"หลั่นล้า" อีโคโนมี อีกหนึ่งทางเลือกแห่งอนาคตไทย
ในยุค "หลั่นหล้าอีโคโนมี" ที่เราคิดขึ้นมาเองนั้น จึงไม่ควรกังวลแต่เรื่องจะทำ 4.0 หรือ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่ฝรั่งสอน เก็บมาเป็นแง่คิดบ้างคงได้ แต่อย่าหลงเข้าไปในวังวนของความคิดฝรั่ง เริ่มจาก "กับดักรายได้ปานกลาง"
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพตส์บทความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว AnekLaothamatas เรื่อง "หลั่นล้า" อีโคโนมี อีกหนึ่งทางเลือกแห่งอนาคตไทย
------
หลายเดือนมานี้ไปหลายเมืองมาครับในทุกภาคก็ว่าได้ กาญจน์ แม่สอด แม่สะเรียง ลำปาง จันทบุรี หาดใหญ่ อุดร อุบล ยโสธร เศรษฐกิจทุกเมืองคล้ายกันหมด ธุรกิจไม่สดใส เงินไม่หมุนเท่าที่ควร ภาคเกษตรกรรมย่ำแย่ ภาคอุตสาหกรรมชะลอการผลิต ชาวบ้านชาวเมืองไม่มีกำลังซื้อ มีแต่คนถามว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาได้ไหม เมื่อไรจะ "ฟื้น" และ ถ้าได้รัฐบาลใหม่ จะดีขึ้น หรือเปล่า
ความรู้สึกของผม ถ้า"ฟื้น"หมายถึงกลับมาเน้นการเติบโต เน้นปริมาณ เน้นการขยายตัว แบบนั้นน่าจะ"ไม่ฟื้น" ครับ ต้องทำใจว่าโลกอยู่ใน "ความปกติแบบใหม่" หรือ "New normal" ภาวะเศรษฐกิจไม่โต หยุดนิ่ง กลายเป็น"ความปกติ" ของโลกไปแล้ว เราเองคงไม่อาจกลับไปสู่ยุคเศรษฐกิจเติบโตสูงอีกแล้ว โลกที่เหลือส่วนใหญ่ นั้น ล้วนขาดกำลังซื้อสินค้าของไทย จึงไม่มีอนาคตง่ายๆ สดใสที่เราจะหวลกลับไปเหมือนเดิม
หนทางที่ควรจะเดินคือเน้นที่ "เปลี่ยนผ่าน" มากกว่า "เติบโต" เน้นที่ กำไรพอประมาณและ"คุณภาพ"มากกว่า "ขยายปริมาณ" ที่สำคัญ เอาฝรั่งเป็น"ที่พึ่งพิง"ทางปัญญาให้น้อยลง หัด"คิดเองทำเอง" ด้วย "จุดแข็งจริง" ของตัวเองมากกว่า "กระโดดงับ" กรอบคิดของฝรั่ง
ควรเริ่มจากความเป็นจริงก่อน จุดแข็งของเศรษฐกิจไทยนั้นมีสามอย่าง คือ
หนึ่ง ที่ตั้งของประเทศที่ดีเลิศ เป็นทางผ่านของผู้คน และนักท่องเที่ยว นี่เป็นเพราะที่ตั้งของเราใกล้จีนด้วย จำนวนจะเอามากอีกเท่าไรก็ดูจะเอาได้ จากที่ตั้งนี้ ไทยควรจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางขนส่งลำเลียงและลอจิสติกส์ของอาเซียนและยึดโยงอาเซียนเข้ากับจีนและอินเดีย และต่อลงไปทางใต้ จนถึงอินโดนีเซีย
ทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของเราที่เกิดขึ้นในในยุค "บูรพาภิวัตน์" ที่ โลก "ตะวันออก" สำคัญกว่าโลก "ตะวันตก" ในการขยายตัวเติบใหญ่ต่อไปของเศรษฐกิจโลก
สอง ภาคเกษตรเรานั้นดีมาแต่โบราณ ต้องย้ำ แต่ในยุคนี้จะต้องประยุกต์ให้เป็น "บูติก" ขออธิบาย "บูติก" นั้นย่อมไม่ใช่ขนาดใหญ่ ขนาดยักษ์ "บูติก" แปลว่า มีคุณภาพ น่ารัก และ ทำโดยครอบครัวหรือโดยสหกรณ์ ทำพิถีพิถัน ผลิตพอประมาณ ให้ได้ราคาดีเป็นหลัก ทำด้วยความรู้จนหมดหรือแทบหมดทั้งกระบวน ตั้งแต่ผลิตจนกระทั่งสินค้าไปถึงมือลูกค้า
สาม อัธยาศรัย จิตใจ และทักษะของคนไทยส่วนใหญ่ต่างจากคนส่วนใหญ่แทบทั้งโลก โอบอ้อมอารี ยืดหยุ่น มีความสุขลึกๆอยู่ในใจได้เสมอ กับทั้งมีสันถวไมตรีอย่างดีกับแขกผู้มาเยือนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เรื่องอุตสาหกรรมนั้น ตัองยอมรับว่าไม่เหมาะ ขอย้ำครับ ไม่ควรเน้นกันอีกแล้วยกเว้นอะไรที่ถนัดหรือพร้อมจริง ๆ เช่นอุตสาหกรรมอาหารหรือเกษตร เมื่อก่อนนี้เราตั้งเป้าคร่าวๆ อยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมเหมือนฝรั่ง แต่ฝรั่งเวลานี้ ขอเตือน แทบจะไม่เหลือสิ่งที่เรียกว่าอุตสาหกรรมอีกแล้ว
จากเกษตรกรรม เราตัองสรุปใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องมุ่งไปอุตสาหกรรมเสมอ อาจข้ามไปเป็นอุตสาหกรรมเกษตรอย่างนิวซีแลนด์แคนาดา และโปรดทราบอีกที บรรดาฝรั่งอุตสาหกรรมแต่เดิมนั้น ไม่ว่าอเมริกาหรือยุโรปส่วนใหญ่ ในเวลานี้ "กลายพันธ์" ไปทำงานด้านบริการชั้นสูงเป็นหลัก เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว เราอาจข้ามจากเกษตรและอุตสาหกรรมเบาไปสู่การท่องเที่ยวบริการและหัตถกรรมเกษตรหรืออุตสาหกรรมเกษตรไปเลยก็ได้
ในยุค "หลั่นหล้าอีโคโนมี" ที่เราคิดขึ้นมาเองนั้น จึงไม่ควรกังวลแต่เรื่องจะทำ 4.0 หรือ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่ฝรั่งสอน เก็บมาเป็นแง่คิดบ้างคงได้ แต่อย่าหลงเข้าไปในวังวนของความคิดฝรั่ง เริ่มจาก "กับดักรายได้ปานกลาง" ขอบอกว่าเราไม่กลัวจะเป็นแค่ประเทศ "รายได้ปานกลาง" ขอให้มีสุขด้วย ย่อมดีกว่าจะเป็นประเทศ "ร่ำรวย" ฉะนั้นเราจึงไม่กลัว"กับดัก" อันนี้ นี่คือประการแรก
ประการต่อมา คือว่าด้วยการทำ 4.0 ถามว่าเราจำเป็นต้องทำมันหนักหนาหรือ ผมคิดว่าคนทำ 4.0 นั้น เขาเชื่อว่าเคยมี 2.0 และ 3.0 แล้ว ซึ่งน่าจะมีแต่ฝรั่งกับญี่ปุ่น เท่านั้น แต่อาจนับรวมถึงเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง กับ จีน ด้วยก็ได้ ที่เคยผ่าน 3.0 จริง ส่วนไทยนั้นมีเกษตรเป็นหลัก หลังๆนี้ ยังมีอุตสาหกรรมเบาง่ายๆ อยู่ด้วย แต่ขัอเท็จจริงยิ่งใหญ่ คือ เราแทบไม่มีอุตสาหกรรมหนัก ถามว่าจำเป็นไหมที่จะต้องเลียนแบบ "ตะวันตก" คือ เริ่มจากเกษตรไปเป็นอุตสาหกรรมเบาก่อน และต่อไปเป็นอุตสาหกรรมหนัก แล้วเปลี่ยนต่ออีกทีเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) หรืออินโฟเทค ขอเชิญชวนให้คิดว่าสู้เราโดดจากเกษตรและอุตสาหกรรมเบาที่มีอยู่ในเวลานี้ ค้ำถ่อข้ามไปสู่ "เกษตรบูติก" "การท่องเที่ยวบูติก" ที่เน้นคุณภาพ เน้นวัฒนธรรม และรับเอาภูมิปัญญาของชุมชนทัองถิ่นด้วย หรือ กล่าวอีกอย่าง ก้าวไปเป็น "เศรษฐกิจวัฒนธรรม" แบบไทยๆ เลย ไม่ได้หรือ ครับ
ขอเสนอ ณ ที่นี้ว่า ยุคนี้ที่เศรษฐกิจติดหล่มนาน เราคิดเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็น "หลั่นล้าอีโคโนมี" เป็นหลักจะดีกว่าไหม เพราะคิดเองทำเองและเริ่มจากจุดแข็งเราเอง น่าจะถนัดกว่า ได้ผลกว่า หลั่นล้าอีโคโนมี คือการใช้ความ "หลั่นล้า" ของคนไทย--หมายถึงรักสนุก ชอบการละเล่น บันเทิงเริงรมย์ น่ารัก มีมรรยาท มีเสน่ห์ ทำตัวสบายๆ ใจกว้าง ชอบบริการหรือดูแลแขกหรือผู้มาเยือน--เป็นจุดเริ่มต้นในการทำบริการท่องเที่ยว รวมไปถึงเชิงนิเวศน์ และเชิงสุขภาพ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ทำจนติดอันดับต้นๆในโลกการท่องเที่ยวไปแล้ว ให้ดียิ่งขึ้น แบบที่ท้องถิ่นและชุมชนก็รุ่งเรืองวัฒนาไปด้วย อย่าย้ำแต่ต้องขอให้ธุรกิจเอกชนดีเป็นพอ เพราะจะไม่ยั่งยืน
ผนวกเข้ากับการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเออีซีและยึดโยงเออีซีเข้ากับจีนและอินเดีย รวมทั้งเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ต้องเน้นการเอาคนต่างชาติมาอยู่ มาเที่ยว มาเรียน มากิน มาป่วย มาตาย ที่เมืองไทย มาเป็นธุรกิจขนานใหญ่--ที่ทำโดยเอกชน หรือชุมชนทัองถิ่นหรือประชาสังคมก็ได้-ให้ชัดเจนไปเลย ต้องเตรียมกำลังคนให้ดีกว่านี้ หากมีระเบียบกฏหมาย และนโนบายใด มาขัดขวางแนวเศรษฐกิจใหม่นี้ ต้องแก้ไขโดยด่วน
ต้องสนใจการบริการให้ความสุข หรือสุขภาพ รวมถึงความสวยงาม หรือ จิตวิญญาณที่ดีขึ้นของผู้คน ทำให้มันเป็นวิชาชีพ มากกว่าสนใจไปผลิตสินค้าขายต่างประเทศแบบที่ทำกันมาเป็นหลัก พูดอีกอย่างหนึ่ง กลับเอาสุขภาวะ (well being) หรือ ความรู้สึกดีๆ (feeling good)มาขาย มาบริการเป็นรายได้หลัก ทำให้การแพทย์และพยาบาลไม่เป็นเพียงบริการสาธารณะ แต่กลายเป็นรายได้หลักของประเทศได้ด้วย
ผมมีแง่คิดว่าถ้าวางเป้าว่าเราจะต้องตามไปแข่งผลิตหรือใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัยเป็นหลัก จะเป็น 4.0 หรือไม่ก็ตาม เราจะทำได้จริงหรือ คงตามใครทันยาก และ ยิ่งเทคโนโลยีสมัยนี้เปลี่ยนเร็วจนไม่มีอุตสาหกรรมและอาชีพอะไรที่ทำได้อย่างยั่งยืนพอ สู้กลับไปสนใจทำอะไรที่เปลี่ยนช้าสักหน่อย เช่นบริการสันถวไมตรีและการท่องเที่ยวและรักษาสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้ทักษะหรือฝีมือ เชิงศิลปสร้างสรรค์ ไม่อาศัยไฮ-เทค ไม่ได้ถูกกำหนดจากโลกมาก ไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ จะเหมาะกว่าดีกว่าไหม โปรดสังเกต ครับ เทคโนโลยีรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่กำลังเป็นข่าวอยู่ ว่ากันว่า จะทำให้อุตสาหกรรมผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ของเราหมดงานไปเลย จะเหลือแต่การทำเบาะ ทำพวงมาลัย แต่นั่นแหละคืออะไรที่เราทำได้ดีเป็นเนื้อแท้อยู่แล้ว อาจจะย้ำการทำส่วนที่เหลือของรถแบบ "แฮนด์เมด" ไปเลย ทำออกจะเป็นกึ่งศิลปะไปเลยก็ได้ ซึ่งแน่นอนนี่คือสิ่งที่เราถนัดกว่า มันอยู่ใน DNA ของเราอยู่แล้ว
ขอปิดท้ายด้วยการเล่าว่าเวลานี้มีเด็กหนุ่มสาวเรียนสูงหรือเรียนนอกกลับบ้านเกิดในเปิดร้านกาแฟ ในขณะที่เราสอนให้คนไทยเห่อเข้า"สตาร์บัค" เด็กพวกนี้ออก"แนว" ครับ จะทำแบรนด์ท้องถิ่น ที่มีกลิ่นอายทัองถิ่น ให้คนมาดื่มกาแฟภูมิใจและชื่นชมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น มีรายหนึ่งสุภาพสตรีรับราชการมาตั้งแต่จบ ป ตรี จนอายุสี่สิบ จะกลับไปเปิดที่ยโสธร เมือง "โนเนม" แต่เธอตั้งใจจะทำร้านกาแฟที่ทำให้ยโสธรกลายเป็นเมืองดีเด่นให้ได้ คิดจะทำมิวเซียมง่ายๆแสดงข้าวของเครื่องใช้และศิลปหัตถกรรมอีสานติดร้านกาแฟ แขกดื่มกาแฟแล้ว จะเดินต่อเข้าไปดูก็ได้ จะมีของสวยๆงามๆรวมถึงผ้าทอพื้นเมืองขายด้วย เธอวางแผนจะสร้างชื่อให้ร้านด้วยการเชิญนักคิดนักวิชาการที่เธอรู้จัก เคยเชิญมาสอนมหาวิทยาลัยมีชื่อที่เธอเคยสังกัด มาบรรยายหัวข้อเก๋ไก๋ต่างๆ ให้คุยกันต่อๆเลยว่า อยากฟังนักวิชาการ"ซีเล็บ" หาฟังที่อุบลและรัอยเอ็ดที่ใหญ่กว่าไม่ได้ ต้องมา "ที่ยโสฯ สิ" กำไรน้อยเธอไม่เดือดร้อน เพราะร้านเธอก็ไม่ได้เช่า ขอที่จากคุณอามา ไม่ต้องห่วงว่าขาดทุนแล้วจะต้องอด
เพราะครอบครัวของเธอดูแลค่ากินอยู่ของเธอได้สบาย ก็ไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวย แค่มีอันจะกิน แต่ที่สำคัญทุกคนต้องการให้เธอกลับบ้าน มาดูแม่วัยเจ็ดสิบปลาย ป้าวัยแปดสิบ ยายวัยร้อยสี่ ธุรกิจกาแฟของเธอไม่คิดจะเอากำไรมากมาย ทำเพราะรักยโสธร รักอีสาน และรักครอบครัว นี่เป็นตัวอย่างของธุรกิจ"หลั่นล้า" ที่ไปฟังมาจากยโสเมืองที่คนไม่ "ยะโส" น่ารักต่างหาก อีสานพันธ์แท้เลย