บันทึกถึง "มุฮัมมัด ส่าเหล็ม" กวีจากรากเหง้าปอเนาะแห่งชายแดนใต้ผู้จากไป...
ผมเดินทางกลับจากอินโดนีเซียถึงเมืองไทยเมื่อค่ำวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ระหว่างนั่งรถกลับบ้านหูแว่วได้ยินเสียงลูกสาวบอกว่า เพื่อนของพ่อเสียชีวิตแล้ว ผมยังไม่ทราบว่าเพื่อนคนไหน เมื่อรู้ว่าเป็น มุฮัมมัด ส่าเหล็ม ผมก็พึมพำว่า “แน่แท้เราเป็นสิทธิ์ของอัลเลาะห์ และยังพระองค์เรากลับไปหา” เช่นเดียวกับที่มุสลิมทุกคนพึงกล่าว
บอกตามตรงว่า กรณีของเพื่อนรุ่นน้องผู้นี้ ผมรู้สึกใจหายอย่างไม่เคยรู้สึกมากมายเช่นนี้มาก่อน แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังคงความรู้สึกนี้อยู่อีก
ผมเพิ่งรู้ทีหลังว่า กวีมุสลิมจากหมู่บ้านท่าคลอง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งจัดอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) มาพักใหญ่แล้วจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก และหมอได้ผ่าตัดแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ในที่สุดก็กลับสู่ความเมตตาของอัลเลาะห์ (ซ.) เมื่อประมาณบ่ายห้าโมงเศษ วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม แต่ผมไม่รู้เรื่องนี้เลย เพิ่งมารู้ก็เพราะหลานซึ่งเล่นเฟซบุ๊คบอกกับลูกผมอีกทอดหนึ่ง ผมเดินทางไปอินโดนีเซียเมื่อเช้าวันที่ 23 ตุลาคม จึงไม่ทันได้รับรู้อะไร
ตอนผมถูกรถชนเฉี่ยวเมื่อปลายเดือนมกราคม 2552 เขาก็ไปเยี่ยมผมที่บ้าน ก่อนหน้าเขาเข้าโรงพยาบาลไม่นาน ในค่ำคืนเดือนสิงหาคมคืนหนึ่ง ช่วงที่พวกเราถือศีลอดกัน ผมมีโอกาสได้เจอเขาที่ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง คลองตัน เขาเข้ามานั่งร่วมโต๊ะและร่วมพูดคุยด้วย ก่อนที่พักหนึ่งเขาขอตัวกลับ พร้อมกับสั่งนมแพะ 2 ถุงและขนมปั้นสิบถุงหนึ่งให้ผมฝากคนที่บ้านด้วย
มุฮัมมัด ส่าเหล็ม เป็นรุ่นน้องผมนับสิบปี ช่วงผมทำงานอยู่ที่ “โลกหนังสือ” ระหว่างปลายปี 2520-2524 มุฮัมมัด ส่าเหล็ม เพิ่งเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเริ่มขีดๆ เขียนๆ บทกวีทั้งกลอนเปล่าและกลอนสัมผัสมาช่วงหนึ่งแล้ว ช่วงนี้เองที่เขาไปหาผมที่บ้านเช่าซอยสวนหลวง ถนนพัฒนาการ เขตพระโขนง (สมัยนั้น) ผมกับภรรยาเช่าบ้านคุณพ่อของอับดุลกอเดร์บ้านป่า (เพื่อนรุ่นพี่ของ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม ซึ่งจบนิติฯ รามฯ) ผมทำงานที่สำนักพิมพ์ดวงกมล สยามสแควร์ ภรรยาเป็นผู้ช่วยฯ คุณศิเรมอร อุณหธูป ทำนิตยสาร 21 (อยู่ตรงข้ามสยามสแควร์ ติดกับสนามศุภฯ ปัจจุบันเป็นห้างมาบุญครอง) ช่วงนี้ผมจึงมีโอกาสเอาบทกวีของ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม บางชิ้นไปให้ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บก.เครางาม เอาไปตีพิมพ์ใน โลกหนังสือ
ผมรู้จักกับ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม ตั้งแต่ตอนนั้น โดยเขาเริ่มเขียนบทกวีใช้นามปากกาว่า “นายนกเอี้ยง” บางชิ้นก็ใช้ชื่อจริงว่า “สุริยา ส่าเหล็ม” และบางชิ้นก็ใช้ชื่อมุสลิมว่า “มุฮัมมัด ส่าเหล็ม” ความที่หลายนามปากกา เขาปรึกษาผมว่าควรใช้นามปากกาอะไรดี ผมแนะนำให้เขาใช้ชื่อ “มุฮัมมัด ส่าเหล็ม” เพราะเห็นรากเหง้าเขามาจาก “เด็กปอเนาะ” มีความรู้และความคิดความอ่านในทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง ผิดจากผมซึ่งเรียนโรงเรียน “ไทย” มาตลอด
ก่อนที่ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม จะขึ้นมาเรียนรามฯ เขาเป็นเด็กบ้านนอกที่นาทับ ในวัยเด็กก็ทำนาเลี้ยงวัวปีนต้นโตนดเยี่ยงเด็กบ้านทุ่งเต็มตัว หลังจากเรียนจบกุรอ่านในหมู่บ้านแล้ว ได้เรียนด้านศาสนาที่ปอเนาะต้นเมา อ.จะนะ จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ปอเนาะสะกำ หรือ ซึแก บ้านสะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี ก่อนเข้าเรียนรามคำแหง เขาจบการศึกษาผู้ใหญ่ (ปัจจุบันคือ กศน.) และถ้าไม่ผิดเขาคงสอบเทียบจนมีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
เนื่องจากทางบ้านยากจน มุฮัมมัด ส่าเหล็ม ได้อาศัยความรู้จากปอเนาะมาสอนคัมภีร์กุรอ่านตามมัสยิดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้เงินช่วยเหลือเอามาเรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัย เมื่อจบแล้ว เขาได้ภรรยาลูกคหบดีย่านคลองเคล็ดเป็นภรรยา ประกอบอาชีพทำซะละเปาขายจนร่ำรวย ต่อมาได้ขยับขยายมาทำกิจการผลิตเสื้อผ้ามุสลิม ตั้งแต่ชุดเสื้อผ้าฮิยาบจนถึงชุดแฟชั่นมุสลิม ขยายกิจการใหญ่โตไปทั่วประเทศ จนข้ามไปขายถึงห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในมาเลเซีย ก่อนเสียชีวิตเขามีฐานะน้องๆ เศรษฐี มีทั้งกิจการค้าของตัวเอง มีทั้งที่ดินในกรุงเทพฯ หลายไร่แถวหนองจอก
นอกจากชีวิตเขาจะน่าทึ่งประสบความสำเร็จทั้งในแง่ผู้ประกอบการธุรกิจและชีวิตครอบครัวแล้ว งานแห่งชีวิต (work of life) ของเขาคือ “กวีนิพนธ์ดลจินต์” ก็จัดอยู่ในขั้นดีเลิศ บทกวีของ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม เคยเข้ารอบ 5 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรท์ปี 2532 นับเป็นกวีมุสลิม “เด็กปอเนาะ” คนแรกที่ผลงานเข้าตากรรมการ จนกระทั่งอีก 21 ปีต่อมาในปี พ.ศ.2553 “รางวัลซีไรท์” กวีมุสลิมอีกคนหนึ่งจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึง “พิชิต” รางวัลซีไรท์ทางกวีนิพนธ์ได้สำเร็จ
ผมไม่ทราบว่านอกจากเขาทั้งสองแล้ว คนมุสลิมที่มีชื่อเสียงในฐานะกวีคนอื่นๆ มีใครบ้าง ที่พอนึกออกก็มี มะเนาะ ยูเด็น นักกลอนจากสำนักอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา อดีตคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ไรน่าน อรุณรังษี (เศาะลาฮุดดีน บินยะอฺกู๊บ) ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นักเขียน นักแปลและนักการเมือง จากสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอาลีการ์ อินเดีย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย, ส.ส., ส.ว. ฯลฯ ผู้แปล "รุไบยาต" ของ โอมาร์ คัยยัม และถ้าจำไม่ผิด "รหัสย์ชีวิต" ของมุฮัมมัด อิกบาล คนแรกเป็นมหากวีมุสลิมเปอร์เซียนยุคคลาสสิค คนหลังเป็นมหากวี "คลาสสิคใหม่" อินเดียน-ปากีสถานที่โลกมุสลิมภูมิใจ
แล้วก็อาจจะมี ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ นักกลอนจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 2 สมัย และประธานสหภาพรัฐสภาแห่งเอเชีย ผู้แปลหนังสือรวมบทกวี Poetry of the Thai Concern (1993) by Anan Okriss (ผศ.อนันต์ โอกฤษ) เป็นภาษาไทย
หลังจากคำว่า "นักกลอน" แทบจะสูญหายไปจากวงการ คำว่า "กวี" กลับมาเป็นที่นิยมแทนที่ไปแล้ว เมืองไทยก็เห็นจะมี "นักกวี" หรือปัจจุบันนิยมเรียก "กวี" เฉยๆ ก็มีกวีที่เป็นมุสลิมเพียงสองคนเท่านั้นคือ "มุฮัมมัด ส่าเหล็ม" เจ้าของ "อยากจะเรียกคืนมา" "ของขวัญจากวันเวลา" ซึ่งเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์, "ลุกมาน ดวงใจที่ตื่นอยู่" และ "ไม่มีเหตุผลที่เราจะทำร้ายกันอีก" กับอีกคนหนึ่งคือ ซาการีย์ยา อมตยา จากรามคำแหงและวิทยาลัยดารุลอูลูม นัหฺดะตุลอุลามาอ์ อินเดีย เจ้าของ "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" – ผลงานรวมบทกวี "กลอนเปล่าเล่มแรก" ที่ชนะรางวัลซีไรท์ประจำปี 2553
กวีมุสลิมทั้งสองคนนี้มีท่วงทำนองการเขียนที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ ซาการีย์ยา อมตยา เขียนในท่วงทำนองที่ Marlamé กล่าวว่า poetry is written by words not by ideas (Christopher Caudwell อ้างถึงใน Illusion and Reality, 1937) ซึ่งให้ความสำคัญกับน้ำหนักของทุกถ้อยคำที่เลือกใช้ มูฮัมมัด ส่าเหล็ม กลับใช้ถ้อยคำอย่างอิสระ สบายๆ มีจุดเด่นตรงที่ใช้ภาษาสามัญอันเรียบง่าย สื่อความหมายและก่อภาพพจน์สะเทือนใจ
งานของ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม ชี้ให้เห็นเรื่องราวมากมายที่รายรอบตัว ในบางบทกวีเขามีแต่คำถาม ก่นแต่สงสัย แต่บทกวีของเขาส่วนมากแสดงคำตอบชัดเจนและลงตัว ความตาย ความลำเค็ญ การถูกกักขังในห้วงทุกข์ทรมาน อยุติธรรม อารมณ์ใฝ่ต่ำหรือกิเลส ทั้งหมดล้วนสำแดงอำนาจของบรรดาชัยฏอนมารร้าย ซึ่งพากันร่ายรำในบทกวีของเขาอย่างน่ากลัว ทว่าในอีกซีกด้านหนึ่ง กำลังใจ ทางสว่าง และพระอัลเลาะห์เจ้า นั่นต่างหากที่คอยค้ำจุนมนุษย์ผู้อ่อนแออยู่ตลอดเวลา ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ปรากฏฉายชัดในงานแทบทั้งหมดของเขา
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเรารู้สึกบางบทเขาอธิบายมากจนเกินไป คล้ายบทรำพึงที่ถูกซอยลง เป็นห้วงแห่งวรรค ทีละวรรคๆ ทยอยกระเพื่อมคล้ายคลื่นแห่งความรู้สึกและความคิดคำนึงที่ขยายขอบเขตแห่งกวีนิพนธ์ของเขาไปเรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือท่วงทำนองในบางบทกวีของเขา ซึ่งมีจังหวะลีลาเรื่อยๆ เรียบง่าย บางครั้งระทึกใจ แต่ค่อยๆ เพิ่มและสะสมความซาบซึ้ง กระทั่งสามารถก่อแรงสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวงขึ้นในใจผู้อ่านในท้ายที่สุด ทำให้เขาชนะใจผู้อ่านจำนวนมาก
มุฮัมมัด ส่าเหล็ม เขียนเรื่องชาวบ้านมุสลิม ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความเสื่อมศีลธรรมต่างๆ เช่น ทางเพศและยาเสพติด อาชญากรรมและความหน้าไหว้หลังหลอก (เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ฯลฯ) การหลงทิศทางของคนหนุ่มสาว รวมทั้งคนในวัยทำงาน
เขาเขียนด้วยความเชื่อว่า ศรัทธาในศาสนา (อิสลาม) เท่านั้นคือทางนำและทางออกที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้มนุษย์ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้เขายังเขียนงานในลักษณะตามสถานการณ์ (situational) ไม่ว่าสภาพการณ์ช่วงก่อนและระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป หรือกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่ตะวันออกกลาง (อิรัก ฯลฯ) และในประเทศ เช่น เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีตากใบ รวมทั้งภัยพิบัติสึนามิครั้งร้ายแรงที่ฝั่งอันดามันในปี พ.ศ.2547 ก็ปรากฏในบทกวีของเขาเช่นกัน
ในปี ค.ศ.1998 (พ.ศ. 2541) ผมเคยเขียนถึง มุฮัมมัด ส่าเหล็ม และแปลบทกวีของเขาลงตีพิมพ์ในหนังสือ Tenggara ฉบับ 36 & 37 (Special Issue: Muslim Writings in Southeast Asia) ซึ่งมีคณะบรรณาธิการจากหลายประเทศ อาทิ Prof. Dr. Muhammad Haji Salleh, Edwin Thumbo (กวีซีไรท์จากมาเลเซียและสิงคโปร์ตามลำดับ) ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ (ศาสตราจารย์ทางวรรณคดีเปรียบเทียบของไทย อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ฯลฯ สำนักงานตั้งอยู่ที่แผนกอักษรศาสตร์มลายู มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (UKM) ระหว่างนั้นผมเป็นอาจารย์พิเศษสอนวรรณคดีมลายูอยู่ที่แผนกภาษามลายู มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงมีโอกาสสนิทสนมกับนักเขียน กวี และนักวรรณคดีศึกษามาเลเซียหลายคน รวมทั้งที่เป็นอาจารย์สอนผมด้วย
ในบทความ Little Response Towards Literary Defiance: A Case of The Thai Muslims ตอนหนึ่งผมเขียนถึง มุฮัมมัด ส่าเหล็มว่า...
A younger writer, Muhammad Salim, a Pattanian Islamic ‘pondok’ based poet born in Songkhla, obtained his first degree in Political Science from Ramkhamhaeng University. He becomes well known as a highly talented religious poet who is most prolific.
His two books of poetry in Thai drew public attention and both were nominated for SEA Write Award. His popularity comes from his simplicity, moral and highly imaginative sketches of ideas and impressions. His works deal with the lives of Thai Muslims and their destiny. Their fates are indeed in the hand of Allah but there are still human oppressions everyday and everywhere. Something like inhumane rage has overwhelmed this world. He suggests that if man refuses to follow the True Path inspired by Prophet Muhammed (s.a.w.), he could not help making himself a tortured, bleeding and diminished human being because the Satanic amplitude has metamorphosed into evil-magnetism:
The Book
Dignifying the best Path
Is clear with Holy Truth
Rubbing out the Devil’s Tyranny.
Then comes the light
Shining throughout
The earth on that day
Filled with Glory and Faith.
(บทหนึ่งใน Followers of True Belief by Mohammad Salim)
คงไม่ต้องแปลกลับนะครับ ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า ผมรู้จักและตีความงานเขียนของ มุฮัมมัด ส่าเหล็ม อย่างไรเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังรู้สึกและประทับใจดุจเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ สำหรับพี่น้องมุสลิมทั่วทั้งประเทศไทยคงรู้สึกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผมที่รู้สึกสูญเสียกวีมุสลิมเรืองนามผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งงานของเขาเป็นที่ประจักษ์ว่า เข้าถึงและแผ่ซ่านอยู่ในจิตใจของชาวมุสลิมจำนวนมากที่สุดในประเทศนี้
------------------------โปรดติดตามตอนต่อไป--------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพ portrait : Allahu Yarhum Muhammad Salim
2 รูปปกหนังสือรวมบทกวี “ของขวัญจากวันเวลา” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2