ผอ.สรอ. ลั่นเอาแค่นี้ให้ได้ก่อน ตั้งเป้า 5 ปีติดต่อราชการไม่เรียกสำเนาทะเบียนบ้าน-บัตรปชช.
ผอ.สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เร่งผลักดันภาครัฐเชื่อมข้อมูลกัน ตั้งเป้าแผน 5 ปี รัฐบาลดิจิทัล สำเนาทุกอย่างจะไม่มี บูรณาการฐานภาษี รวมข้อมูลทางการเกษตร พร้อมหวังการยื่นเรื่องร้องเรียนจากจุดเดียว เกิดในไม่ช้า
วันที่ 18 พฤศจิกายน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะที่ 2 และการเสวนาภายใต้หัวข้อเรื่อง “รัฐบาลดิจิทัล สู่ประเทศไทย 4.0 ทางเลือก หรือ ทางรอด?” ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสรอ.กล่าวถึงอันดับ E-government หรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ไทย องค์การสหประชาชาติ หรือ UN จัดอันดับให้ประเทศไทยปีนี้ดีขึ้นถึง 25 อันดับ เพราะโครงการสร้างพื้นฐาน มีการประมูล 4 จี และอัตราการใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันก็มีการวัดตอบโจทย์ความต้องการประชาชนได้จริงหรือไม่ ประชาชนมีความสามารถใช้ดิจิทัลหรือไม่ เป็นต้น ขณะที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ จัดให้ไทยเป็นที่ 2 โดยวัดการบริการออนไลน์ การมีส่วนร่วม การบริการที่ต้องเป็น One Stop Sevice ให้มากกว่านี้
ผอ.สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวถึงแผน 5 ปี ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะที่ 2 (Digital Government Development Plan Phase ll) สำเนาทุกอย่างจะไม่มี ประชาชนไม่ต้องเอาสำเนาติดตัวไปแล้ว นี่คือเป้าหมาย เอาแค่นี้ให้ได้ก่อน ซึ่งก็มีธุรกรรม 2 อย่างที่กฎหมายไม่รองรับ คือ เรื่องมรดก กับหย่า ฉะนั้น เราอยากผลักดันให้ภาครัฐเชื่อมข้อมูลกันก่อน
“สํานักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยของบฯ เพื่อนไปซื้อเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ด 2 แสนเครื่อง แจก 80 หน่วยงาน เพื่อลดการเรียกสำเนาประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือกระทรวงการคลังจะบูรณาการฐานภาษีเป็นจุดเดียว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมข้อมูลทางการเกษตรเป็นภาพเดียว ส่วนการยื่นเรื่องร้องเรียนจากจุดเดียว ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีสัญญาจะทำให้ได้”
ดร. ศักดิ์ กล่าวถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยนั้น จึงไม่ใช่การเขียนแผนที่หรูแล้วทำไม่ได้ ไม่ทำแผนที่เพ้อฝันแล้วหน่วยงานไม่พร้อม ถึงเวลาเอาความจริงมาใช้เป็นตัวกำหนด
ขณะที่กฎหมายที่กระทรวงดิจิทัลกำลังร่าง ดร.ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มีหลายตัวมีผลต่อรัฐบาลดิจิทัล เช่น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังมีการทำประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม เชื่อว่ากฎหมายจะเสร็จไม่เกินต้นปี 2560