ไม่มีหลักฐานชี้ชัด!สภานสพ.ยุติเรื่องสื่อรับผลปย.ซีพีเอฟ-จัดสัมมนารู้เท่าทันกลยุทธ์ปชส.
ปธ.สภาการนสพ.แห่งชาติ แถลงทางการยุติการตรวจสอบกรณีสื่อมวลชนถูกร้องเรียนเรื่องรับเงินในการทำข่าว เหตุไม่มีพยานหลักฐานอื่นในการพิจารณา พร้อมรับข้อเสนอจัดสัมมนารู้เท่าทันกลยุทธ์สื่อสาร-ปชส.
จากกรณีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม และตั้งคณะกรรมการอิสระ 6 คน โดยมีนายสัก กอแสงเรือง อดีต ส.ว.และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำหน้าที่เป็นประธานเพื่อสอบสวนกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ โดยอ้างว่าเป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ที่มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลประทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ ในช่วงกลางเดือน ก.ค.57 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : 2 สภาวิชาชีพสื่อ ตั้ง "กล้านรงค์" สอบปม "ซีพีเอฟ" จ่ายเงินบิ๊กสื่อ 19 ราย, "สัก"เสียบแทน"กล้านรงค์"นั่งปธ.สอบปม ซีพีเอฟจ่ายเงินบิ๊กสื่อ-ยันคกก.ไม่ถูกซื้อ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2559 นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้เห็นชอบ คำวินิจฉัยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ 1/2559 เรื่อง ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชน
โดยระบุว่า สืบเนื่องจากที่ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้เผยแพร่เอกสารโดยอ้างว่า เป็นข้อมูลของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง มีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้แก่สื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะราย รวม 19 รายเป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ซึ่งอาจขัดต่อข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่าหรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน”
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติร่วมกับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแล้วแจ้งผลให้คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทราบเพื่อมีคำวินิจฉัยต่อไป
คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องได้ส่งรายงานผลการพิจารณาให้แก่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าได้มีการนัดประชุมเพื่อสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด 18 ครั้ง และได้เชิญพยานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารรวม 15 ราย แต่มีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเดินทางมาให้ข้อมูลด้วยตนเอง 3 ราย ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ 2 ราย ส่งเอกสารมาชี้แจง 1 ราย เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ 1 รายและผู้แทน TCIJ 1 ราย ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 2 ราย ปฏิเสธที่จะมาให้ข้อมูลโดยประกาศต่อสาธารณะ ส่วนที่เหลือไม่สามารถติดต่อได้
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ยังได้มอบหมายให้นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารที่ได้มา ว่ามีความเชื่อมโยงกับการเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนสังกัด ว่าเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ตั้งประเด็นการพิจารณาได้แก่ 1) ความถูกต้องชอบธรรมด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน 2) ด้านการบริหารจัดการขององค์กรสื่อมวลชน และ 3) ด้านการดำเนินธุรกิจของผู้ใช้บริการสื่อมวลชน
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่องในคราวการประชุมสมัยที่ 8 ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม และครั้งที่ 11/2559 เมื่อวันที่ 22พฤศจิกายน 2559 ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาให้ถ้อยคำ ยืนยันพร้อมพยานหลักฐานเป็นสัญญาซื้อขายโฆษณากับบริษัทเอกชนดังกล่าว ไม่ใช่การจ่ายเงินเดือนเป็นรายเดือนให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่มีการกล่าวหา แต่เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนบางส่วน ไม่มาให้ถ้อยคำแก่คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง จึงขาดข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ข้อสรุปว่า ไม่มีการกระทำที่เป็นการละเมิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ด้วยการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ให้กับตัวบุคคล เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการ อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน
ส่วนในประเด็นเรื่องการบริหารจัดการขององค์กรสื่อมวลชน ฟังได้ว่า ข้อเท็จจริงจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาให้ถ้อยคำ ประกอบกับรายงานการวิเคราะห์ของนักวิชาการสื่อสารมวลชน พบว่า แม้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนระดับบริหารจะต้องเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่ออธิบายถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะเป็นช่องทางให้บริษัทเอกชนสามารถใช้เป็นช่องทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ได้มีการแยกแยะชัดเจนระหว่างหน้าที่ของบุคลากรในฝ่ายบรรณาธิการกับฝ่ายโฆษณา แต่เนื่องจากยังมีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนบางส่วนไม่มาให้ถ้อยคำแก่คณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง จึงยังไม่สามารถสรุปเป็นข้อยุติได้ว่า มีการดำเนินการให้บุคลากรในฝ่ายบรรณาธิการต้องร้องขอให้บริษัทเอกชนจัดงบประมาณพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชนตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่
นอกจากนี้ ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนพบว่า การรับงบประมาณพิเศษเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรสื่อมวลชนที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนสังกัด ไม่มีความเชื่อมโยงกับการเสนอข่าวของสื่อมวลชน เนื่องจากมีการนำเสนอข่าวสารทั้งด้านบวกและด้านลบของบริษัทเอกชนดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีการว่าจ้างตามสัญญาโฆษณานั้น
ประเด็นสุดท้าย ในด้านการดำเนินธุรกิจของผู้ใช้บริการสื่อมวลชน เนื่องจากผู้แทน TCIJ และผู้แทนของบริษัทเอกชนที่ถูกพาดพิงต่างไม่ยืนยันในความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลไฟล์ (Digital File) ว่าเป็นเอกสารจริง จึงไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงหรือวิเคราะห์เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนนั้นได้
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 ข้อ 14 (6) จึงมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนฯ ตามที่มีการกล่าวหา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอีกบางส่วน ไม่ได้มาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง จึงยังไม่สามารถมีข้อยุติได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนดังกล่าว มีการรับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัวจากบริษัทเอกชนดังกล่าวหรือไม่ เช่นกัน จึงมีมติให้ยุติเรื่อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาอีก
อนึ่ง คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีความตระหนักว่า กรณีดังกล่าวนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนโดยส่วนรวม จึงมีมติรับข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ให้จัดการสัมมนาวิชาการให้สื่อมวลชนได้รู้เท่าทันกลยุทธ์การสื่อสารองค์กรและการประชาสัมพันธ์ขององค์กรธุรกิจ รวมทั้งจัดการสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะการจัดการองค์กรภายในธุรกิจสื่อ ที่จำเป็นจะต้องแยกบทบาทหน้าที่ของฝ่ายบรรณาธิการกับฝ่ายการตลาดให้ชัดเจน แล้วถอดบทเรียนจากการจัดสัมมนามาจัดทำเป็นหนังสือคู่มือ หรือแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ขององค์กรธุรกิจต่างๆ โดยจะได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป