สตง.สรุปผลสอบงานก่อสร้างท่าเรือ 'กรมเจ้าท่า' ส่อเหลว 4.3 พันล้าน
สตง. สรุปผลสอบงานพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นที่ 'กรมเจ้าท่า' ช่วงปี 52-56 ใช้เงินกว่า 8 พันล้าน พบปัญหาเพียบ ไม่เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่า เผยงานก่อสร้างท่าเรือ ส่อเหลว 4.3 พันล้าน !
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยพบว่าการดำเนินกิจกรรมภายใต้ภารกิจหลักสำคัญมีความเสี่ยงสูงมากที่ทำให้ผลการดำเนินงานไม่เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ไม่คุ้มค่าและไม่เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน
โดย สตง.ระบุว่า ได้ตรวจสอบการดำเนินงานใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การขุดลอกร่องน้ำ การก่อสร้างและบำรุงรักษาท่าเรือ และการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ 2552 – 2556 กรมเจ้าท่าได้มีการใช้เงินงบประมาณสำหรับกิจกรรมดังกล่าวจำนวนรวม 8,005.79 ล้านบาท แยกเป็น
- สุ่มตรวจสอบการดำเนินการขุดลอกร่องน้้าของศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 – 8
(ศบ.1 – 8) และส่วนเรือขุดลอก ในช่วงปีงบประมาณ 2552 – 2556 รวม 761 ร่องน้ำ งบประมาณ5,768.48 ล้านบาท และสุ่มตรวจสอบสังเกตการณ์พื้นที่ดำเนินการ จำนวน 47 ร่องน้ำ ในพื้นที่ 25 จังหวัด งบประมาณไม่น้อยกว่า 708.88 ล้านบาท จากจำนวนร่องน้ำที่ดำเนินการขุดลอกในช่วงปีงบประมาณ 2552 – 2557
- สุ่มตรวจสอบการก่อสร้างและบำรุงรักษาท่าเรือ จำนวน 28 แห่ง ในพื้นที่ 14 จังหวัด
งบประมาณ 7,069.01 ล้านบาท จากจำนวนท่าเรือที่กรมเจ้าท่าก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2557 รวม 59 แห่ง
- สุ่มตรวจสอบการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น จำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด
งบประมาณ 1,344.17 ล้านบาท จากจำนวนเขื่อนกันทรายและคลื่นที่กรมเจ้าท่าก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 รวม 29 แห่ง
พบว่า การดำเนินกิจกรรมภายใต้ภารกิจหลักสำคัญของกรมเจ้าท่า ยังมีความเสี่ยงสูงมากที่ทำให้ผลการดำเนินงานไม่เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ไม่คุ้มค่าและไม่เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน หรือมีช่องว่างที่อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะกิจกรรมการขุดลอกร่องน้ำ ซึ่งมีการใช้งบประมาณสำหรับดำเนินการปีละประมาณ 1,150.00 ล้านบาท ยังขาดข้อมูลสำคัญในการบริหารจัดการร่องน้ำ จะทำให้การบริหารจัดการร่องน้ำเกิดความล้มเหลวรวมทั้งปัญหาการทิ้งดินหรือวัสดุที่ได้การขุดลอกร่องน้ำ และปัญหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดลอกร่องน้ำ กิจกรรมการก่อสร้างท่าเรือ ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นหน่วยงานรับผิดชอบก่อสร้าง และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการด้านการบริหารจัดการ ยังมีท่าเรือบางแห่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์น้อยมาก และกิจกรรมก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น ยังขาดการประเมินผลกระทบ(Impact) ที่แสดงถึงความคุ้มค่าในการก่อสร้าง
ทั้งนี้ สำหรับผลการตรวจสอบงานด้านท่าเรือ พบว่า มีท่าเรือที่ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ (ใช้ประโยชน์ปานกลาง) ส่งผลให้งบประมาณที่ใช้ในการลงทุนก่อสร้างท่าเรืออาจเกิดความไม่คุ้มค่า รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 4,321.45 ล้านบาท หรือท่าเรือที่อยู่ระหว่างก่อสร้างบางแห่งยังขาดปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำให้ไม่เกิดความพร้อมในการใช้ประโยชน์ และปัญหาการ ดูแลบ้ารุงรักษาท่าเรือ จะทำให้ความเสียหายของท่าเรืออาจลุกลามหรือขยายตัวมากขึ้น ทำให้ต้องใช้งบประมาณปรับปรุง/ซ่อมแซมเพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ท่าเรือ