‘เอกชน’ เชื่ออีก 5 ปี ไทยมีสตาร์ตอัพมูลค่าเกินพันล้านเหรียญ
ภาคเอกชน เชื่อฟินเทคโตต่อเนื่อง-ดึงเม็ดเงินไหลสู่ภูมิภาค ห่วงไทยขาดเทคโนโลยี-บุคลากรรองรับ ทำฟินเทคสะดุด ด้านแบงก์ ย้ำไม่หวั่น เทคโนโลยีเปลี่ยน-สถาบันการเงินถูกท้าทาย เชื่อตัวจริงอยู่รอด
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2560 "เศรษฐกิจไทยก้าวอย่างไร ในยุคเทคโนโลยีป่วนโลก" โดยในงานมีการเสวนาหัวข้อ “เมื่อเทคโนโลยีใหม่ เขย่าภาคการเงิน”
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนต้องแข่งขัน ทฤษฎีการแข่งขันทางการตลาดแบบเดิมๆ ต้องฉีกทิ้งไป เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และบทบาทของสถาบันการเงินถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยี แต่กรณีนี้ก็เป็นทั้งโอกาส และอุปสรรค เพราะผู้บริโภคกล้าลองอะไรใหม่ ดังนั้นใครจะลองทำอะไรก็ได้ ในขณะเดียวกันก็พบว่า ธุรกิจเกิดและตายอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
"อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาคือ ทุกคนมองหาแต่อะไรที่ฟรี ก็เป็นเรื่องยากว่า ธุรกิจจะหาเงินอย่างไร ตรงนี้เป็นเหรียญสองด้าน เพราะโอกาสและอุปสรรคอยู่ที่เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความน่าเชื่อถือ ยังเป็นพลังของการเป็นสถาบันการเงิน"
ดร.อนุชิต กล่าวถึงภาคการธนาคารต้องมีการปรับตัว ในลักษณะที่คิดทำลายธุรกิจตัวเองก่อนที่คนอื่นจะมาทำลาย อีกทางรอดคือ เมื่อถูกธุรกิจอื่นเข้ามาแย่งธุรกิจ ธนาคารก็ต้องขยายสู่ธุรกิจอื่น เพื่อหารายได้ ยกตัวอย่าง บัตรเครดิตเมื่อแข่งกันมากๆ ไม่มีกำไรก็ต้องขายอย่างอื่นประกอบเข้าไป เป็นต้น ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า ธนาคารเป็นธุรกิจที่เป็นไปตามวัฎจักร ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ช่วงขึ้นก็มีความท้าทายในการประกอบธุรกิจ แต่พอขาลงจะกวาดคนที่ไม่แข็งแรงออกไป ตัวจริงถึงจะอยู่รอด
"ความเปลี่ยนแปลงเปรียบเหมือนสึนามิ ทำอย่างไรที่เราจะมองเป็นโอกาส ขี่คลื่นและไปให้ไกลให้ได้"
ด้านนายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่าในปี 2555 ประเทศไทยระดมทุนกับสตาร์ตอัพได้เพียง 2 ล้านเหรียญ ขณะที่ปี 2559 เพียงครึ่งปีสตาร์ตอัพไทยระดมทุนได้แล้ว 138 ล้านเหรียญ และคาดว่าในปีนี้จะระดมทุนได้ทั้งสิ้นประมาณ 250 ล้านเหรียญ ในจำนวนนี้เป็นการระดมทุนฟินเทค (fin tech) มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท อีกทั้งข้อมูลยังชี้ว่า สตาร์ตอัพที่เป็นตัวท็อปของประเทศล้วนเป็นฟินเทคทั้งสิ้น
“สตาร์ตอัพประเทศไทยเริ่มต้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน ส่วนฟินเทคพึ่งเริ่มปีนี้ และหากไปดูจะพบว่า สตาร์ตอัพในอินโดนีเซียเพียงตัวเดียวมีมูลค่าเกือบ 500 ล้านเหรียญ หรือมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินในประเทศไทยถึง 2 เท่า แต่ในอนาคตเชื่อว่า เม็ดเงินจะไหลเข้าไทยมากขึ้น และไม่ใช่แค่อาลีบาบาเท่านั้นที่มาไทยจะมีเจ้าอื่นเข้ามาอีก”
นายเรืองโรจน์ กล่าวถึงการที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งมีเงินระดมทุนฟินเทคประมาณ 500,000 ล้านบาท เชื่อว่าต่อไปเม็ดเงินต้องมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) แน่นอน เพราะราคายังถูก อินเดียฟองสบู่สตาร์ตอัพใกล้แตก ประกอบกับ Southeast Asia เป็นเผ่าพันธุ์ที่ชอบแชท เมื่อโลกจะเปลี่ยนจากโมบาย เฟิร์ส (Mobile First) กลายเป็น AI first ทุกคนจะยิ่งตัดสินใจจากการแชท ค้นหาจากอินเทอร์เน็ต ฟินเทคจึงมีแนวโน้มโตมากขึ้น
นายเรืองโรจน์ กล่าวด้วยว่า ฟินเทคไทยเป็นเรื่องสำคัญมาก และฟินเทคไทยแตกต่างจากชาติอื่นพอสมควร หากมองในแง่ของขนาด เทียบกับการลงทุน จำนวน คุณภาพ จะพบว่า มีอัตราส่วนที่มากกว่าประเทศอื่น 30% แต่สิ่งที่จะทำให้เราไปต่อไม่ได้ คือเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะดึงดูดให้ Tech Talent จากทั่วโลกสนใจมาทำงานที่ไทย
ทั้งนี้ นายเรืองโรจน์ เชื่อว่า อีก 5 ปีต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านที่สำคัญ อย่าประมาท ขณะเดียวกันเชื่อว่า ประเทศไทยจะมีสตาร์ตอัพที่เป็น ยูนิคอร์น (Unicorns) คือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญขึ้นไปเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันบ้านเรายังไม่มียูนิคอร์น เช่นเดียวกับลาว พม่า กัมพูชา ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียมียูนิคอร์นเต็มไปหมด