พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต
น้อมนำพระบรมราโชวาทมาใช้ในการดำเนินชีวิต
ตอนที่ 1 พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติโดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และได้เสด็จออกผนวช ณ พระอุโบสถวัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 เป็นเวลา 15 วัน จึงได้ทรงนำเอาหลักธรรมมายึดมั่น ในการปกครองประเทศ เรียกว่า ธรรมสำหรับพระราชา ได้แก่
1. ทศพิธราชธรรม 10 คือ ธรรมในการใช้พระราชอำนาจและบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ ประกอบด้วย (1) การให้ (2) การบริจาค (3) ความประพฤติดีงาม (4) ความซื่อตรง (5) ความอ่อนโยน (6) ความทรงเดช (7) ความไม่โกรธ (8) ความไม่เบียดเบียน (9) ความอดทน (10) ความไม่คลาดเคลื่อนในธรรม
2. จักรวรรดิวัตร 12 คือ ธรรมอันเป็นพระจริยานุวัตร ทรงถือและอาศัยธรรมข้อนี้เป็นหลักสำหรับการปกครองประเทศ ประกอบด้วย (1) ควรอนุเคราะห์คนในราชสำนักและคนภายนอก ให้มีความสุขไม่ปล่อยปละละเลย (2) ความผูกไมตรีกับประเทศอื่น (3) ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ (4) ควรเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดีและคฤหบดีชน คือเกื้อกูลพราหมณ์และผู้อยู่ในเมือง (5) ความอนุเคราะห์ประชาชนที่อยู่ในชนบท (6) ควรอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ ผู้มีศีล (7) ควรจักรักษาฝูงเนื้อ นก และสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธ์ (8) ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตนเองให้อยู่ในกุศลสุจริต (9) ควรเลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบการทุจริตและอกุศลต่อสังคม (10) ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศลและอกุศลให้แจ่มชัด (11) ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ไม่ควรเสด็จ (12) ควรระงับความโลภมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้
3. ราชสังคหวัตถุ 4 คือ พระราชจริยาวัตรอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวนำใจประชาชนสำหรับเป็นแนวทางในการวางนโยบายปกครองบ้านเมืองเป็นหลักธรรมอันเป็นเครื่องช่วยในการวางนโยบายบริหารบ้านเมืองให้ดำเนินไปด้วยดี ประกอบด้วย (1) สัสสเมธะ ความเป็นผู้ฉลาดปรีชาในการพิจารณาถึงผลิตผลอันเกิดขึ้นในแผ่นดินแล้วพิจารณาผ่อนผันจัดเก็บเอาแต่บางส่วนแห่งสิ่งนั้น (2) ปุริสเมธัง ความเป็นผู้ฉลาดในการดูคนสามารถเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ให้ความถูกต้องและเหมาะสม รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ (3) สัมมาปาสะ การบริหารงานต้องใจประชาชน ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ (4) วาจาเปยยะ ความเป็นบุคคลที่มีวาจาไพเราะ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวตามเหตุการณ์ ตามฐานะและตามความเป็นธรรม เป็นวาจาอันประกอบด้วยเหตุผลมีประโยชน์เป็นทางแห่งความสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและความนิยมเชื่อถือ
การนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครองประเทศดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าทรงยึดมั่นในความประพฤติดีงาม ความซื่อสัตย์สุจริต และความไม่โลภ จะเห็นได้อีกว่ามิใช่เพียงยึดมั่นในธรรม แต่ได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างจริง ในพระราชจริยาวัตรต่าง ๆ โดยแสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย ประหยัด พอเพียง และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์อื่นใด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะปลูกฝังให้คนไม่โลภซึ่งความไม่โลภเป็น บ่อเกิดของความซื่อสัตย์สุจริต ได้แก่
1. ห้องทรงงาน ในพระตำหนักจิตรลดา เป็นห้องขนาดเล็ก 3 x 4 เมตร มีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ และเคยมีพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่งว่า “....สำนักงานของท่านคือห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น แล้วท่านก้มอยู่ที่พื้น....” ครั้งใดที่ออกตรวจภายนอกจะทรงรับสั่งกับข้าราชการบริหารเสมอว่า ให้นั่งรถร่วมกัน เรียกว่า “นั่งรถหารสอง” เพราะนั่งคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลืองอีกทั้งไม่โปรดให้มีขบวนยาวเหยียดด้วย ภายในรถยนต์พระที่นั่งเรียบง่าย มีเพียงถังขยะเล็ก ๆ กับที่ทรงงานเท่านั้น
2. ฉลองพระองค์และเครื่องประดับ ฉลองพระองค์ธรรมดา ห้อยกล้องถ่ายภาพเป็นที่พระศอ มิทรงโปรดสวมใส่เครื่องประดับใด ๆ ยกเว้นนาฬิกาข้อมือ และเมื่อฉลองพระองค์ชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ โปรดให้ชุนบ้าง เปลี่ยนยางยืดบ้าง ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ตัดใหม่ นอกจากนี้ ฉลองพระบาทที่เก่าจนแทบซ่อมไม่ได้ พระองค์ก็ยังไม่ทิ้ง นำไปซ่อมแล้วนำกลับไปใช้ต่อ
3. หลอดยาสีพระทนต์ พระองค์ทรงใช้ด้ามแปรงรีดจนยาสีพระทนต์หมดจนเกลียวคอหลอด เป็นสิ่งที่คอยเตือนใจให้ประชาชนรู้จักประหยัด อดออม พอเพียง รู้จักใช้ ไม่ใช้ของฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
4. เรือใบฝีพระหัตถ์ ทรงต่อเรือใบด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วยวิธีการง่าย ๆ จากเครื่องมือช่างไม้ธรรมดาและวัสดุราคาประหยัด สามารถหาได้ภายในประเทศ เป็นสิ่งที่คอยสอนให้ประชาชน มีความมานะบากบั่น
5. ข้าวผัด 1 จาน เมื่อปี 2527 เสด็จเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อกลับจากทำภารกิจ ได้มีข้าราชการหลายคน เข้าไปในโรงครัวเพื่อกินข้าวผัดแห้งๆ ติดก้นกระทะ แต่มีข้าวผัดไข่ดาวอยู่ 1 จาน ถูกวางไว้ จะมีคนหยิบไปกิน มีเสียงตะโกนบอกว่าจานนั้นเป็นของพระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย พอเพียง
6. ดินสอที่มียางลบ พระองค์โปรดการใช้ดินสอแทนการใช้ปากกา เพราะเขียนผิดสามารถลบได้ง่ายทรงใช้ดินสอจนสั้นกุด และใช้เพียง 12 แท่ง ต่อปีเท่านั้น
7. เสียสละ พระองค์เสด็จไปปฏิบัติภารกิจ เยี่ยมราษฎรและแก้ไขปัญหา แม้เจอแดด เจอฝน เจอถนนขรุขระลำบาก ถิ่นทุรกันดาร ขับรถลุยน้ำเอง เดินลุยป่า แสดงให้เห็นถึงการเสียสละ ความสุขส่วนตน มุ่งทำประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างไม่ย่อท้อ ไม่หวาดหวั่นต่อความยากลำบาก
นอกจากพระจริยวัตร ที่ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับความไม่โลภ พอเพียง รู้จักใช้ ข้างต้น อันเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต ขึ้นในสังคมแล้ว พระองค์ท่านยังได้มีพระราชดำรัสในเกือบทุกโอกาส เพื่อปลูกฝังคนไทยในเรื่องนี้ในทุกแวดวงและทุกเพศทุกวัย ได้แก่
1. พระราชทานให้ภาคส่วนที่ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานอย่างไม่มีอคติ “อคตินั้น แปลว่าทำอะไรที่ไปในทางที่ไม่ควรจะไป ถ้าปราศจากอคติก็หมายความว่า ไปในทางที่ควรจะไป ทางที่ควรจะไปนั้นคืออะไร ก็คือความซื่อสัตย์ สุจริต ความเสียสละ ความตั้งใจแน่วแน่ ความตั้งใจที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การทำประโยชน์แก่ส่วนรวมนี้ ย่อมทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองด้วย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง ทำให้มีความพอใจ มีความสุขใจทุกอย่าง” (16 ธันวาคม 2525)
2. พระราชทานเพื่อปลูกฝังให้คนไทยนิยมชมชอบความซื่อสัตย์สุจริต “ถ้าเราขัดเกลาจิตใจ ของเรา จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่มีหน้าที่ใดๆ ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความเสียสละ ก็สามารถที่จะสร้างชีวิตที่มีความสุขที่มีประโยชน์ได้” (18 มีนาคม 2525)
3. พระราชทานแก่เยาวชนเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2531 “ ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์และมีชีวิต ที่สะอาดที่เจริญมั่นคง” หรือที่พระราชทานแก่คณาจารย์โรงเรียนต่างๆ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2523 “ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่า ผู้ที่มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริตไม่มีความบริสุทธิ์ใจ”
4. พระราชทานให้บัณฑิตในระดับอุดมศึกษา เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยรามคำแหง (8 กรกฎาคม 2520) “การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนาคือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต บริสุทธิ์ใจและความถูกต้องประกอบด้วย”
จากตัวอย่างข้างต้นทั้งธรรมสำหรับพระราชา พระราชจริยาวัตรที่ปฏิบัติตนให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง การปลูกฝังผ่านพระราชดำรัสเกือบทุกโอกาส ล้วนมีการสอดแทรกเรื่องการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตทั้งสิ้น จึงถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างหาที่สุดมิได้
ดังนั้น ในการขับเคลื่อนสร้างค่านิยมสุจริต จึงได้มีการกำหนดให้มีการประยุกต์หลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริตโดยกำหนดไว้ในกลยุทธ์ที่ 3 ของยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) และเนื่องในโอกาสวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 17 ปี ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัดงานภายใต้แนวคิด “ซื่อสัตย์ สุจริต ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท” โดยมีพิธีทำบุญตักบาตร พิธีพราหมณ์สักการะบูชาพระภูมิ-เจ้าที่ พิธีมอบรางวัลแก่บุคลากรสำนักงาน ป.ป.ช. คือ รางวัลเพชรน้ำเอก และรางวัลสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่มีผลงานด้านการประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนดีเด่น และจัดแสดงนิทรรศการซื่อสัตย์ สุจริต ตามรอยเบื้อง พระยุคลบาท เพื่อนำหลักธรรมะ พระราชจริยาวัตรและพระราชดำรัส ที่เป็นแบบอย่างดังกล่าว น้อมนำไปปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทสืบไป อันเป็นพื้นฐานในการลดปัญหาการทุจริตอย่างยั่งยืน หากทุกคนในสังคมดำรงตนด้วย ความซื่อสัตย์ สุจริต อยู่อย่างพอเพียง
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะการเชิดชูคนดีให้ปรากฏต่อสังคม จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเป็นพลังเครือข่ายช่วยกันป้องกันการทุจริต เริ่มต้นจากครอบครัว ผู้ปกครองต้องปลูกฝังให้ลูกหลานมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ต่อต้านการทุจริต ช่วยกันสอดส่องดูแลโดยพึงระลึกเสมอว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” (Zero Tolerance & Clean Thailand) หากพบเห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้โทรแจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเวบไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช. WWW.NACC.GO.TH หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด
ขอบคุณภาพประกอบจาก : click.senate.go.th