นักสันติวิธี วิเคราะห์กิริยาของผู้นำ ผ่านโอบามา ฮิลลารี ถึงทรัมป์
"ส่วนทรัมป์พูดจาไม่ดี ดูแข็งกร้าว แต่หากวิเคราะห์พฤติกรรมจะพบว่า อ่อนใน ไม่สร้างศัตรูมีความพยายามที่จะประกาศทวิภาคีประกอบกับแนวคิดที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจประเทศโต จึงเชื่อว่าจะทำให้การลงทุนกับการจัดการประเทศอื่นลดน้อยลง เพราะฉะนั้นแนวคิดเช่นนี้ดีต่อสถานการณ์สงครามเย็นที่กำลังเกิดขึ้นกับจีน รัสเซีย"
รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงแนวโน้มผู้นำประเทศในโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการแสดงออกในลักษณะก้าวร้าว (aggressive) แบบเห็นชัดว่า อาจเป็นเรื่องแปลก ไม่เคยเจอในวงการทูต หรือวงการเมืองระหว่างประเทศมากนัก แต่หากดูเฉพาะการแสดงออกภายนอกของผู้นำ โดยไม่ได้ศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจในเชิงการเมือง คิดว่า น่าจะเป็นการอ่านการเมืองที่ผิดพลาด
“หากพิจารณาลักษณะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา, นายวลาดิมีร์ปูติน ประธานาธิบดีรัฐเซีย หรือนายโรดริโก ดูเตร์เต ประธานนาธิบดีฟิลิปปินส์ เราอาจมีความรู้สึกว่า ท่าทางกิริยาของผู้นำแต่ละคนแรง รับไม่ได้ แต่หากดูพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย จะเห็นชัดว่า ทุกคนล้วนพยายามดูแลผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น”
รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้เปรียบเทียบท่าทีของทรัมป์ กับ บารัก โอบามา หรือ ฮิลลารี คลินตัน ฝั่งทีมเดโมแครต ทั้งสองคนคำพูดดี แต่กลับพบว่า มีการส่งกองทัพเข้าไปยุ่มย่ามในตะวันออกกลาง ทำให้เกิดกรณีกลุ่มไอเอสขึ้นมา ฉะนั้นถึงท่าทีอ่อนนอก แต่ข้างในก็แข็ง และก้าวร้าวสุดๆ
"ส่วนทรัมป์พูดจาไม่ดี ดูแข็งกร้าว แต่หากวิเคราะห์พฤติกรรมจะพบว่า อ่อนใน ไม่สร้างศัตรูมีความพยายามที่จะประกาศทวิภาคีประกอบกับแนวคิดที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจประเทศโต จึงเชื่อว่าจะทำให้การลงทุนกับการจัดการประเทศอื่นลดน้อยลง เพราะฉะนั้นแนวคิดเช่นนี้ดีต่อสถานการณ์สงครามเย็นที่กำลังเกิดขึ้นกับจีน รัสเซีย"
รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มองการแสดงออกแบบก้าวร้าว ในแบบที่เราเห็นชัด หรือข้างหลังเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์และพิจารณาให้ดี อีกทั้งในอดีตก็พบว่า โดยสันดานของมหาอำนาจไม่มีใครไม่ก้าวร้าว
สำหรับแนวคิดของทรัมป์ นักสันติวิธี ชี้ว่า มีความน่าสนใจในเชิงสันติวิธีที่มองทั้งเรื่องเป้าหมายและกระบวนการ โดยหากพิจารณากระบวนการของทรัมป์และดูเป้าหมายเชื่อว่า โอกาสที่สหรัฐฯ จะทุ่มเทเงิน อาวุธเพื่อไปถล่มประเทศอื่นน่าจะลดน้อยลง ดังนั้น จึงเชื่อว่า ต่อจากนี้ความรุนแรงทางตรงจะลดลง เมื่อเทียบกับสมัยโอบามา หรือฮิลลารี ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามรศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในทางกลับกัน ทรัมป์อาจสร้างความรุนแรงในอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมา เพราะมีนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัย หรือกรณีชาวมุสลิม ซึ่งต้องติดตามดูว่า ทรัมป์จะเลือกใช้วิธีการอย่างไร
“ผมอธิบายแบบนี้ หากทรัมป์กดดันเรื่องการปิดรับผู้ลี้ภัย พวกเขาก็อพยพออกนอกประเทศไม่ได้ ทั้งที่สงครามการเมืองยังดำรงอยู่การสูญเสียชีวิตจะต้องมีมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ทรัมป์สามารถทำได้คือ อเมริกาอย่าไปยุ่งให้เรื่องการเมืองภายใน อย่าไปยุ่งกับตะวันออกกลาง และเมื่ออเมริกาทำเช่นนี้ ในที่สุดเชื่อว่ารัสเซียก็ต้องถอยตามความรุนแรงในเรื่องสงครามกลางเมืองก็น่าจะลดลง
ส่วนในกรณีมุสลิม ผมมองว่าขึ้นอยู่กับฝ่ายยุทธศาสตร์ของทรัมป์ถ้าใช้วิธีกีดกันมุสลิมที่นานาชาติรับไม่ได้ จะเกิดสงครามใต้ดิน สงครามกองโจรขึ้น อย่างไรก็ดีด้วยความที่ทรัมป์เป็นพ่อค้า มองอะไรที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นคิดว่า
ทั้งสองกรณีดังกล่าว ไม่น่ามีพฤติกรรมที่ทำให้นานาชาติรับไม่ได้ ในเชิงสันติโดยรวมจึงมองว่า การที่ทรัมป์เข้ามาตำแหน่งจะเป็นไปในเชิงบวกมากกว่าลบ”
รศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ วิเคราะห์มิติของความรุนแรงไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการปะทะกัน แต่ยังมีความรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย