"กราบรถ" ถึง "ไฟใต้" โซเชียลฯล่าทำลาย และ "ไอโอสีดำ"
กรณีของ "น็อต กราบรถ" ที่ถูกถล่มจากโลกโซเชียลฯจน "จมดิน" ถึงวันนี้เริ่มมีกระแสตีกลับบ้างแล้วว่า การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกินจริง หรือทำภาพและข้อความล้อเลียนที่หนักข้อเกินไป กระทั่งลุกลามไปถึงการเปิดเผยประวัติและหน้าตาของบุคคลในครอบครัวซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์ฉาวที่เกิดขึ้นนั้น สุดท้ายกลายเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกวิจารณ์หรือไม่
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมบางส่วนใช้ความสะใจตอบโต้พฤติการณ์ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ด้วยการละเมิดสิทธิ์ของผู้ละเมิดอีกที...กลายเป็นวงจรการละเมิดที่ไม่ได้ยกระดับให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า หลายเหตุกาณ์ที่ปรากฏผ่านโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นว่า การตัดสินจากศาลโซเชียลมีเดีย จะให้น้ำหนักไปที่ความถูกผิด แต่ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดความมากหรือน้อยในการแสดงความคิดเห็น นี่คือปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน
“ถือเป็นการลงโทษทางสังคมไปก่อน ประโยชน์ก็คือทำให้คนหลาบจำ ไม่กล้าทำอีก แต่โทษของการไล่ต้อนกระทั่งคนเราไม่มีโอกาสกลับฟื้นคืนมาในสังคม สะท้อนว่าโซเชียลมีเดียมีทั้งคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ด้วย”
“โดยเฉพาะนักรบไซเบอร์ที่ไปตรวจสอบญาติโกโหติกาของเป้าหมาย พ่อทำงานอะไร ลูกทำอะไร แล้วไปโพสต์ภาพบรรพบุรุษ ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยว อย่างนี้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลชัดเจน บางกรณีก็ผิดกฎหมาย บางกรณีก็ไม่ผิด แต่แม้ไม่ผิดกฎหมาย ก็ผิดหลักสิทธิมนุษยธรรม และผิดหลักสิทธิมนุษยชน” นพ.สุรเชษฐ์ ระบุ
เขาตั้งความหวังว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ฉะนั้นแม้ในระยะสั้นจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่ในระยะยาวน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และมีกฎ กติกา มารยาท ในการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นกว่าเดิม
จากสถิติการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกรรมการสิทธิฯ ในช่วง 3 ปี พบว่า ปี 2557 มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 684 คำร้อง เป็นเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเฉลี่ย 13.49% ปี 2558 มีการร้องเรียน 584 คำร้อง เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเฉลี่ย 6.36% และ ปี 2559 ซึ่งยังไม่ถึงสิ้นปี แต่มีการร้องเรียนเข้ามาแล้ว 698 คำร้อง เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเฉลี่ย 8.02%
จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยยังอยู่ในระดับน่ากังวล
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าวิตกมากไปกว่าการแสดงอารมณ์ร่วมของสังคม คือการเปิดเว็บเพจที่ไม่ระบุตัวตน ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์และแฟนเพจในเฟซบุ๊ค หรือที่เรียกรวมๆ ว่า “เพจผี”
พฤติการณ์ของเพจเหล่านี้มักจงใจไล่บี้รุกรานไปจนถึงคุกคามผู้เห็นต่างจากตน โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะตรวจสอบที่มาหรือตัวตนของผู้เปิดเพจไม่ได้ บางรายก็บิดเบือนข้อมูลเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางความคิด กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” ตามมา
ซ้ำร้ายหลายๆ กรณี พวกเว็บเพจไม่ระบุตัวตน หรือ “เพจผี” เหล่านี้ กลายเป็นเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย-บางคนที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อหวังผลทางจิตวิทยาในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางด้าน โดยอ้างว่า “ทำเพื่อชาติ”
หลายๆ ครั้งถึงขั้นลงทุนบิดเบือนข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อเล่นงานผู้ที่ตนเองคิดว่าอยู่ตรงกันข้ามกับภารกิจของตน โดยละเมิดกฎกติกาในการใช้โซเชียลมีเดียทุกอย่าง มีศัพท์ที่ใช้เรียกในวงการว่า “ไอโอสีดำ” หรือ “ปฏิบัติการข่าวสารด้านมืด”
“ไอโอ” ย่อมาจาก Information Operation หรือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เป็นศัพท์ที่ใช้ในทางการทหาร เจ้าตำรับไอโอคืออเมริกา เพราะเปิดศึก-เปิดแนวรบไปทั่วโลก (ยุทธศาสตร์ของอเมริกาคือทำสงครามไกลบ้าน เพื่อให้บ้านปลอดภัย) เจ้าหน้าที่ไทยเราไปศึกษาอบรมหลักสูตรนี้กันมาเยอะ แล้วก็นำกลับมาใช้ผิดทิศผิดทาง เพราะไอโอของอเมริกามุ่งสร้างความเกลียดชังให้กับคู่ต่อสู้ซึ่งไม่ใช่คนในประเทศตัวเอง ฉะนั้นจะใช้ไอโอสีดำด้านมืดขนาดไหนก็ได้ แต่สำหรับประเทศไทย เป็นสงครามความขัดแย้งภายใน โดยเฉพาะปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อนำ “ไอโอสีดำ” มาใช้ จึงมีแต่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งปะทุรุนแรงบานปลาย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่งบอกว่า ไอโอที่ดีที่สุดคือการใช้ “ความจริง” ในการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผู้คน แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการนี้บางราย ดูจะนิยมใช้ “ความเท็จ” และ “บิดเบือน” ล้วนๆ
ตัวอย่างที่น่าสนใจและเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คือกรณีของ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อ 12 ปีก่อน
อังคณา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 พ.ย. เกี่ยวกับเหตุรุนแรงกว่า 10 จุดในจังหวัดชายแดนภาตใต้เมื่อคืนวันที่ 2 พ.ย. โดยตั้งคำถามว่าชนวนเหตุของความรุนแรงมาจากการละเมิดสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำมาก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น การวิสามัญฆาตกรรม กระทั่งถูกใช้ความรุนแรงตอบโต้ (มีกรณีวิสามัญฆาตกรรมที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการยิงปะทะ ครั้งใหญ่ๆ 2 ครั้งในเดือน ต.ค.) ซึ่งสื่อกระแสหลักหลายๆ สื่อก็รายงานความเห็นของอังคณาตามที่เธอพูด
ต่อมาได้มีเว็บเพจและแฟนเพจเฟซบุ๊คบางเพจนำบทสัมภาษณ์นี้ไปรายงานใหม่ โดยบิดเบือนให้เข้าใจว่า อังคณาพูดว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ซึ่งมีเจตนาทำลายสาธารณูปโภค และชีวิตทหารกับประชาชนผู้บริสุทธิ์นั้น “ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
เมื่อข้อความลักษณะนี้เผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดกระแสในโลกโซเชียลฯกระหน่ำโจมตีอังคณาอย่างรุนแรง บางรายใช้ถ้อยคำหยาบคาย และเรียกร้องให้ปลดจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือยุบหน่วยงานนี้ทิ้ง
เรื่องนี้กลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ผู้ที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน ก็อาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน
วิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย-บางคนใช้ในปฏิบัติการ “ไอโอสีดำ” ก็คืออาศัยแอบอิงช่องโหว่ช่องว่างจากนโยบายสนับสนุนให้กำลังพลหรือบุคลากรของหน่วยงานใช้โซเชียลมีเดียในการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของหน่วย โดยกลุ่มที่ปฏิบัติการ “ไอโอสีดำ” จะไปสร้างเว็บเพจกลางขึ้นมา ตั้งชื่อให้น่าสนใจ สอดคล้องกับภารกิจของหน่วย จากนั้นก็โพสต์ข้อมูลด้านมืดเข้าไป แล้วดึงกำลังพลหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ โดยตรงให้เข้ามากดไลค์หรือแชร์เว็บเพจที่ว่านี้
เมื่อมีคนกดไลค์ กดติดตาม หรือกดแชร์มากๆ เข้า ข้อมูลข่าวสารผ่านปฏิบัติการก็จะแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง ไม่เพียงแค่บุคลากรของหน่วย แต่ลุกลามไปถึงพี่พ้องน้องเพื่อน ครอบครัว และต่อเนื่องเป็นลูกโซ่สู่การเป็น “ข้อมูลสาธารณะ”
ปฏิบัติการเลือดเย็นนี้ เรียกกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีว่า “ให้มวลชนทำงานแทน” (แนวๆ ปลุกระดม) ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นการชกใต้เข็มขัดโดยใช้ข้อมูลบิดเบือน แต่คนเหล่านี้ก็ยังทำเพื่อหวังทำลายเป้าหมายซึ่งตนเชื่อว่า “อยู่ฝ่ายตรงข้าม” กับตนหรือหน่วยงานของตน หรือไม่ก็คิดว่ากำลัง "ทำเพื่อชาติ" อยู่
สถานการณ์เช่นว่านี้กำลังเป็นสงครามที่ร้อนแรงในปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมเป็นการกระทำของฝ่ายที่เราเรียกว่า “โจร” แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย-บางคนได้เปิดปฏิบัติการตอบโต้ “โจร” แต่หลังๆ เริ่มมันมือ หรือไม่ก็ร้อนวิชา จึงเล่นงานเลยเถิดไปถึงคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนบางแขนงที่เขาทำงานอย่างเป็นกลาง แต่ไม่ถูกใจเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย-บางคน
นี่คือความล้ำสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสาร หากใช้ในทางที่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม แต่หากนำไปใช้ในทางที่ผิด ย่อมทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นเหยื่ออารมณ์รุนแรงจากการปั่นกระแสบิดเบือน
คิดว่าวิธีแบบนี้จะสร้างสันติสุขได้กระนั้นฤา?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รวมภาพจากเว็บเพจที่ปฏิบัติการข่าวสารโจมตีบุคคลต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอบคุณ : ทีมกราฟฟิกหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ