กสทช.ตั้งเป้าโทรศัพท์สาธารณะหมู่บ้านละเครื่อง ลดเหลื่อมล้ำเมือง-ชุมชน
กสทช.รับฟังความเห็นร่างแผนบริการโทรคมนาคมเพื่อสังคม ระบุการเข้าถึงระบบสื่อสารไทยเหลื่อมล้ำอันดับ 59 ในโลกแพ้เวียดนาม-อินโดฯ ตั้งเป้าโทรศัพท์สาธารณะหมู่บ้านละเครื่อง เน็ตเร็วสูงคนจนเมือง 500 แห่ง
วันที่ 27 ม.ค. 55 สำนักการบริการอย่างทั่วถึง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) พ.ศ.2555 – 2559 ก่อนเสนอแผนให้ กสทช.พิจารณา ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกสทช. กล่าวว่าที่ประชุม กสทช. มีมติขยายโครงข่ายบริการโทรคมนาคมรูปแบบเสียงและข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมชนบทหรือพื้นที่ผลตอบแทนลงทุนต่ำ สถานศึกษา ศาสนสถาน ศูนย์สุขภาพประจำตำบล ตลอดถึงกลุ่มคนพิการ เด็ก คนชรา และผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม
พลเอกสุกิจ กล่าวถึงถึงเป้าหมายการว่าต้องการมุ่งขยายโครงข่ายบริการโทรศัพท์ส่วนบุคคลครอบคลุมร้อยละ 99 ของพื้นที่ทั่วประเทศ และจัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะในถิ่นทุรกันดารชุมชนละ 1 เครื่อง เพิ่มประสิทธิภาพอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพร้อมระบบสัญญาณไร้สายสำหรับชุมชนมีรายได้น้อยในเขตเมือง สถานสงเคราะห์ คนชรา และโรงเรียนสอนคนพิการ ไม่น้อยกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบโทรคมนาคมสำหรับคนพิสายตาและหู ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่น้อยกว่า 1 แสนคน สนับสนุนการพัฒนาเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตรองรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือให้สอดคล้องกับชุมชนแต่ละภูมิภาค และเปิดอบรมบุคลากรโทรคมนาคม
ด้านนายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผน สำนักการบริการอย่างทั่วถึง กสทช. กล่าวถึงร่างแผนจัดบริการโทรคมนาคมพื้นฐานเพื่อสังคมฯ ว่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศระหว่างชนบทและเมือง และยกตัวอย่างกรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 2 ล้านครัวเรือนแต่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน 45% เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 33% ส่วนภาคอีสานมีประมาณ 6 ล้านครัวเรือน มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้านเพียง 13% เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียง 4% ขณะที่เทียบกับ 152 ประเทศนานาชาติ พบว่าในปี 2009 ไทยอยู่อันดับที่ 47 และร่วงลงเป็นอันดับ 59 ในปี 2010 แพ้เวียดนามและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ความพร้อมในการเข้าถึงโทรคมนาคมของคนไทยอยู่อันดับ 75 อินโดนีเซียอันดับ 18 เวียดนาม 33
ขณะที่น.ส.ธีรพร เกศทับทิม ประชาชนกรุงเทพฯ กล่าวถึงร่างแผน USO โดยรวมว่าคลอบคลุมความต้องการของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่นทุรกันดาร ส่วนระยะเวลาเปิดรับความคิดเห็นต่อร่างแผนฯดังกล่าวถึงวันที่ 3 ก.พ. 55 เห็นว่าเหมาะสมเพื่อได้บังคับใช้โดยเร็ว แต่ กสทช.ควรจัดเปิดรับความคิดเห็นรอบสอง เพื่อให้เกิดแผนปฏิบัติที่มาจากภาคประชาชนกลุ่มต่างๆอย่างทั่วถึงด้วย
นายสมปอง เกิดแสง ตัวแทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต องค์กรด้านคนพิการ กล่าวว่าในร่างแผนฯ ดังกล่าวนี้ การเข้าถึงโทรคมนาคมสำหรับคนพิการยังไม่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับผู้พิการทางหู สายตา และออทิสติกเท่านั้น ยังไม่รวมความพิการด้านสติปัญญา การเรียนรู้ การเคลื่อนไหวทางร่างกาย
“ควรจัดอบรมผู้ดูแลคนพิการ หาวิธีเข้าถึงอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งในเมืองไม่น่าห่วง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์สื่อสารจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แต่ในชนบทห่างไกลยังขาดแคลน” นายสมปองกล่าว .
ที่มาภาพ :http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310723497&grpid=&catid=09&subcatid=0904