ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เปิดแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 สร้างเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ให้มีรากแก้ว
“แนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 มาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ยืนด้วยขาของตนเองได้ระดับหนึ่ง วันนี้เราใช้หลักการพัฒนาอย่างสมดุล ความพอดี โดยไม่ละทิ้งประเทศไทยเชื่อมกับโลก”
วันที่ 16 พฤศจิกายน มูลนิธินิเทศศาสตร์ ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ จัดงาน Dinner Talk 2016 ในหัวข้อ “ทางรอด/ทางรุ่งของสื่อไทยยุค 4.0” เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของนักนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ในสถาการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ ถนนราชดำริ โดยมีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน
จากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนยุคใหม่กับการพัฒนาประเทศไทย 4.0”
เริ่มต้น ดร.สุวิทย์ ตอบคำถามที่ว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคไหนกันแน่ว่า "อยากจะบอกว่า โลกไม่ใช่ใบเดิมแล้วเรากำลังก้าวสู่ โลกยุคที่ 4 แล้ว โดยมีคนบอกว่า โลกยุคที่ 1 คือ Green Revolution เน้นเกษตรกรรม หัตถกรรม โลกยุคที่ 2 Industrialization การปฏิวัติอุตสาหกรรม เน้นอุตสาหกรรมเบา การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูก โลกยุคที่ 3 Globallization เน้นอุตสาหกรรมหนัก การลงทุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
วันนี้เราอยู่ในยุคเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย Fourth Industrial Revolution จนกระทั่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทครอบงำในเรื่องพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ในทางสังคมวิทยาบอกว่า เราต้องอยู่ในสังคมที่คนกับเทคโนโลยีไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มนุษย์จากนี้ไป เรียกว่า Digital humanities”
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า พลวัตรการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง 1.เกิดชุดของโอกาสชุดใหม่ ที่แตกต่างจากศตวรรษที่ผ่านมา 2. เกิดชุดของภัยคุกคามชุดใหม่ 3.เกิดชุดของข้อจำกัดชุดใหม่ พร้อมกันนั้น 4. ทำให้พวกเราจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถขึ้นมาชุดใหม่เช่นกัน
โลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเกี่ยวกับสื่อมวลชนโดยตรง
1.กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้โลกเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เกิดการเคลื่อนไหวอย่างเสรี ไม่เฉพาะเรื่องของทุนเท่านั้น มีเรื่องไอเดีย ทุนมนุษย์ ด้วย
2.โลกเปลี่ยนระบบการสื่อสาร (Digitalization) วันนี้เราสามารถติดต่อสื่อสารได้ทุกที่ ทุกวัน ทุกเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นเรากำลังอยู่ในโลกของ 2 อารยธรรมไปพร้อมๆ กัน คือ โลกจริง และโลกเสมือนจริง ไปพร้อมๆ กัน
3.โลกเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น (Individualization) หมายความว่าคนต้องการแสดงออกมากขึ้น มีเวทีให้แสดงออก สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนต่างคนต่างอยู่ แต่ยังรู้สึกว่า อยากจะอยู่ด้วยกัน อยากทำให้สังคมเป็นปกติสุข แต่เมื่อคนเป็นปัจเจกจะทำให้ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน ซึ่งสื่อมวลชนมีโอกาสทำให้เกิดได้ทั้งหมด
4.โลกต่อจากนี้ไป สุขก็จะสุขด้วยกัน ทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า โลก 4.0 ทุกคนมีอิสระมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้นยิ่งจำเป็นต้องพึ่งพิงกันมากขึ้น บริบทของการสื่อสารมวลชน จะเปลี่ยนแปลงเรื่องเนื้อหา ซึ่งจะถูกผลิตมาอย่างไร บริบทไหนเราควรนำเสนอ
สำหรับวัฒนธรรมที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวัฒนธรรมของการดำรงอยู่ วันนี้ใครสามารถแชร์องค์ความรู้ให้คนอื่นได้มากเท่าไหร่ คนนั้นมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น การสร้างองค์ความรู้ไม่เพียงพอแล้ว อนาคตการอยู่ในโลกอย่างมีความหมาย ต้องสร้างนัยยของสิ่งที่จะสื่อออกไปด้วย
โลกเก่าเรามองหาสิ่งไม่ดี ในสิ่งที่ดี ปัจจุบันเราต้องเรียนรู้ใหม่ ต้องเรียนรู้อีกด้านของสิ่งที่ไม่ดี ยกตัวอย่าง เรื่องโลกร้อน ในอนาคตเราจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกร้อน เรียนรู้สังคมคาร์บอนต่ำ นี่คือวัฒนธรรมของการดำรงอยู่ ในอนาคต
วัฒนธรรมการทำงานจากนี้ไป ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เป็นการทำงานที่เปิดมากขึ้น ที่แชร์กับคนอื่นมากขึ้น หลายๆ งานถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์จะหมดไป เราจะเตรียมแรงงานไทยสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร
หลายอย่างเป็นของมีค่า ในอดีตที่ต้องซื้อหา วันนี้ของหลายอย่างเป็นของฟรี NEA : nobody Own ,everybody can use it,everybody can improve it จึงนำมาสู่ โอเพ่นซอฟแวร์ เป็นต้น กระบวนทัศน์จากนี้ไปในโลก 4.0 ไม่ใช่เรื่องของทำ และขายออกไปแล้ว
ดร.สุวิทย์ กล่าวถึงสิ่งที่เราเคยเรียนรู้ในอดีตอาจจะใช้ไม่ได้เลย จึงมีคำ 3 คำ คือ learn เรียนรู้ Unlearn บางอย่างทิ้งไปได้เลยสิ่งที่เคยรับรู้ เข้าใจอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป บางอย่างต้อง relearn เรียนรู้ใหม่ภายใต้มุมมองใหม่ นี่คือพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไทยไม่ปรับไม่ได้แล้ว
ส่วนที่มาของไทยแลนด์ 4.0 ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อประเทศอื่นปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ศตวรรษที่ 21 เราจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ เราเจอแรงกดดันจากภายนอก พร้อมกับแรงปะทุจากภายใน ทั้งความขัดแย้งอย่างรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ และคอร์รัปชั่น
“ไทยแลนด์ 3.0 ปัจจุบัน เรามีอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น รถยนต์ อิเลคทรอนิกส์ ซึ่งไม่ใช่ของเรา เป็นของนักลงทุน ทำให้ไทยดูทันสมัย แต่ไม่พัฒนา เพราะไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสร้างคนรองรับให้ยืนบนขาของตนเองได้ ไทยแลนด์ 3.0 คือการปักชำ อยากได้อะไรก็ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ไปดึงดูดการลงทุนมา ปราศจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรงนี้ ทำให้เราเปราะบางเหลือเกิน เป็นประเทศที่รวยกว่านี้ไม่ได้แล้ว เครื่องยนต์ที่ใช้มากว่า 50 ปี ช่วงแรกเหมือนว่าจะดี มีการเติบโต 7-8% หลังจากนั้น ไม่เคยเห็นตัวเลขนี้อีกเลย นี่คือกับดัก ไทยแลนด์ 3.0 เกิดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน รวยกระจุก รวมทั้งรวยยาวๆ ไม่ได้ เผชิญกับกับดักความไม่สมดุล”รมช.พาณิชย์ กล่าว และว่า จริงๆ แล้ว ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการสรุปบทเรียนมาจากไทยแลนด์ 3.0 พร้อมๆ กับมองบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ดร.สุวิทย์ ยืนยันว่า เรากำลังสร้างความมั่นคั่งขึ้นมาใหม่ จำเป็นต้องมี เครื่องยนต์เครื่องใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ขณะเดียวกันเราต้องการรวยแบบกระจาย เพราะจะทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลง ความขัดแย้งลดลง ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่งคั่ง มีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์จากความมั่นคั่งร่วมกัน และสร้างความยั่งยืน ผ่าน Green Growth Engine
“แนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 มาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ยืนด้วยขาของตนเองได้ระดับหนึ่ง วันนี้เราใช้หลักการพัฒนาอย่างสมดุล ความพอดี โดยไม่ละทิ้งประเทศไทยเชื่อมกับโลก”
ทั้งนี้ ไทยแลนด์ 4.0 ดร.สุวิทย์ เชื่อว่า เป็นจริงได้ จำเป็นต้องสร้างคนไทย 4.0 สร้างสังคม 4.0 คือ 3 H ความหวัง Hope เปี่ยมสุข Happiness และสมานฉันท์ Harmony ส่วนการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำอย่างไรอีก 10-20 ปี จากนี้ไปเราจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีบนขาของตัวเองได้ระดับหนึ่ง ฉะนั้น ไทยแลนด์ 4.0 เปลี่ยนตัวเองจากปักชำ เราต้องการรากแก้ว อย่างน้อยเราต้องสร้างเทคโนโลยีของเราเองระดับหนึ่ง
“หัวใจไทยแลนด์ 4.0 คือคน สร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 โดยหน้าตาคนไทย 4.0 ประกอบด้วย มีจิตใจงดงาม จิตสาธารณะ ความรับผิดชอบต่อสังคม สุขภาพแข็งแรง มีทักษะ และมีความรู้
หลักคิดของไทยแลนด์ 4.0 เราต้องการสร้างเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ คือ คนไทย 4.0 หากไม่สามารถสร้างได้อย่างอื่นตกหมด เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ชุดนี้มีรากแก้ว ไม่ใช่ปักชำ ยืมจมูกคนอื่นหายใจอีกต่อไป แม้ต้องใช้เวลาดีกว่าไม่เริ่มทำ อีกทั้งทำอย่างไรให้ 77 จังหวัดขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เริ่มขยายวงประชารัฐลงสู่ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อน ”
ฉะนั้น ไทยแลนด์ 4.0 เริ่มด้วยคน
ไทยแลนด์ 4.0 ก้าวข้ามเฟสแรกวิสัยทัศน์ไปแล้ว ณ วันนี้เฟสสอง อยู่ช่วงออกแบบ detail design เป้าหมาย ไทยแลนด์ 4.0 คือ ประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ทำอย่างไรให้ผู้คนรู้สึกอยากไปให้ถึงร่วมกัน