที่ที่ศึกษาอยู่ในจังหวัดน่าน ได้แก่ หมู่บ้านสบเป็ด หมู่บ้านป่ากลาง ซึ่งปลูกพืชหลัก คือ มะม่วง บ้านมณีพฤกษ์ บ้านสันเจริญ ปลูกพืชหลัก คือ กาแฟ แม่จริม ปลูกพืชหลักคือ เมล็ดพันธุ์ ตามระบบเกษตรพันธะสัญญา และพืชผักผสมผสานทั้งในและนอกโรงเรือน โป่งคำ ปลูกพืชผักผสมผสานทั้งในและนอกโรงเรือน ส่วนบ้านถ้ำเวียงแก ปลูกพริกหวานในโรงเรือน
“จากการศึกษาพบว่า ปัญหาหลักของเกษตรกรรายย่อยคือ มีอำนาจต่อรองต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำธุรกิจรูปแบบดั้งเดิม คือ ขายผ่านพ่อค้าคนกลางที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ ทำให้ผลผลิตราคารับซื้อต่ำ ต้องรับความเสี่ยงทางราคา มีหนี้สิน และเมื่อเกษตรกรยังติดกับดักการซื้อขายแบบเดิมๆ ยังเป็นหนี้สิน ก็ทำให้ละเลย ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก"
ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวอีกว่า เมื่อมีการศึกษาถึงรูปแบบธุรกิจ ทั้งวิสาหกิจส่งออก วิสาหกิจชุมชน การรวมกลุ่มขาย ฯลฯ ก็พบว่า มีข้อดีข้อจำกัดต่างกัน เช่น บางกลุ่มแม้จะอยู่ภายใต้รูปแบบเดียวกัน แต่ก็มีบทบาทและการดำเนินงานต่างกันไปตามลักษณะของผลผลิตและความต้องการของชุมชนเกษตรกร เพราะฉะนั้น การสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร จึงต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างและบทบาทของกลุ่มมากกว่ายึดรูปแบบใดเป็นพิเศษ ขณะที่องค์กรหรือหน่วยงานภายนอก สามารถเข้าไปสนับสนุนในเชิงองค์ความรู้ หรือสนับสนุนในแง่บุคลากร ที่เข้ามาช่วยจัดการ ทำหน้าที่เหมือนผู้นำ โดยให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกมีหน้าที่ผลิตตาม
สำหรับหลักการดำเนินการในพื้นที่สูงนั้น นักวิจัย กล่าวว่า ต้องสร้างผลตอบแทนต่อไร่ให้สูงพอ ลดความเสี่ยง ส่งเสริมความเข็มแข็งของชุมชน และกำหนดเงื่อนไขตรงเพื่อรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักการดังกล่าวต้องปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ และถ้าไม่สามารถทำได้ครบ อย่างน้อยที่สุดต้องไม่ไปทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม
ทั้งนี้ ในงานวิจัยได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ประกอบด้วย
1.พัฒนาธุรกิจการเกษตร สำหรับพืชทางเลือก
2.ส่งเสริมกลไกที่ช่วยให้มูลค่าเพิ่มของผลผลิตตกอยู่ที่เกษตรกร อาทิ ส่งเสริมการแข่งขันของผู้รับซื้อผลผลิตในพื้นที่ สนับสนุนธุรกิจที่ได้รับการรับรอง การค้าแบบเป็นธรรม (Fair Trade) เพื่อให้เกษตรกร ชุมชนได้รับราคาผลผลิตที่สูงขึ้นในรูปของ premium
3.พัฒนา ปรับปรุงนโยบายของภาครัฐ เรื่องการจัดการปัญหาความเสี่ยงของผลผลิต เช่น การประกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ต้องมีการปรับปรุงเกณฑ์ให้เหมาะสม จูงใจให้เกษตรกรไม่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวในพื้นที่สูง โดยเฉพาะเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และเกณฑ์ความเสียหายต่อพืชยืนต้น
4.แก้ปัญหาสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะการรับรองมาตรฐานผลผลิตบางประเภท กำหนดเงื่อนไขตาม
5.ส่งเสริมภาคธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แต่ต้องมีการกำกับดูแล ไม่ให้เกิดการสนับสนุนที่ไม่จำเป็นหรือเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
6.กำกับดูแลการดำเนินงานของธุรกิจ โดยเฉพาะรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา
7.เตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ทางการเกษตรในพื้นที่สูง
8.พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้อำนาจท้องถิ่นในการกำหนดเงื่อนไขข้อบังคับในระดับท้องถิ่น และส่งเสริมการบังคับใช้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้และไม่ขัดกับกฎหมายอื่น
ด้านผศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวถึงข้อเสนอเชิงปฏิบัติว่า 1.ต้องให้บริการทางการเกษตร เพื่อแก้ข้อจำกัดต่างๆ เช่น นวัตกรรม การผลิต การตลาด การเงิน ซึ่งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาสังคมสามารถมีส่วนร่วมได้ 2.ปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความบูรณาการ โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก และควรกำหนดให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน แตกต่างกันตามพื้นที่ 3.ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพราะการรวมกลุ่มเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาต่อยอดทั้งนี้กลุ่มรูปแบบธุรกิจที่ต่างกัน ต้องการการสนับสนุนที่ต่างกัน เช่นกลุ่มขายต้องการเชื่อมโยงตลาด การบริหารจัดการกลุ่ม, กลุ่มคุณภาพต้องการองค์ความรู้ในการพัฒนา เป็นต้น และ 4.ส่งเสริมการสร้างตลาดใกล้พื้นที่เกษตรกรรม เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนค่าขนส่ง และผลผลิตเสียหาย ทำให้แข่งขันได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและน่าสนใจ เช่น พืชแต่ละชนิดมีธรรมชาติต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการรวมกลุ่มและความเข็มแข็งของกลุ่มด้วย ยกตัวอย่าง ฟาร์มโคนม ไม่ว่าจะในบ้านเรา หรือยุโรปมีการรวมกลุ่มกันเข้มแข็ง เพราะโดยธรรมชาติเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย รีดออกมาต้องเข้าโรงงานต้องรีบผลิต เพราะฉะนั้นลักษณะเฉพาะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา
หรือกรณีการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เห็นว่า ควรมีการน้อมนำหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทาง เพราะพระองค์เป็นต้นแบบการเกษตรบนพื้นที่สูงอย่างแท้จริง เพราะพระองค์ทรงงานหนักในเรื่องนี้มากกว่า 40 ปี หากไม่มีพระองค์ชาวบ้านจะเลิกปลูกฝิ่นหรือไม่ พระองค์ทรงทดลองปลูกท้อในพื้นที่สูง กลายเป็นอ่างขางเช่นในปัจจุบัน อีกทั้งบนพื้นที่สูงยังมีประเด็นเรื่องของป่าไม้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือเรื่องป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างตามพระราชดำรัสของพระองค์
ขณะที่ประเด็นเรื่องการขนส่ง การรวมกลุ่ม โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง หรือสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ทดลองปฏิบัติ ทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่ม แปรรูป ทดลองกับชาวบ้านมาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ที่ดีให้กับงานวิจัยได้