เกษตรอินทรีย์ เตือนระวัง “ผักเคมีสวมรอยปลอดสาร” ขายแพงในห้าง
“เครือข่ายตลาดสีเขียวเตือน” ผู้บริโภคระวังผักอินทรีย์ปลอมในห้าง หลอกขายผู้บริโภคราคาแพง “บ้านจำรุง” ชี้ช่องสำเร็จเกษตรอินทรีย์ชุมชน ต้องเริ่มจากชาวบ้านใส่ใจสุขภาพ ขยับทำตลาดเป็น
วันที่ 26 ม.ค. 55 เครือข่ายตลาดสีเขียว สำนักงานคณะกรรมการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวงานแสดงผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลผลิตตลาดสีเขียวชุมชน(กรีนแฟร์) ภายใต้หัวข้อ “พลังรัก...ความรักเปลี่ยนแปลงโลกได้” ณ บ้านสวนเรียนรู้ ราษฎร์บูรณะ 30
นายชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้นำชุมชนบ้านจำรุง อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันคนในชุมชนหันทำเกษตรอินทรีย์กว่า 100 ครัวเรือน เนื่องจากเห็นความสำคัญของสุขภาพที่ดีจากการทานอาหารปลอดสารเคมี นอกจากนี้ยังสามารถสร้างรายได้อีกด้วย ทั้งนี้ความสำเร็จโครงการเกษตรอินทรีย์เกิดจากการร่วมใจพัฒนาสุขภาพชาวบ้าน โดยใช้การตลาดเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว มีมีกิจกรรม ได้แก่ 1.ตั้งตลาดขายผักปลอดสารพิษทุกเสาร์-อาทิตย์ 2.ตั้งกลุ่มผลิตอาหาร 3.ตั้งร้านส้มตำจำรุง ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ติดตลาดในกลุ่มคนรักสุขภาพ แม้ภาครัฐไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังก็ตาม
ด้านนายสุเทพ กุลศรี สมาชิกศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ยั่งยืน จ.ปทุมธานี กล่าวว่าจากการผลักดันให้หลายชุมชนรวมตัวตั้งกลุ่มผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ โดยให้ความรู้ รณรงค์เรื่องอาหารสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม การอยู่อย่างพอเพียง พบว่าวัยรุ่นให้ความสนใจมากขึ้นกว่าสมัยก่อนที่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ในอนาคตต้องการให้พืชเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของคนทุกกลุ่ม แต่ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้น เนื่องจากระยะแรกต้องใช้งบประมาณลงทุนสูง แต่ย้ำว่าราคาจำหน่ายสู่ผู้บริโภคไม่แพงอย่างที่คิด
“ขอเตือนคนรักสุขภาพระวังผักอินทรีย์ปลอมในศูนย์การค้า เครือข่ายตลาดสีเขียวปฏิเสธการจำหน่ายในทำเลเหล่านี้ เคยมีการเอาผักจากตลาดไทสวมรอยว่ามาจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให่ผู้บริโภคเกิดทัศนะคติไม่ดี แนะนำให้ซื้อจากแหล่งผลิต นอกจากจะเป็นของแท้ ยังราคาถูกด้วย” นายสุเทพกล่าว
ขณะที่ น.ส.แก้วตา ธัมอิน เครือข่ายมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าปัจจุบันเกษตรกรไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองเหมือนแต่ก่อน ส่งผลหลังเกิดอุทกภัยปลายปี 54 สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรมาก โดยเฉพาะการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชสวนครัว ทำให้หลายคนต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากเอกชนที่เจือปนด้วยสารเคมี เมื่อตระหนักถึงผลเสียจากสารเคมีที่เจือปนในเมล็ดพันธุ์พืชดังกล่าว ซึ่งอาจตกกระทบมาถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ มูลนิธิฯจึงจัดโครงการผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ขึ้น โดยร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ รวบรวมเมล็ดพันธุ์จากพื้นที่ต่างๆ ให้กับ 20 ชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมของ จ.นครสวรรค์ เพื่อให้พันธุ์พืชมีคุณภาพ ปลอดสารเคมี นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ กรีนแฟร์เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 49 เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารและตลาดทางเลือกให้ผู้ผลิตได้จำหน่ายผลิตผลเกษตรอินทรีย์ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าปลอดสารพิษ โดยงานจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 9–12 ก.พ.55 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.