การพ่ายแพ้ของฮิลลารีคลินตัน : บทเรียนจากการใช้ข้อมูล
ชัยชนะของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาอย่างพลิกความคาดหมายของโดนัลทรัมป์สะท้อนถึงความต้องการของสังคมอเมริกันที่ต้องการยาชนิดใหม่เพื่อรักษาอาการป่วยของอเมริกา เป็นตัวอย่างที่สังคมอเมริกันและสังคมโลกต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีและข้อมูลในการรณรงค์การเลือกตั้งตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้แต่ละฝ่ายจะมีเทคโนโลยีและทีมงานที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ข้อมูลก็ตาม แต่ถ้าหยิบข้อมูลไปใช้ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลถูกบิดเบือน ผลลัพธ์ก็จะเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นมีความจริงที่ต้องจดจำไว้ตลอดเวลาก็คือ เมื่อป้อนข้อมูลผิด ผลลัพธ์ก็จะผิดเสมอ(Garbage in Garbage out)
ก่อนการเลือกตั้งโพลแทบทุกสำนักให้ฮิลลารีเป็นต่อทรัมป์ด้วยกันทั้งสิ้น ยกเว้นศาสตราจารย์อัลลัล เจลิชท์แมนจาก American University ผู้เขียนหนังสือชื่อ Predicting the Next President : The Key to the White House2016 ที่มีความเห็นสวนกระแสโดยพยากรณ์ว่า ทรัมป์ จะเป็นผู้มีชัยในการเลือกตั้ง เป็นการพยากรณ์ที่ไม่เคยพลาดมาตลอด 30 ปี โดยใช้หลักการพยากรณ์อ้างอิงประวัติศาสตร์ (Historically based prediction system) ซึ่งประกอบด้วยคำถาม ถูก/ผิด 13 คำถามต่อพรรคที่ครองอำนาจอยู่ในทำเนียบขาว หากผลลัพธ์ออกมาว่า “ถูก” หมายถึง ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่มีโอกาสได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง หากผลลัพธ์ออกมาว่า “ผิด” หกข้อหรือมากกว่าหกข้อ แปลว่าฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ซึ่งขณะนี้หมายถึงพรรคเดโมแครทจะมีโอกาสพ่ายแพ้แม้ว่าโพลต่างๆ ในตอนนั้นจะชี้ว่าฮิลลารี จะมีโอกาสชนะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 99 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
การหาเสียงของทั้งสองทีมนอกจากฟาดฟันกันด้วยคำพูดและนโยบายที่น่าจะตรงใจคนอเมริกันแล้ว แต่ละทีมต่างใช้ เทคโนโลยี เครื่องมือ ทีมงาน และข้อมูล ที่คัดสรรมาแล้วว่าดีเลิศสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบื้องหลังทีมงานของฮิลลารีนั้นไม่ธรรมดาเพราะมีข่าวปรากฏอยู่หลายแหล่งว่าอีริคชมิด์ท ซึ่งเป็นอดีต CEO ของ Google ปัจจุบัน คือ ประธานของบริษัท Alphabet เป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างลับๆ ให้กับทีมหาเสียงของคลินตันด้วย อย่างไรก็ตามอีริคชมิด์ทปฏิเสธต่อข่าวดังกล่าวและกล่าวว่าเขาไม่เคยเลือกข้างพรรคการเมืองใดๆ
จากข้อมูลของ The Wall Street Journal เมื่อ เดือน ตุลาคมปี 2008 พบว่า อีริคชมิด์ท เป็นผู้สนับสนุน บารัค โอบามา ก่อนที่โอบามาจะมีชัยในการเลือกตั้งครั้งแรกและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีผิวสีคนแรกเมื่อปี 2009 ซึ่งแสดงว่า อีริคชมิด์ท มีความสัมพันธ์กับพรรคแดโมแครทไม่มากก็น้อย
ข่าวจากแหล่งเดียวกันรายงานว่า อดีต CEO ของ Google คนนี้ ยังเป็นผู้แนะนำการใช้เทคโนโลยีและพลังงานในการรณรงค์การเลือกตั้งให้กับ โอบามาด้วย จึงไม่เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่มีข่าวว่า อีริคชมิด์ทใช้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีเพื่อให้ฮิลลารีได้เข้าสู่ทำเนียบขาวให้ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นเดียวกับที่เคยสนับสนุนโอบามามาแล้ว
ด้วยความเชื่อมั่นในเครื่องมือของ Google ที่มีอยู่ อีริคชมิด์ท มักพูดอยู่เสมอว่า “เรารู้ว่าคุณกำลังอยู่ที่ไหน คุณไปไหนมาบ้าง และไม่มากก็น้อยเรารู้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่” เครื่องมือแต่ละประเภทที่อยู่ในมือ Google นั้นเป็นเครื่องมือที่คนทั้งโลกต้องพึ่งพา จนทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เครื่องมือของ Google อาจจะชี้นำและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
หากฮิลลารีได้รับการสนับสนุนจาก อดีต CEO ของ Google อย่าง อีริคชมิด์ท จริงดังที่เป็นข่าว บวกกับประสบการณ์การวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่สมัยการเลือกตั้งของโอบามาที่ผ่านมา ย่อมทำให้พรรคเดโมแครทมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่แค่เอื้อม
การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในแต่ละครั้งนั้นต่างฝ่ายต่างทุ่มสรรพกำลังทั้ง คน เงิน สื่อทุกประเภทและเทคโนโลยี รวมทั้งยุทธศาสตร์ที่เลือกแล้วว่าดีที่สุดเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้และฝ่ายที่ได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและข้อมูลอยู่หลายขุม ดูเหมือนว่าจะเป็นฝั่งของพรรคเดโมแครท แม้ว่า พรรค รีพับลิกันมีความพยายามตลอดมา ในการใช้เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลให้เท่าเทียมฝั่งเดโมแครทแต่ก็ยังตามหลังเดโมแครทอยู่หลายช่วงตัว
Hillary for America คือโครงการที่ถูกตั้งขึ้นจากฝั่งพรรคเดโมแครท มีภารกิจในการทำทุกอย่างเพื่อให้ฮิลลารีเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ให้ได้ส่วนหนึ่งของ Hillary for America คือการใช้เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง(Analytics)ในการหาเสียงในขณะที่ทรัมป์เองดูเหมือนไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องข้อมูลมากนักเพราะทรัมป์เห็นว่าข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอนั้นเป็นเรื่องที่ประเมินเกินเลยจากความเป็นจริง นอกจากนี้ยังไม่เชื่อว่าชัยชนะของโอบามาที่ผ่านมาเป็นชัยชนะจากข้อมูลแต่เป็นชัยชนะที่เกิดจากความนิยมในตัวโอบามาเองมากกว่า แต่ความจริงแล้วทรัมป์มีทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลเช่นกัน โดยว่าจ้างบริษัทจากอังกฤษที่ชื่อว่า Cambridge Analytica ซึ่งเคยร่วมงานกับกลุ่ม Leave EU เป็นผู้รับผิดชอบงานวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ทีมงานของทรัมป์เองยังใช้ข้อมูลจากจากบริษัทที่เคยช่วยโอบามาวิเคราะห์ข้อมูลที่ชื่อ Haystaq DNA ผ่านนายหน้าขายข้อมูลเพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่นักการเมืองยังเข้าไม่ถึง
ภายใต้โครงสร้างของ Hillary for America นอกจากมีประธานโครงการ ที่ปรึกษาและงานแขนงต่างๆ อีกนับสิบประเภทแล้ว งานเทคโนโลยีและงานวิเคราะห์ข้อมูลคือสิ่งที่ทีมงานคลินตันให้ความสำคัญไม่แพ้งานนโยบายและงานด้านอื่นๆ โดยใช้ใช้บุคลากรระดับคีย์แมนและวิธีการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์(Predictive analytics) ที่มาจากการเลือกตั้งของ โอบามาครั้งที่ผ่านๆมา เพราะได้พิสูจน์แล้วว่าการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องจากข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data)มีส่วนช่วยให้ โอบามาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว
ทีม Hillary for America ใช้บริษัทที่ชื่อว่า The Groundwork เพื่อรับผิดชอบในการวางโครงสร้างด้านเทคโนโลยีจากข้อมูลที่เปิดเผยจากสื่อออนไลน์ชื่อ Quartz รายงานว่า บริษัท The Groundwork คือ ส่วนหนึ่งของการลงทุนอย่างเงียบๆ ของ อีริคชมิด์ท เพื่อให้ทีมคลินตันมั่นใจได้ว่าได้ใช้ระบบปฏิบัติการและวิศวกรรมที่ดีที่สุดในการนำชัยสู่พรรคเดโมแครท
The Groundwork เป็นบริษัท Startup ที่ไม่เปิดเผยตัวตนมากนักเพราะต้องการทำงานเบื้องหลังอย่างเงียบๆ แต่งานที่ไมเคิลสเลบี แห่ง The Groundwork เคยรับผิดชอบเป็นงานที่ใช้เทคโนโลยีช่วยให้โอบามากำชัยชนะมาแล้วถึงสองครั้งไมเคิลสเลบี เคยเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านนวัตกรรมและอินติเกรชั่น(Chief Integration and Innovation Officer) ในการเลือกตั้งของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2008 และเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี(Chief Technology Officer) ในการเลือกตั้งประธานาธบดี บารัค โอบามาในปี2012รวมทั้งเคยทำงาน ในตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี(Chief Technology Strategist) ของกองทุนTomorrow Ventures ซึ่งเป็นกองทุนในเครือที่ อีริคชมิด์ทเป็นเจ้าของ ประสบการณ์ของไมเคิลสเลบีที่ผ่านมาในการเลือกตั้งสองครั้งทำให้ไมเคิลสเลบี ถูกเลือกเข้า มาอยู่ในทีมหาเสียงของพรรคเดโมแครทอีกครั้งหนึ่ง
ในการเลือกตั้งของบารัค โอบามาในปี 2012 ทีมงานวิเคราะห์ข้อมูลของโอบามาได้สร้างโมเดล(Model) ที่สามารถจะระบุได้ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน15 ล้านคนที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร จึงทำให้ทีมงานโอบามามีช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อโน้มน้าวให้การเทคะแนนมาฝั่งตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับพรรคเดโมแครทต่อการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้ทั้งวิชา วิทยาศาสตร์ สถิติ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และวิศวกรรม รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ข้อมูลระดับแนวหน้า
การเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคเดโมแครทได้มอบหมายให้ อีแลน ครีเกล (ElanKriegel) ซึ่งเคยสร้างความสำเร็จจากการวิเคราะห์ข้อมูลสมัย โอบามา มาแล้ว เป็นผู้นำทีม โดยได้สร้างแบบจำลองการรณรงค์หาเสียงถึง 400,000 ชุด (การเลือกตั้ง 2012 ใช้แบบจำลอง 66,000 ชุด) เพื่อพยากรณ์ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งซึ่งน่าจะเป็นการใช้ข้อมูลการวิเคราะห์การเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้ง
การเลือกตั้งในครั้งนี้นอกจากแต่ละพรรคมีการทำโพลด้วยตัวเองแล้วทั้งสองพรรคยังนำข้อมูลมาจากสื่อต่างๆทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งโพลจากสำนักต่างๆมาวิเคราะห์ซึ่งถ้าข้อมูลเหล่านั้นมีความโน้มเอียง ข้อมูลที่นำไปวิเคราะห์ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดตามมา
การที่โพลทุกสำนักให้ฮิลลารีนำทรัมป์ทุกครั้งของการสำรวจ อาจมีความเป็นไปได้ว่าผู้ตอบคำถามอาจไม่ได้บอกความจริงที่อยู่ในใจทั้งๆ ที่เบื่อพรรคเดโมแครทแต่ก็พูดไม่เต็มปากว่าจะเลือกทรัมป์จะด้วยเหตุว่าทรัมป์อาจมีภาพลักษณ์โผงผาง หยาบคายและมีเรื่องอื้อฉาวต่างๆนานาโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ข้อมูลเหล่านั้นจึงไม่ใช่ข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้เลือกตั้ง
การที่ทีมหาเสียงของฮิลลารีใช้เทคโนโลยี ข้อมูลและบุคลากรระดับหัวกะทิเพื่อเอาชนะคู่แข่งขันแต่กลับพลาดท่าให้กับทรัมป์นั้น แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีเทคโนโลยี บุคลากรและข้อมูลที่ดีเพียงใดก็ตามแต่หากหยิบไปใช้ไม่ถูกก็จะได้ผลลัพธ์ในทางตรงข้ามหรือในอีกแง่มุมหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในเรื่องข้อจำกัดของวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data science) หรือความผิดพลาดของการวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ (Predictive Analytics) หรือใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากโพลต่างๆ ดังนั้น เมื่อนำวิธีการและข้อมูลเหล่านี้ไปใช้กับพฤติกรรมมนุษย์จึงทำให้มองไม่เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่อีกด้านหนึ่ง แม้ว่าทีมเลือกตั้งจะมีการใช้บุคลากร เทคโนโลยีและ อัลกอริธึม (Algorithm) ที่ดีเพียงใดก็ตาม
การใช้ข้อมูลในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับนักวิเคราะห์ข้อมูลนักเทคโนโลยี นักสำรวจโพล นักพยากรณ์นักวิชาการ และ นักการเมืองที่ต้องนำไปเป็นกรณีศึกษา รวมทั้งควรนำไปเป็นกรณีศึกษาในสถาบันการศึกษาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อป้อนข้อมูลผิด ผลลัพธ์ก็จะผิดเสมอ
การพ่ายแพ้ของฮิลลารีนอกจากจะฝากความเจ็บปวดไว้ให้เธอและทีมงานรวมทั้งผู้สนับสนุนเธอจำนวนมากซึ่งคงรวมถึงอดีต CEO ของ Google อย่าง อีริคชมิด์ท ด้วย และหากข่าวที่มีการนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง อีริคชมิด์ท กับพรรคเดโมแครท เป็นความจริงก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือและเทคโนโลยีที่หยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่ อีริคชมิด์ท มีอยู่ในมือไม่สามารถพาฮิลลารีเข้าสู่ทำเนียบขาวได้ ก็เท่ากับว่า อีริคชมิด์ทพ่ายแพ้ในเดิมพันครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.chaoprayanews.com