นักเศรษฐศาสตร์หวั่นแจกเงินคนจน สร้างความเคยตัว-ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยนโยบายแจกเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ชี้เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หวั่นสร้างความเคยตัวให้ประชาชน แนะรัฐออกนโยบายระยะยาวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการสร้างหนี้ของประชาชนด้วย
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 3,000 บาทต่อคน ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์ 5.4 ล้านคนนั้น (อ่านประกอบ:ครม.ไฟเขียวแจกช่วยผู้มีรายได้น้อย 3,000 บาท/คน ครอบคลุม 5.4 ล้านคน)
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงมาตรการที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย 3,000 บาท หากมองก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่ภาครัฐทำตอนนี้เป็นเรื่องของการใช้เงินคลัง เงินภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีในปัจจุบันหรือภาวะหนี้ในอนาคตของภาครัฐ เหมือนเป็นการนำเงินเหล่านี้มาแจกให้กับประชาชน และประชาชนที่ได้รับจะนำเงินไปใช้จ่ายหรือไปบริโภค
“หากถามว่าเป็นนโยบายที่ดีไหม ในฐานะนักวิชาการก็กังวลใจ เพราะนโยบายลักษณะนี้เป็นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องหนี้ คือประชาชนยังไม่สามารถจัดการหนี้ของตัวเองได้ เรื่องของการแจกเงินถ้าทำไปโดยยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน สุดท้ายก็จะกลับเข้าสู่ปัญหาเดิม ภาระหนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปก็เหมือนกับน้ำซึมบ่อทราย"ดร.นณริฏ กล่าว และว่า ฉะนั้น นโยบายใดๆ ที่ออกมาก็แล้วแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะเป็นการนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ โดยภาครัฐไม่ได้นำเงินไปลงทุนอย่างอื่นเลย
ดร.นณริฏ กล่าวเสนอว่า ภาครัฐควรแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานค่อนข้างมาก รวมถึงต้องปรับพฤติกรรมของประชาชน ถือเป็นสิ่งสำคัญ
"เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนมีหนี้มากขึ้น รัฐก็จะมีนโยบายต่างๆเกิดขึ้นมาช่วยเหลือ ประชาชนทำให้ประชาชนติดนิสัยการมีหนี้ เมื่อไหร่ที่คนเริ่มมีทัศนแบบนี้ก็จะไม่เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงตัวในการลดหนี้ มีทางแก้ 2 วิธี คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้มากขึ้น ตรงนี้ภาครัฐมีความพยายามอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจำกัดการผลิต การที่จะย้ายให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่น แต่อีกส่วนคือต้องระมัดระวังนโยบายในแจกเงิน เพราะท้ายสุดประชาชนก็จะติดว่า ต่อไปภาครัฐจะเป็นคนช่วยดูแลเป็นเหมือนกับคนที่จะต้องช่วยเหลืออยู่ตลอด ประชาชนก็จะใช้ชีวิตไปตามปกติไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง"
ทั้งนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ณ ปัจจุบัน การจะทำนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์แรงงาน หรือนโยบายอื่นๆ ต้องใช้เวลา แน่นอนประชาชนที่เดือดร้อนรอไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน อย่างไรก็ตามนโยบายลักษณะนี้น่ากังวลใจจะไปขัดต่อผลระยะยาว เพราะจะไม่ไปเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน โดยส่วนตัวคิดว่า เราอยู่ในวังวนตรงนี้มานานแล้วเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ
ขอบคุณภาพจาก:citizenthaipbs