ดร.สุเมธ เล่าเรื่องในหลวง "โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ท่านไม่เคยเปลี่ยนแนวทาง"
"จะทำอะไรนั้นให้เริ่มจากฝันก่อน นัยยะของพระองค์ท่านคือเวลาเราฝันแล้ว มันจะไม่มีขอบจำกัด เราสามารถสร้างจินตนาการไปได้ไกล และเมื่อฝันเสร็จแล้วเราก็กล้บมาสู่โลกความเป็นจริง จะทำอะไรได้เท่าไหร่นั้นก็มาว่ากันอีกที"
วันที่ 16 พฤศจิกายน ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) จัดงาน “Global Innovation Talk” เรื่อง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรงมหาภูมิพลอดุลยเดชกับนวัตกรรมเพื่อสังคมไทย (King Bhumibol Adulyadej and Innovation for social development)" ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา ห้องประชุม 801 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงพระอัจฉริยภาพในด้านการประดิษฐ์ของในหลวง ร.9 โดยเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเสมอว่า "จะทำอะไรนั้นให้เริ่มจากฝันก่อน นัยยะของพระองค์ท่านคือเวลาเราฝันแล้ว มันจะไม่มีขอบจำกัด เราสามารถสร้างจินตนาการไปได้ไกล และเมื่อฝันเสร็จแล้วเราก็กล้บมาสู่โลกความเป็นจริง จะทำอะไรได้เท่าไหร่นั้นก็มาว่ากันอีกที"
ดร.สุเมธ เล่าวถึงการได้มีโอกาสได้ถวายงานในหลวง ร.9 นั้น ถือได้ว่า ถวายงานเพียงแค่ครึ่งเดียวของระยะเวลาการทรงงานของท่านทั้งหมด ท่านทรงงานมาทั้งหมด 70 ปี
"ผมได้ถวายงานท่าน 35 ปี พอดี ท่านไม่เคยเปลี่ยนแนวทาง โลกจะเปลี่ยนอย่างไร ทิศทางการบริหารประเทศจะเปลี่ยนไปยังไง พระบาทสมเด็จเพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยเปลี่ยนแนวทางเลย แนวทางที่ว่า คือ พยายามดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้กระทั่งอะไรที่มันถูกทำลายไปพยายามจะค้นหาวิธีการที่จะเอากลับคืนมาให้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ ไม่ว่าจะเป็นป่า ท่านไม่เคยเปลี่ยนแนวทาง เหมือนกับที่พระองค์ท่านทรงรับสั่งตอนเสด็จขึ้นครองราชย์ รับสั่งอย่างไรทำอย่างนั้น เพียงแต่คนไทยนั้นอาจจะไม่สนใจสิ่งที่ท่านทำ สนใจแต่จะได้เห็นบารมีพระองค์ท่าน
คนไทยชอบเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองท่านเลยว่า ท่านทำอะไร ปิติยินดีกับการเห็น แต่ไม่เคยแสวงหาเลยว่า ทรงทำอะไร ทำอย่างนั้นทำไม ทรงเสด็จไปตรงนั้นเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นความรู้จึงไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย"
ดร.สุเมธ กล่าวถึงความโชคดีที่ได้มีโอกาสถวายงานพระเจ้าอยู่หัว และโชคดีซ้ำสองเพราะได้เป็นนักเรียนของพระองค์ท่าน ในปีพ.ศ. 2534 วันแรกที่เข้าไปถวายงานนั้น ได้ทราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าทุกข์ใจมาก พระเจ้าอยู่หัวทรงถามกลับว่า ทำไม เป็นอะไร ผมตอบกลับไปว่า เกรงว่าจะถวายงานไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ข้าพระพุทธเจ้าจบรัฐศาสตร์การฑูต ใฝ่ฝันอยากจะเป็นฑูต จะได้ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกสมปรารถนา เพราะฉะนั้นผมไม่พร้อมที่จะถวายงานและไม่มั่นใจว่าจะถวายได้ พระองค์ท่านบอก ไม่รู้เรื่องน้ำ ไม่รู้เรื่องดิน ไม่เป็นไร ฉันจะสอนให้เอง ในตอนนั้นผมอาจจะแปลกกว่าคนอื่นเขา เพราะคนอื่นเขาตามเสด็จเพื่อจะถวายงาน ส่วนผมเป็นนักเรียนและเรียนยาวนานที่สุดเรียนถึง 35 ปี ไม่จบด้วย แต่บังเอิญท่านหยุดสอนก่อน ก็เหลือแต่วิชาที่พระองค์ท่านทรงทิ้งไว้ให้"
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกถึงแนวทางการสอนของพระองค์ท่าน สอนแม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ เพราะคนสมัยนี้สนใจแต่สิ่งอะไรที่จับต้องได้ อะไรที่จับต้องไม่ได้ไม่ค่อยจะสนใจ หลงใหลไปกับความร่ำรวย เงินทอง
"พระเจ้าอยู่หัวทรงเคยตรัสว่า การทำดีนั้นทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่จำเป็นต้องทำ จึงมีโครงการในพระราชดำริถึง 4,447 โครงการ เวลาพระองค์ท่านจะเสด็จไปที่ไหนก็จะสร้างแนวคิดใหม่ๆอยู่ตลอด โดยแนวคิดของพระองค์นั้นเป็นลักษณะผสมผสานแนวคิดต่างๆที่น่าทึ่งมาก คนอื่นทั่วไปคงคิดว่า ห้องทดลองจะต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่สำหรับพระองค์ท่านห้องทดลองคือการใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์และใช้ธรรมชาติแก้ไขธรรมชาติ
ความรู้สึกของผมอันนี้ถือเป็นสุดยอดของศิลปะ ผมมองเป็นศิลปะด้วยซ้ำไป อย่างกรณีดินพังทลาย พวกเราก็นึกว่า เอารถแท็คเตอร์ตักดิน แต่พระองค์ท่านนึกถึง หญ้าแฝก ไม่มีใครรู้ว่ารากมันลงลึกไปในชั้นใต้ดิน 7-8 เมตร นำไนโตรเจนจากอากาศลงไปอยู่ในดินทำให้สภาพดินดีขึ้นและรากมันมั่นคงเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต "
ดร.สุเมธ เล่าต่อว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงชนะกรมอุตุฯ ตอนนั้นมีพายุใต้ฝุ่นลูกหนึ่งจะเข้าเมืองไทย กรมอุตุฯ ออกมาเตือนให้ชาวกรุงเทพฯ เตรียมพร้อม ตอนเช้าก็ออกมาเตือน พอใกล้ๆเที่ยงพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ไม่เข้า เราก็งงว่ากรมอุตุฯ ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีระดับสูง ทั้งภาพมุมสูงและภาพถ่ายทางอากาศ
"ผมก็ถามพระองค์ท่านว่า ทำไมทรงทราบ ผมก็งงว่า ท่านใช้ข้อมูลอะไร ท่านทรงรับสั่งว่า ฉันผูกดวง ฉันสงสัยว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มันแปลกๆก็เลยลองผูกดวงดู ณ จังหวะนั้นไม่มีดาวลมกับดาวน้ำอยู่ในพื้นที่เลย ฉันเชื่อศาสตร์เก่า ดูฟังพยากรณ์ดาราศาสตร์
ปรากฎว่า ท่านชนะ พายุไม่เข้าจริงๆ พายุเข้าเวียดนามแล้วก็เปลี่ยนไปเข้าประเทศจีนแทนไม่เข้ากรุงเทพฯ แม้แต่น้อย ด้วยความเคารพพระองค์ท่านทรงใช้ศาสตร์ทุกศาสตร์จังหวะไหนควรใช้ศาสตร์อะไร ให้ทุกจังหวะตั้งอยู่บนความพอเพียงตลอดเวลา"
ดร.สุเมธ กล่าวถึงนวัตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าจะนึกถึงผลประโยชน์ที่ทำให้รวยอย่างเดียวคงไม่เหมาะสม เวลานี้โลกทั้งโลกกำลังเผชิญกับการแข่งขัน เพราะจำนวนคนกับทรัพยากรมันแย่งชิงกัน ต้องแบ่งปันกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้ตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์เมืองไทยนั้นโชคดี โชคดีที่มีอาหาร เราเป็นแค่ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีวัตถุดิบของอาหาร แต่น่าเศร้าที่ไม่เคยมีใครเอาจุดเด่นตรงนี้สร้างช่องทางหรือแนวคิด
"ตอนนี้จะมาขายวัตถุดิบไม่ได้แล้ว หมดยุคแล้ว เราต้องแปรรูปสร้างแนวคิดใหม่ๆ แม้กระทั่งเศรษฐี ก็จะไม่มีกิน ในทะเลทรายเต็มไปด้วยน้ำมัน แต่ไม่สามารถจะดื่มน้ำมันแทนน้ำได้ เพราะฉะนั้นสำคัญคือจะต้องแบ่งปันกัน
วันนี้ท่านทรงเสด็จจากพวกเราไปแล้วก็เหมือนศาสดาพระเยซู ก็ไม่อยู่กับเรา จากไป 2 พันปีแล้ว พระพุทธเจ้าจากเราไป 2559 ปีแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้วคำสอนท่านยังอยู่และโครงการ 4,447 โครงการ คือบทเรียน 4,447 บทเรียน อยู่ใกล้ที่ไหนเดินเข้าไปศึกษาได้เลย ไม่มีหวงสักแห่งหนึ่ง ขอให้เอาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์"