“วิทยา”ปัดแผนล้มบัตรทอง ร็อคกี้เฟลเลอร์ยกไทยเป็นศูนย์เรียนรู้หลักประกันสุขภาพ
รมว.สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.แถลงข่าวปัดแผนล้มบัตรทอง ชี้ตัวแทนภาคประชาชนลาออกจากคณะอนุฯ สมควรแล้ว มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้ทุนไทยเป็นศูนย์เรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
วันที่ 27 ม.ค.55 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวชี้แจงว่าที่ผ่านมามีบางกลุ่มออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนบันไดสี่ขั้นล้มหลักประกันสุขภาพ ตนขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายล้มระบบหลักประกันสุขภาพแน่นอน ยืนยันว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องอยู่คู่กับประชาชนต่อไป
นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะอนุกรรมการบอร์ด สปสช. 13 คณะ ได้มีการจัดตั้งแล้ว 12 คณะ ซึ่งทำตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มาจากบุคคลหลายฝ่าย ขอวิงวอนไปยังประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ 48 ล้านคนให้ประสานไปยังผู้แทนภาคประชาชนซึ่งนั่งเป็นบอร์ดให้ช่วยกันขับเคลื่อนงานในระบบเดินหน้าต่อไป
ส่วนกรณีที่ นางวรานุช หงสประพาส อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณลาออกจากบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง สปสช. นั้น ตนคิดว่าคนมาทำงานตรงนี้ต้องหนักแน่น สำหรับกรณีบอร์ดภาคประชาชน 5 คนลาออกจากคณะอนุกรรมการฯ นั้นตนเห็นว่าการทำงานของคณะอนุฯ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งโดยหลักการคนนั่งในอนุกรรมการฯ ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับบอร์ด สปสช. ยกเว้นโดยตำแหน่งเท่านั้น
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กทม.มีการแถลงข่าวเรื่อง “โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ โดย 8 องค์กรภาคี ได้แก่ สธ. สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก). สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นางเฮเธอร์ เกรดี้ รองประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่าไทยเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนในประเทศ โดยเป็นการพัฒนาที่มาจากฐานการสร้างความรู้ประสบการณ์ต่อเนื่องกว่า 40 ปี ทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น ไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นภาระในระยะยาว ปัจจุบันประเทศต่างๆจำนวนมากได้กำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งชาติ เช่น เวียดนาม มองโกเลีย กาน่า อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
ซึ่งไทยสามารถเป็นต้นแบบและศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้เรื่องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของได้ ทางมูลนิธิจึงสนับสนุนงบประมาณให้ไทยในการดำเนินการเพื่อสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศต่างๆ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของตน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช.พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการออกแบบระบบที่ดี ทั้งการบริหารงบประมาณที่คำนวณจากต้นทุนและการ ใช้บริการของประชาชน การกำหนดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และคัดเลือกบริการรักษาพยาบาลเฉพาะที่มีประสิทธิผล การจ่ายเงินสถานพยาบาลต่างๆในรูปแบบเหมาจ่ายสำหรับบริการผู้ป่วยนอก และจ่ายตามกลุ่มจำแนกโรคร่วมสำหรับบริการผู้ป่วยใน การส่งเสริมใช้บริการที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ ฯลฯ
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่าโครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พัฒนาขึ้นโดยอาศัยจุดแข็งขององค์กรต่างๆในระบบสุขภาพไทยที่มีส่วนร่วมกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค.54 – 30 พ.ย.57 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆด้านวิชาการที่มีประสิทธิภาพในสนับสนุนการพัฒนานโยบายและดำเนินงานหลักประกันสุขภาพให้สำเร็จและยั่งยืน .