ศอ.บต.ชงงบอุดหนุนมัสยิดละหมื่น เพิ่มค่าตอบแทน “อิหม่าม-คอเต็บ-บิหลั่น” เดือนละ 3 พัน
การประชุมของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ม.ค.2555 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2555 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 ม.ค.นี้ มีผลการประชุมบางประการที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะการเสนอของบประมาณเพื่อเป็นเงินอุดหนุนมัสยิดแห่งละ 10,000 บาท และเพิ่มค่าตอบแทนแก่อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่ได้เพียงเดือนละ 1,000 ถึง 1,200 บาทเท่านั้น
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมดังกล่าว ระบุว่า จากความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามมติของ กพต.ที่ผ่านมา ได้มีการเร่งรัดให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยทำโครงการต่างๆ มากมาย เช่น โครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล, โครงการมาตรการรักษาความปลอดภัยครู, การเตรียมความพร้อมรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่ง ศอ.บต.ได้เน้นการบูรณาการด้านการศึกษา พัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้นักเรียนได้มีความรู้และความพร้อมสู่เวทีประชาคมอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิ
นอกจากนั้นยังมีการเสนอให้เงินอุดหนุนแก่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบเงินให้มัสยิดแห่งละ 10,000 บาท จำนวน 2,334 แห่ง พร้อมเงินสนับสนุนค่าตอบแทนแก่อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาทต่อเดือน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า สาเหตุที่ต้องเพิ่มเงินอุดหนุนมัสยิด และค่าตอบแทนแก่อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เพราะเห็นว่าค่าตอบแทนที่มอบให้เดิมนั้นน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ผู้นำศาสนาทุกระดับมีส่วนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ดูแลด้านศีลธรรมและความสงบเรียบร้อยในสังคม ถือเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกครั้งที่ผ่านมา พบว่าผู้นำศาสนาคือกลุ่มคนที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาและไว้วางใจสูงสุด
“หลังจากนี้ ศอ.บต.มีแนวคิดดึงพลังจากมัสยิดและผู้นำศาสนามาช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะดำเนินโครงการ 1 มัสยิด 1 ศูนย์บำบัด เพื่อดูแลรักษาผู้ติดยาเสพติดในชุมชนซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้ป่วย นอกจากนั้น ศอ.บต.ยังมอบบทบาทให้ผู้นำศาสนาเป็นข้อต่อเชื่อมความเป็นธรรม รับร้องเรียนเรื่องราวความไม่เป็นธรรมต่างๆ จากประชาชน และรับเรื่องขอรับเงินเยียวยาจากพี่น้องในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการใช้พลังทางศาสนาและพหุวัฒนธรรมซึ่งมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ให้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ พร้อมทั้งเป็นข้อต่อเชื่อมความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนมีความไว้วางใจและมั่นใจในการทำงานของภาครัฐมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
อนึ่ง สำหรับการปรับเงินตอบแทนให้กับอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่นนั้น ขั้นตอนหลังผ่านความเห็นชอบจาก ศอ.บต.แล้ว จะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กพต. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งจะประชุมกันครั้งต่อไป ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี 2555 ในวันที่ 30 ม.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ หาก กพต.ให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น โดยการปรับเงินตอบแทนครั้งสุดท้าย ปรับเมื่อกลางปี 2552 จากค่าตอบแทนหลักร้อยต่อเดือน เป็นอิหม่าม 1,200 บาทต่อเดือน และคอเต็บ กับ บิหลั่น 1,000 บาทต่อเดือน
รับ 6 ข้อเสนอชมรมตาดีกา-ดึงศักยภาพครูร่วมพัฒนาพื้นที่
ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะเลขาธิการ ศอ.บต.ยังได้ร่วมประชุมหารือเพื่อรับฟังข้อเสนอเเนะและคำปรึกษาต่างๆ กับคณะทำงานของมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในที่ประชุมได้มีข้อเสนอต่อ ศอ.บต.จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย
1.ขอสนับสนุนโควต้าตามโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต.จำนวน 200 คนให้ครูตาดีกาได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ
2.ขอสนับสุนนงบประมาณในการจัดงานมหกรรมตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่
3.ขอสนับสนุนเพิ่มอัตราจำนวนค่าตอบแทนของครูตาดีกา ซึ่งปัจจุบันครูตาดีกาได้รับการจัดสรรค่าตอบแทนโรงเรียนละ 4 คน คนละ 2,000 บาทต่อเดือน อยากให้ ศอ.บต.เพิ่มจำนวนครูตาดีกาที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 4 คนเป็น 6 คนต่อเดือน
4.อยากให้ ศอ.บต.จัดโครงการพัฒนาครูผู้สอนในโรงเรียนตาดีกาโดยการอบรมสัมมนา
5.ให้ ศอ.บต.สนับสนุนตำราเรียนแก่เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เช่น เด็กกำพร้า เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์
6.อยากให้ ศอ.บต.สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับครูตาดีกา และแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าครูตาดีกามีส่วนร่วมในการปลูกฝังให้เยาวชนมีความคิดเห็นตรงข้ามกับหน่วยงานภาครัฐ
ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อ ศอ.บต.รับไว้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และตลอดการประชุม พ.ต.อ.ทวี ได้นั่งรับฟังข้อเสนอแนะด้วยตัวเองจนจบ สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับคณะทำงานของมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก
นายแวดาโอ๊ะ หะยีสาเม๊าะ ประธานชมรมฟัรดูอีนตาดีการะดับจังหวัดประจำจังหวัดยะลา ตัวแทนคณะทำงานตาดีกาทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เขาและสมาชิกทุกคนต่างรู้สึกดีใจที่ ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ รับฟังและรับปากจะดำเนินการตามข้อเสนอทุกข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงศักยภาพของครูตาดีกาออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด และให้โรงเรียนตาดีกามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับโรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบันมี 2,197 แห่ง แยกเป็น จ.ปัตตานี 636 แห่ง นราธิวาส 679 แห่ง ยะลา 485 แห่ง สงขลา 222 แห่ง และสตูล 175 แห่ง มีผู้เรียนจำนวน 152,348 คน ครูผู้สอน 11,887 คน โดยตาดีกาคือศูนย์กลางการศึกษาอิสลามประจำมัสยิด เป็นแหล่งเรียนรู้อิสลามขั้นพื้นฐานที่ต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีความรู้ความเข้าใจหลักการศรัทธาและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน