"มาตรา 21 – จ่ายเงินเยียวยา" ปัญหาภาคใต้จบจริงหรือ?
ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่านที่ผมห่างหายไปจากคอลัมน์นี้นานเกือบ 1 เดือน ด้วยปัญหาภารกิจการงานของผมเอง และยังมีปัญหาการปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ในบางวันจนอาจทำให้หลายๆ ท่านไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าชมโต๊ะข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศราด้วย
เดือนแรกของปี 2555 กำลังจะผ่านพ้นไป สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ดีขึ้นบ้างหรือไม่ เราๆ ท่านๆ คงพอทราบดี แต่ก็มีอีก 2 เรื่องที่ผมอยากแสดงความเห็นเป็นข้อสังเกตเอาไว้ เพราะมีโอกาสบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ในอนาคต
หนึ่ง คือ กระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ล่ม
สอง คือ การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนใต้ในอัตราเดียวกับการชุมนุมทางการเมือง คือ เสียชีวิต 7.75 ล้านบาท
เอาประเด็นแรกก่อน ขอย้อนกลับไปเล่ารายละเอียดสักเล็กน้อยว่ากระบวนการตามมาตรา 21 "ล่ม" ได้อย่างไร...
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ซึ่งเป็นวันตรุษจีน ที่ศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา ศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อพิจารณาสำนวนคดีความมั่นคง รม.1-4/2554 ระหว่างพนักงานอัยการผู้ร้อง กับผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงที่ 1-4 ประกอบด้วย นายมะซับรี ตะบูติง, นายซุบิร์ สุหลง, นายซาแปอิง แวและ และนายอับริ สะหมานปูด เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการฟ้องคดีอาญา
กระบวนการเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องคดีซึ่งมีลักษณะคล้าย "นิรโทษกรรม" กลายๆ นี้ บัญญัติไว้ในมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่ง กอ.รมน.วาดหวังว่าจะเป็นแนวทางใหม่ในการดับไฟใต้ คือการเปิดให้แนวร่วมก่อความไม่สงบ "วางปืน" เข้ามอบตัวเพื่อรับการอบรมแทนถูกดำเนินคดี เหมือนกับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เมื่อหลายทศวรรษก่อน
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันพุธที่ 14 ธ.ค.ปีที่แล้ว ผู้ต้องหาทั้ง 4 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาชุดแรก หรืออาจเรียกว่า "ชุดนำร่อง" ยืนกรานต่อศาลว่า "ไม่สมัครใจ" เข้ารับการอบรม ซ้ำยังอ้างว่าถูกบังคับและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เล่นเอามึนกันทั้งห้องพิจารณา สุดท้ายศาลต้องนัดใหม่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา และผลก็ออกมาเช่นเดิม คือทั้ง 4 ยอมถูกดำเนินคดีอาญาในแบบนับหนึ่งใหม่
แม้จะไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย คือฝ่ายทหารก็คาดไว้แล้วว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 รายคงยืนยันไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมเช่นเดิม แต่ปัญหาก็คืออนาคตนับจากนี้ไป ฝ่ายความมั่นคงจะเลือกดำเนินการอย่างไร เพราะก่อนจะถูก "ล้ม" ต้องยอมรับว่ากระบวนการตามมาตรา 21 เดินมาถึงขั้นตอนที่ 5 จาก 6 ขั้นตอนแล้ว หนำซ้ำยังใช้งบประมาณเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำที่เชื่อว่าเป็นของผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไปแล้วร่วมล้านบาทด้วย โดยหน่วยเฉพาะกิจสงขลาซึ่งรับผิดชอบพื้นที่นี้ได้นำเงินไปจ่ายเป็นที่เรียบร้อย
โดยเฉพาะเหตุระเบิดมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ตลาดนิคมเทพา อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 เมษาฯ 2554
ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 4 รายนี้ มีทั้งสิ้น 28 ราย ว่ากันว่าการที่ฝ่ายทหารต้องจ่ายงบประมาณเยียวยาไปร่วมล้าน ก็เพื่อแลกกับการลงชื่อไม่ติดใจเอาความ นอกจากนั้นยังมีงบดำเนินการ เช่น บันทึกวิดีโอทุกขั้นตอน เพราะเป็นโครงการนำร่อง ฯลฯ สรุปว่างานนี้หมดไปหลายล้าน แต่เมื่อกระบวนการล่มสลาย ยังไม่รู้ใครจะรับผิดชอบ
แต่ข่าวที่น่ากังวลก็คือ การที่ผู้เสียหายทั้ง 28 คนนัดหารือกันเพื่อเดินหน้าฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 4 นัยว่า "เบี้ยวสัญญา" ซึ่งไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่า น่าจะเป็นการประสานงานของฝ่ายความมั่นคงนั้น น่าคิดว่าการใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะ "เอาคืน" จะทำให้ไฟใต้มอดดับได้อย่างไร เพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายและขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก
อย่าลืมว่าการเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 ใช้ "ความสมัครใจ" ฉะนั้นคนที่เคย "สมัครใจ" อาจเปลี่ยนใจเป็น "ไม่สมัครใจ" เมื่อใดก็ได้ แม้ฝ่ายความมั่นคงจะไม่พอใจ ก็จำต้องอดทน และคิดหากระบวนการใหม่ที่รัดกุมกว่าเก่ามาแก้ปัญหาแทน
ที่ดีที่สุดก็คือการสร้าง "การมีส่วนร่วม" จากฝ่ายต่างๆ ทั้งหลักสูตรการอบรม ตลอดจนขั้นตอนการพิจารณา และสุดท้ายคือน่าจะมีกลุ่มบุคคลที่ชาวบ้านไว้วางใจเข้าร่วมด้วย เช่น ทนายมุสลิม
หมดเวลา "คิดเอง ทำเอง" โดยไม่สนใจความรู้สึกของชาวบ้านแล้ว...
ปัญหาที่สองที่จะขอพูดคือ การจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อไฟใต้ในอัตราเดียวกับผู้ชุมนุมทางทางการเมือง (เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท) แม้จะมีสัญญาณเบื้องต้นมาแล้วจากเลขาธิการ ศอ.บต.ซึ่งเป็นกรรมการเยียวยาอยู่ด้วยว่าจะพิจารณา 4-5 กลุ่มแรกก่อน คือ กรณีกรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย และคนหาย รวม 4 กลุ่มก็ประมาณ 200 กว่าราย ทว่าคำถามก็คือ ผู้เสียชีวิตอีกราวๆ 5 พันรายที่เหลือจะเอากันอย่างไร
หลายคนบอกว่าข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ครู ฝ่ายปกครอง น่าจะใช้เกณฑ์เดียวกันไปเลย แต่ประเด็นที่มิอาจ "ละเลย" ก็คือสาเหตุการตายของแต่ละคน เกี่ยวพันกับการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่
ที่พูดแบบนี้ขอย้ำว่าไม่ได้ขัดขวางใครไม่ให้ได้เงิน แต่กลัวว่า "เงิน" จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก!
มีเสียงจาก "คนใน" ของพื้นที่ ตั้งข้อสังเกตว่าข้าราชการบางรายอาจไม่ได้ถูกสังหารจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะจากการรื้อสำนวนคดีมีไม่น้อยที่เป็น "เหตุส่วนตัว" โดยเฉพาะ "ชู้สาว"
สมมติเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง (ไม่ได้จำเพาะว่าเป็นหน่วยไหนนะครับ) ดันไปทำลูกสาวชาวบ้านท้องแล้วถูกยิงตาย แต่ด้วยกระแส "คนของรัฐตาย" ทำให้ถูกเหมารวมเป็นเรื่องการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบเสียทั้งหมด หากกรณีลักษณะนี้ได้เงินเยียวยา 7.75 ล้าน พ่อแม่ของลูกสาวที่ถูกทำท้องจะคิดอย่างไร จะไม่คับแค้นจนหันไปจับปืนไล่ฆ่าคนของรัฐคนอื่นหรือ
เช่นเดียวกับแนวทางการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วศาลยกฟ้อง ในเมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ากลไกกระบวนการยุติธรรมพิกลพิการในภารกิจเอาคนผิดไปเข้าคุก (ปี 2554 ยกฟ้องถึง 78.5%) หลายกรณีที่ศาลยกฟ้องจึงไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด หากรัฐไปจ่ายเงินเยียวยาให้อีก ฝ่าย "ผู้เสียหาย" จะรู้สึกอย่างไร เพราะแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่นั้น ส่วนมากชาวบ้านก็ รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นฝีมือใคร...
นี่คือเรื่องราวร้อนๆ 2 เรื่องจากชายแดนใต้ที่ยังไม่ชัดว่าจะทำให้ปัญหาคลี่คลายหรือบานปลายยิ่งกว่าเดิม!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจาก อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ (ภาพผ่านการปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)