อ.สถาปัตย์ จุฬาฯหวั่น Senior Complex ไม่ตอบโจทย์ ชี้สังคมไทยสูงวัยอยากอยู่กับลูกหลาน
รศ. ไตรรัตน์ เสนอรัฐรณรงค์ให้ผู้สูงอายุออกจากบ้านมาทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น หนุนผู้ประกอบการผลิตของใช้ผู้สูงอายุ
หลังจาก การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ออก 4 มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งมาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุ และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และให้มีการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อ่านประกอบ:มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ)
รศ. ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา โดยเห็นว่า มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ออกมา ถือเป็นเรื่องดี แต่มีบางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะมาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมให้นายจ้างมีการจ้างงานผู้สูงอายุผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้าง ที่กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างสำหรับการจ้างบุคลากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยลูกจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารของกิจการ มองว่า เป็นการครอบคลุมเพียงแค่กลุ่มภาคเอกชนเท่านั้น
"กลุ่มข้าราชการน่าจะมีการขยายอายุเกษียณด้วย เพราะข้าราชการบางคนแม้จะอายุ 60 ปี แต่ยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้ อย่างทางสหประชาชาติ (UN) มีการขยายอายุผู้สูงอายุ 65 ปีแล้ว"
สำหรับกลุ่มภาคการเกษตร ที่มีผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ รศ. ไตรรัตน์ กล่าวว่า ควรให้โอกาสกลุ่มนี้ได้ทำงานและดูแลตัวเองได้มากขึ้น เพื่อจะได้ลดภาระการดูแล โดยทำในรูปแบบหนึ่งของการลดภาษีสำหรับห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไปรับสินค้าของผู้สูงอายุไปจำหน่าย ซึ่งรูปแบบนี้มีหลายประเทศทำกันอยู่ หรือการให้ผู้สูงอายุเป็นอาสาสมัคร เป็นไกด์ ทำประชาสัมพันธ์ที่ผู้สูงอายุจะช่วยงานได้ ด้วยเรื่องของความรู้ที่มากกว่าหลายเรื่อง เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มช่องทางของมาตราการการว่างงานของผู้สูงอายุ
รศ.ไตรรัตน์ กล่าวถึงมาตรการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ บนที่ราชพัสดุ โดย กรมธนารักษ์จะจัดหาที่ในจังหวัดชลบุรี นครนายก เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งผู้เช่าจะได้รับสิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์ ดังนั้นเรื่องของการตั้งกฏเกณฑ์ควรดูให้ดี ด้วยเหตุที่ผู้สูงอายุอาจคิดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ได้
ส่วนการสนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุบนพื้นที่อื่น โดยให้การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ไปดำเนินการจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อนำมาดำเนินการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ รศ. ไตรรัตน์ กล่าวว่า ในเรื่องของการออกแบบนั้น อาจยังไม่สอดคล้องหรือตอบโจทย์เท่าไหร่ การวางแบบเดียวแล้วนำไปใช้ทุกพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ก็ต้องดูให้ดีด้วย
รศ. ไตรรัตน์ กล่าวถึงการสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนโดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์
นั้น เป็นเรื่องที่เห็นว่า น่าจะได้ผลมากกว่าการสร้างเคหะ เพราะผู้สูงอายุไทยที่อยากอยู่ที่เดิมพร้อมกับลูกหลานมากกว่า รวมถึงเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และให้มีการจัดสรรวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย
"การให้บุตรที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาที่สูงอายุได้รับสิทธิในการจองโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุเป็นลำดับแรกก่อน ก็ต้องดูกฏเกณฑ์ให้ดี มาตราการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ยังไม่ทราบว่าจะเห็นผลได้เท่าไหร่ แต่ก็เป็นการนำรูปแบบมาจากต่างประเทศอยู่แล้ว จึงคิดเพียงว่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน"
รศ. ไตรรัตน์ กล่าวถึงมาตรการการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ ที่จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางของระบบบำเหน็จบำนาญในระดับประเทศ เพื่อเชื่อมประสานนโยบายกองทุนการออมเพื่อการชราภาพทุกกองทุน และการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงาน อาจติดตรงเรื่องของคณะกรรมการจะเป็นแบบไหน เพราะโดยปกติแล้วการจัดตั้งกรรมการกลางจะใช้ผู้ชำนาญการ เพื่อให้มองเห็นการจัดการเรื่องการใช้เงินระยะยาว
นอกจากนี้ รศ. ไตรรัตน์ กล่าวถึงข้อเสนอด้วยว่า อยากให้รัฐบาลมีการรณรงค์ให้ผู้สูงอายุออกจากบ้านมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งรัฐต้องเพิ่มเรื่องของการปรับปรุงพื้นที่ทางเท้าตามสถานที่ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยนำเงินจากส่วนงบประมาณที่เกี่ยวกับก่อสร้างอาคาร เคหะสถานที่ ถนน รถไฟ และท่าเรือ ที่ควรออกแบบให้เหมาะสม
"อีกเรื่องเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ที่เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตของใช้ผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต เพื่อรองรับก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ เช่น ส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ของผู้สูงอายุ และขายกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้าสังคมผู้สูงอายุหลังประเทศไทย โดยอาจลดการนำเข้าสินค้า อุปกรณ์ของใช้ผู้สูงวัยของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศ ญี่ปุ่น เป็นต้น เพราะมีราคาที่แพง การทำเองอาจลดภาษีการนำเข้า และผู้สูงวัยก็สามารถใช้บริการและเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายสำหรับผู้สูงอายุและเหล่าผู้ประกอบการ
ที่มาภาพ:http://hba-th.org/th/