“ความพอเพียง” นำพาสังคมไทยลดการทุจริต
น้อมนำพระบรมราโชวาทมาใช้ในการดำเนินชีวิต
ตอนที่ 4 “ความพอเพียง” นำพาสังคมไทยลดการทุจริต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการมาโดยตลอด องค์ที่สำคัญมาก คือ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในโอกาสเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ความว่า
“…ภายในเวลา 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญ คือ ต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง…”
จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 หลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 69 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีสาระสำคัญให้
“ให้ทุกภาคส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐโดยมุ่งเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้” นี่คือ “เจตนารมณ์ทางการเมือง” (Political Will) ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจตนารมณ์ทางการเมืองนี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการปราบการคอร์รัปชันที่บั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ รวมถึงสร้างปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้นมาโดยตลอด ทำให้ทุกรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยประกาศเป็นนโยบายสำคัญ แต่ยังหาผลสัมฤทธิ์ไม่ได้
“คอร์รัปชัน” เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรง จนเป็น “วัฒนธรรม” ของส่วนราชการ โดยอ้างว่าต้องมีเงินบริหารพิเศษเพื่อรับรองบุคคลที่มาเยี่ยมเยือน ทั้งที่มาราชการและส่วนตัว บางครั้งนโยบายหรือการสั่งการของหน่วยเหนือได้สร้างปัญหาค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยรอง ทำให้มีคำถามว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนหรือคู่สัญญาของรัฐ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกรับเงินของส่วนราชการ เพื่อใช้ในการรับรองและค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากงบประมาณ ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่กฎหมายแล้วเป็นการประพฤติ “มิชอบ” ด้วยการเรียกรับ “สินบน”
บางส่วนราชการเลี่ยงด้วยการจัดกิจกรรมหารายได้ เช่น การจัดแข่งขันกอล์ฟ โบว์ลิ่ง ฯลฯ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 ซึ่งระเบียบนี้ครอบคลุมถึงการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไปเป็นประธานจัดกิจกรรมเรี่ยไร และเข้าข่ายผิดกฎหมายสรรพากรอีกด้วย
เมื่อพูดถึง “ประพฤติมิชอบ” นักการเมืองที่เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนไม่ค่อยให้ความสนใจและมักพูดว่า “กฎหมายไม่ได้ห้าม” แต่เมื่อดูในประมวลกฎหมายอาญาได้ให้นิยามว่า “ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คำสั่งผู้บังคับบัญชา มติคณะรัฐมนตรี แบบธรรมเนียมของทางราชการ หรือตามทำนองคลองธรรม” ซึ่งหมายถึง ไม่เป็นไปตามที่ถูกที่ควร ทำให้ฐานความผิดนี้ มีความหมายกว้างมาก จึงมีการกระทำผิดกันอย่างดาษดื่น ทั้งรู้และไม่รู้ว่า “ผิด” เมื่อมีการหาเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติราชการได้ สิ่งที่ตามมา คือ การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อันมีสาเหตุมาจาก “ความโลภ” ที่ฝังอยู่ในใจของคนก็เกิดขึ้น
แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์พิเศษเช่นในขณะนี้ ก็ยังมีการกระทำจนเป็นเรื่องปกติ โดยอ้างว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน” และไม่มีการลงโทษกันอย่างจริงจังจนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างที่เห็นเชิงประจักษ์ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นคนที่ “เคยดี” ต้องมาเสียคนเมื่อมีอำนาจรัฐในมือ เผลอไผลใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นต้นตอของการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นอย่างที่เห็น
แนวทางการแก้ไขความโลภในจิตใจมนุษย์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งมี “3 หลักการ 2 เงื่อนไข” ได้แก่ “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” ภายใต้เงื่อนไข “ความรู้ควบคู่คุณธรรม” ที่หมายถึง “ซื่อสัตย์สุจริต อดทน อดกลั้น อดออม”
แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ต่างประเทศได้นำไปสอนคนในชาติ โดยเฉพาะประเทศภูฎานที่นำไปปลูกฝังให้กับประชาชนและยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเป็นปราชญ์ของประเทศ ได้เสนอความเห็นว่า “พระองค์แสดงให้เห็นจากแนวคิดนี้ว่า บ่อเกิดของการคอร์รัปชันส่วนมากมาจากความโลภของบุคคลในองค์กร” พร้อมกับยกย่องพระองค์ว่า “เป็นผู้นำที่มีชีวิตเรียบร้อยเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นหนทางในการป้องกันคอร์รัปชัน”
ควร “ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยจิตพอเพียง” เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยเริ่มรณรงค์ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไป น้อมนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เป็นวิถีชีวิต และขยายผลไปสู่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ทุกระดับ ดังนั้น เมื่อบุคคลบุคคลระดับผู้นำของประเทศมีวิถีชีวิตอย่าง “พอเพียง” ตามข้อเสนอนี้ ก็จะ “ไม่ทุจริตเสียเอง” ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเตือนไว้และจะสามารถควบคุมกำกับดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในองค์กรที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงเป็น “แบบอย่าง” ให้กับสาธารณชนที่มาจากภาคการเมืองซึ่งเข้ามาร่วมใช้อำนาจรัฐด้วยกัน หากเป็นเช่นนี้ ประเทศชาติหลุดพ้นจากการทุจริตผิดกฎหมายคอร์รัปชันต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น ในการขับเคลื่อนสร้างค่านิยมสุจริต จึงได้มีการกำหนดให้มีการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริตโดยกำหนดไว้ในกลยุทธ์ที่ 3 ของยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) และ เนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 17 ปี ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัดงานภายใต้แนวคิด “ซื่อสัตย์ สุจริต ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท” โดยมีพิธีทำบุญตักบาตร พิธีพราหมณ์สักการะบูชาพระภูมิ-เจ้าที่ พิธีมอบรางวัลแก่บุคลากรสำนักงาน ป.ป.ช. คือ รางวัลเพชรน้ำเอก และรางวัลสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่มีผลงานด้านการประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนดีเด่นและจัดแสดงนิทรรศการซื่อสัตย์ สุจริต ตามรอยเบื้อง พระยุคลบาท เพื่อนำหลักธรรมะ พระราชจริยาวัตร และพระราชดำรัสที่เป็นแบบอย่างดังกล่าว น้อมนำไปปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทสืบไป อันเป็นพื้นฐานในการลดปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืนหากทุกคนในสังคมดำรงตนด้วย ความซื่อสัตย์สุจริต อยู่อย่างพอเพียง
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะการเชิดชูคนดีให้ปรากฏต่อสังคม จึงขอเชิญชวน ให้ประชาชนร่วมเป็นพลังเครือข่ายช่วยกันป้องกันการทุจริต เริ่มต้นจากครอบครัว ผู้ปกครองต้องปลูกฝัง ให้ลูกหลานมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ต่อต้านการทุจริต ช่วยกันสอดส่องดูแลโดยพึงระลึกเสมอว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” (Zero Tolerance & Clean Thailand) หากพบเห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้โทรแจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช. WWW.NACC.GO.TH หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด
ขอบคุณภาพประกอบจาก : chaoprayanews.com