หมอชนบท-กก.สปสช.สายประชาชน เตรียมฟ้องล้มมติตั้ง 13 คณะอนุฯ
หมอชนบทแถลงการณ์ซ้ำ “ค้านล้มบัตรทอง” ตัวแทนประชาชนในบอร์ด สปสช.ประท้วงลาออกเหตุรับไม่ได้ตั้ง 13 คณะอนุฯ “ผิดหลักการ-เปิดช่องแสวงประโยชน์กองทุนสุขภาพ” เตรียมฟ้องศาลยกเลิกมติ
วันที่ 26 ม.ค.55 ชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 “คัดค้านการเปลี่ยนหลักการและล้มระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มแพทย์ พาณิชย์และการเมือง” สรุปความว่า ตามที่ชมรมฯและเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้เปิดโปงแผน 4 ขั้นตอนล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ยังมีความพยายามผลักดันให้มีการออกนโยบายเปลี่ยนหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เช่น วันที่ 20 ม.ค. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เสนอจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพใหม่ โดยล้มการรวมเงินเดือนบุคลากรของหน่วยบริการต่างๆหรือหักเงินเดือนระดับประเทศ และจัดสรรงบรวมให้เขตตรวจราชการแทนจัดสรรตรงให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญการปฏิรูปโดยการกระจายบุคลากรสาธารณสุขไปในชนบทขาดแคลน หรือข้อเสนอ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ผู้แทนสมาคม รพ.เอกชน 6 ธ.ค.ให้ยกเลิกโครงการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุที่บอร์ดชุดเดิมได้ริเริ่มไว้และเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุปีละกว่า 1 แสนราย ช่วยลดค่าผ่าตัดต้อกระจกลงคนละหลายหมื่นบาท ซึ่งกระทบกับรายได้ของ รพ.เอกชน
ล่าสุดยังผลักดันให้มีการจัดตั้งและแต่งตั้งคนภายนอกของตนที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับระบบ หลักประกันสุขภาพเข้ายึดครองกลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังและ คณะอนุฯชุดต่างๆ โดยหวังให้กลไกกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของ สปสช.ไร้ประสิทธิภาพเปิดโอกาสให้กลุ่มแพทย์พาณิชย์และการเมืองเข้าแสวงหาประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพ
ชมรมแพทย์ชนบทขอคัดค้าน รมว.สธ.ในการผลักดันให้ นางวรานุช หงสประภาส อดีตที่ปรึกษาสำนักงบประมาณเป็นประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม รวมทั้งคัดค้านปลัด สธ.ที่ละเลยอำนาจหน้าที่ของตนในการปกป้องระบบบริการและการเงินของหน่วยบริการในสังกัด ด้วยการยอมอำนาจฝ่ายการเมืองให้ตัดผู้แทน นพ.สสจ. ผู้แทน รพศ./รพท. ผู้แทนรพช. และรพ.สต.ออกจากคณะอนุกก.ชุดนี้ ทั้งที่อดีตที่ผ่านมาผู้แทนหน่วยบริการเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดและเสนอนโยบายการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ
ทั้งนี้มีรายงานข่าวจาก สธ.แจ้งว่า นางวรานุช ได้ยื่นใบลาออกจากกรรมการ สปสช.และประธานคณะอนุฯการเงินการคลังแล้ว ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน และนายนิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ด สปสช.ในสัดส่วนองค์กรภาคประชาชนประกาศถอนตัวจากการเป็นอนุกรรมการ สปสช.ทุกคณะ โดยให้เหตุผลว่ารับไม่ได้ที่ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจและเสียงข้างมากผลักดันการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านว่าผิดหลักการของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ต้องการสร้างสมดุลแยกผู้ใช้บริการสาธารณสุขออกจากผู้ให้บริการโดย มี สปสช.เป็นผู้แทน และมีความสุ่มเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายในการเปิดโอกาสให้คณะอนุฯ และบอร์ดเข้าล้วงลูกการทำงาน สปสช.และการตรวจสอบของ สตง.
นพ.วิชัย กล่าวว่า การแต่งตั้งอนุกรรมการ ทั้ง 13 ชุดครั้งนี้ เปิดโอกาสให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากฝ่ายการเมืองในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ภาคีภาคประชาชนและเครือข่ายผู้ป่วยในฐานะผู้เสียหายกำลังเตรียมการขออำนาจศาลปกครองเพิกถอนมติการแต่งตั้งดังกล่าว
"การลาออกของนางวรนุช จะกระทบการทำงานของบอร์ด สปสช.ที่มี รมว.สธ.เป็นประธานอย่างมาก เพราะต้องมีการเสนองบเหมาจ่ายรายหัวปี 2556 ต่อคณะรัฐมนตรีในเร็วนี้ ถ้านางวรานุชยังอยู่จะต้องรับกับแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆซึ่งมีแนวโน้มผลักดันเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวครั้งใหญ่ให้ใกล้เคียงกับระบบประกันสังคมที่ชิงเพิ่มในอัตราสูงกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการแล้ว รวมทั้งแรงกดดันจัดสรรงบลงสู่พื้นที่ของฝ่ายการเมือง โดยอดีตที่ผ่านมาคณะอนุฯชุดนี้มี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ดร.อัมมาร์ สยามวรา เป็นประธาน"นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย ยังเปิดใจถึงสาเหตุวอล์คเอาท์ออกจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) 24 ม.ค.เพราะรับไม่ได้กับการประชุมที่ผิดหลักการ ขัดระเบียบและพยายามล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชัดเจน เริ่มจากการรับรองรายงานประชุม นายวิทยา ในฐานะประธานที่ประชุมขอแก้ไขรายงานเรื่องตั้งกลุ่มบุคคลมาดูแลการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ทั้งที่เคยเสนอเองว่าให้ประกอบด้วยปลัด สธ. นพ.ประดิษฐ์ สินธณรงค์ และผู้แทนแรงงาน และพูดชัดว่าทั้ง 3 คนนี้ไม่ให้เข้าไปเป็นคณะอนุฯ แต่ครั้งนี้กลับขอแก้ไขว่าถ้าเป็นโดยตำแหน่งนั้นเป็นได้ และยังเสนอให้ปลัด สธ.เป็นประธานอนุฯ ซึ่งผิดหลักการ
ตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช. เปิดเผยต่อว่ายังมีการทำผิดระเบียบการประชุมอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการส่งเอกสารล่วงหน้า โดยเฉพาะข้อเสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆไม่มีทั้งหลักการเหตุผล ประวัติและรายละเอียดผู้ที่จะเป็นอนุกรรมการ ไม่เป็นไปตามมติประชุมครั้งที่แล้วที่ระบุให้อธิบายได้ว่าใช้หลักการอะไรตั้งคณะอนุฯ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเริ่มพิจารณา ที่ประชุมขอให้แสดงหลักการเหตุผล ผู้เสนอคือปลัด สธ.และนพ.ประดิษฐ์ ก็ไม่สามารถแสดงได้ นอกจากนี้อำนาจหน้าที่ของบางคณะเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และแสดงอย่างชัดแจ้งว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขต้องการแทรกแซงการทำงานของ สปสช.“
เช่น คณะอนุฯชุดหนึ่ง ระบุว่ามีอำนาจพิจารณาหักเงินสถานบริการหรือไม่ ซึ่งอดีตมี รพ.เอกชนบางแห่งเบิกเงิบเกิน 80 ล้านบาท สปสช.พบความผิดปกติและเรียกเงินคืน จริงอยู่ก่อนหน้านี้มีคณะที่ปรึกษาเลขาธิการ สปสช.ทำหน้าที่กลั่นกรอง แต่อยู่ในส่วนสำนักงาน แต่ข้อเสนอครั้งล่าสุดให้มาอยู่ภายใต้บอร์ดที่ปลัด สธ.เป็นประธาน จึงมีส่วนได้เสียชัดเจน หากเป็นโรงพยาบาลของ สธ.ทำผิด จะหักหรือไม่หักเงินคืน”
นพ.วิชัย ระบุอีกว่าการตั้ง สปสช.มาดูระบบหลักประกันสุขภาพ มีหลักการเพื่อความเป็นอิสระจากผู้ให้บริการคือ สธ. โดย สปสช.มีหน้าที่บริหารเงิน สธ.มีอำนาจบริหารโรงพยาบาลให้ดี แต่หากทำเช่นตอนนี้กระทรวงก็จะมีอำนาจเหนือ สปสช. ซึ่งผิดหลักการ พิจารณาไป 2 คณะอนุฯ ปลัด สธ.ก็เป็นประธานทั้ง 2 คณะ .