เลขาฯ กสทช.เปิดช่องชง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯสอบ‘แจส’ปมประมูล 4G
เปิดความเห็นเลขาธิการ กสทช. ชง ปธ.กทค. หลังคณะทำงานฯสอบ ‘แจส’ รับผิดค่าเสียหายทิ้งคลื่น 4G ยันตรวจตาม กม.กสทช. แล้ว การประมูลโปร่งใส แต่ไม่ถึงขั้นตอน ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้หากการกระทำของ ‘แจส’ ส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้วฯ เปิดช่องให้ขอรายงานผลการสอบไปดำเนินการต่อได้
จากกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรองเลขาธิการ กสทช. ฝ่ายกิจการโทรคมนาคม กรณีไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ละเอียดถี่ถ้วน ภายหลังบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ชำระใบอนุญาตการประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 วงเงินกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท และอาจผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) นั้น
(อ่านประกอบ :เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G, 2 เงื่อนปมร้อนชง ป.ป.ช.สอบ ‘แจส’ กีดกันเสนอราคา-เอื้อเอกชนประมูล 4G)
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว กทค. มีมติยึดเงินประกันของบริษัท แจส โมบายฯ 644 ล้านบาท และให้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความรับผิด กรณีบริษัท แจส โมบายฯ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ด้วย โดยมีผลสรุปคือให้บริษัท แจส โมบายฯ ชำระเงินค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกประมาณ 199.4 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า หลังจากที่คณะทำงานฯ มีผลสรุปดังกล่าวแล้ว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ได้ทำความเห็นประกอบเพื่อนำเสนอต่อประธาน กทค. โดยมีตอนหนึ่งระบุถึงการตรวจสอบพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ สรุปได้ว่า จากรายงานของคณะกรรมการธรรมาภิบาล กทค. ที่เป็นผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ได้นำเสนอผลการตรวจสอบทั้งก่อนการประมูล ระหว่างการประมูล และหลังการประมูล พบว่า การประมูลที่ผ่านมามีความโปร่งใส และเป็นไปตามเงื่อนไขของ กสทช. ประกอบกับ กทค. มีมติรับรองรายงานของคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ จนกระทั่งมีมติรับรองผลการประมูลแล้ว
ดังนั้นในการพิจารณาพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ เพื่อกำหนดความรับผิดของบริษัท แจส โมบายฯ ที่ไม่ชำระเงินประมูลงวดที่ 1 จึงต้องพิจารณาภายใต้กรอบของกฎหมายที่ กสทช. ดำเนินการอยู่ ด้วยเหตุนี้ในเมื่อขณะนี้ยังไม่มีเหตุปัจจัยอื่นใดที่เป็นหลักฐานแสดงว่าการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา ส่อไปในทางที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ หรือทำให้รัฐมีรายได้ลดลง หรือมีการสมยอมราคากันแล้วนั้น จึงน่าจะเป็นไปตามมติ กทค. เดิมที่เคยมีมติว่า การประมูลเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม และมีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดีในช่วงท้าย นายฐากร ให้ความเห็นว่า การพิจารณาความรับผิดของบริษัท แจส โมบายฯ ในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาภายใต้กรอบกฏหมายของ กสทช. เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับกรณีอื่นที่อยู่ในอำนาจของหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทั้งนี้หากการกระทำของบริษัท แจส โมบายฯ ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นแล้ว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นที่จะพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ดีหากหน่วยงานอื่นมีความประสงค์จะนำรายงานผลการตรวจสอบของ กสทช. ไปใช้ในการดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ทางสำนักงาน กสทช. ก็เห็นควรที่จะให้มีการเปิดเผยรายงานผลดังกล่าวไปให้หน่วยงานนั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการตรวจสอบพฤติกรรมการประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ เลขาธิการ กสทช. ได้อ้างรายงานของคณะกรรมการธรรมาภิบาลที่ กทค. ตั้งมาเป็นผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในช่วงการประมูลและยุติบทบาทไปตั้งแต่สิ้นสุดการประมูลก่อนกรณีการไม่ชำระเงินค่าประมูลของบริษัท แจส โมบายฯ จะเกิดขึ้น โดยจากการตรวจสอบของคณะกรรมการธรรมาภิบาลฯ ระบุว่า การประมูลดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส แต่เลขาธิการ กสทช. กลับนำข้อสรุปดังกล่าวมาเป็นข้อสรุปในการตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัท แจส โมบายฯ ในคณะทำงานฯชุดนี้ด้วย ทั้งที่ยังมีข้อบ่งชี้บางประการที่ยังไม่ได้รับการวิเคราะห์หรือพิสูจน์ทราบอย่างถี่ถ้วน นอกจากการชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาเพียงอย่างเดียว
เช่น กรณีการเสนอราคาของบริษัท แจส โมบายฯ ที่เสนอราคาติดต่อกันตลอดเวลาแม้กระทั่งในช่วงที่บริษัท แจส โมบายฯ จะเป็นผู้ชนะการประมูลชั่วคราวแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ผิดไปจากการประมูลโดยปกติทั่วไปหรือไม่ มีเจตนาเพียงมุ่งสร้างคาขึ้นมาเกินจริง เพื่อกีดกันการแข่งขันหรือไม่
หรือกรณีนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จัสมินฯ ชี้แจงกับคณะทำงานฯว่า สาเหตุที่ไม่ได้เข้าประมูลดังกล่าวด้วยตัวเอง เพราะเป็นกลยุทธ์ในการประมูล และมอบหมายให้ทีมงานเข้าประมูลคลื่นชุดที่ 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งแย้งกับข้อมูลของผู้บริหารธนาคารกรุงเทพที่เคยให้ข่าวกับทางหนังสือพิมพ์ไว้ว่า กำหนดวงเงินกู้ให้บริษัท แจส โมบายฯ อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
เปิดข้อกล่าวหา‘กทค.-เลขาฯ กสทช.’ชง ป.ป.ช.สอบปมไม่เอาผิด‘แจส’ทิ้งคลื่น 4G
ร้องสอบ‘แจส โมบายฯ-กสทช.’ปมประมูล 4G กีดกันเสนอราคา-เอื้อรายอื่น
เปิดเบื้องหลังไฉนแบงก์กรุงเทพไม่ปล่อยกู้‘แจส’ 4 หมื่นล.จ่ายค่าประมูล 4G
โชว์หลักฐาน‘แจส’เคาะราคาสู้ตัวเอง 2 พันล.ก่อนถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมประมูล 4G
ก.ล.ต.สั่งบริษัทลูก‘แจส’แจงปมไฟเขียวจ่ายเงินปันผล-อาจเอื้อ‘พิชญ์ โพธารามิก’
เปิดเครือข่ายธุรกิจกลุ่มโพธารามิก ‘จัสมิน-โมโน-แจส โมบาย’ 44 บริษัท 4.5 หมื่นล.
เปิดตัว 'แจสโมบาย' โอเปอเรเตอร์ 4 จี ป้ายแดง! ทายาทอดีตรมต.ยุคทักษิณ เจ้าของ
เจาะกระเป๋า 'แจสโมบาย' มีเงินฝากธ.กรุงเทพ4.6พันล.ก่อนทิ้งคลื่น900
เปิดคำสั่งคณะทำงานลุยสอบ'แจส' เอาผิด-ลงโทษปมไม่จ่ายค่าประมูล 4G
กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ"แจสโมบาย"เคาะราคาประมูลคลื่น 900 เข้าข่ายผิด กม.ฮั้วหรือไม่
คำถามถึง ก.ล.ต."แจสโมบาย"ถูกยึดเงิน 644ล้าน ฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์หรือไม่?
ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายฐากร จาก thaipublica