ประจิน แจงยิบปมเด้ง ปลัดดีอี ไร้ทุจริต-ไม่ขัดแย้ง แค่ทดลองเปลี่ยนหน.ทีม
"นางทรงพรไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติไม่ชอบ และอาจเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้การทำงานมีความพร้อมมากขึ้น เพราะ 1 ปีที่ผ่านมานายกฯคาดหวังให้กระทรวงดีอีเดินหน้าตามภารกิจในวาระที่วางไว้ เพื่อให้เป็นความหวังของรัฐบาลและประชาชน แต่เมื่อยังไม่บรรลุผลจึงทดลองเปลี่ยนหัวหน้าทีม"
ภายหลังจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้เปิดเผยข้อมูล 3 ปมความขัดแย้งในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้แก่ หนึ่ง กรณีปัญหาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากไทยคม สอง ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน สาม การไม่เข้าร่วมประชุมเตรียมการจัดงานโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมระดับโลก “ITU Telecom World 2016” จนเป็นชนวนเหตุให้ นางทรงพร โกมลสุรเดช ถูกคำสั่งมาตรา 44 ย้ายพ้นตำแหน่งปลัดกระทรวงดีอี ขณะที่ นางทรงพร ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการไม่เข้าร่วมประชุมเตรียมงานITU ที่ถูกมองว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ถูกย้ายพ้นตำแหน่ง นางทรงพร ยืนยันว่า "ในการประชุมครั้งสุดท้ายที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เป็นเพราะติดภารกิจการประชุมชี้แจงกฎหมายกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช. )ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมาก และก็ได้แจ้งขอเรียนลาการประชุมกับพล.อ.ประจินแล้ว ซึ่งท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งอะไรกับพล.อ.อ.ประจินด้วย"
(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! 3 ปมร้อน'ไทยคม-เน็ตหมู่บ้าน-ITU' เด้งปลัดดิจิทัล-เจ้าตัวโต้ไม่จริง)
ล่าสุด “บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงข้อเท็จจริงการย้ายปลัดกระทรวงดีอี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ เหตุใดถึงต้องย้ายนางทรงพรออกจากตำแหน่ง
เป็นการปรับย้ายเพื่อให้เกิดความเหมาะสม มีประสิทธิภาพในการทำงาน และยืนยันว่านางทรงพรไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติไม่ชอบ และอาจเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้การทำงานมีความพร้อมมากขึ้น เพราะ 1 ปีที่ผ่านมานายกฯคาดหวังให้กระทรวงดีอีเดินหน้าตามภารกิจในวาระที่วางไว้ เพื่อให้เป็นความหวังของรัฐบาลและประชาชน แต่เมื่อยังไม่บรรลุผลจึงทดลองเปลี่ยนหัวหน้าทีม และอยากให้โอกาสนางวิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดีอีคนใหม่ ได้ลองทำงาน
@ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมดาวเทียมไทยคม
กรณีการต่อสัญญาสัมปานดาวเทียมไทยคมดวงที่ 6 ที่กำลังหมดสัญญาสัมปทานนั้น กำลังดำเนินการพิจารณา ส่วนดวงที่ 7 และ 8 มีการดำเนินการในลักษณะขอใบอนุญาต ซึ่งมีคำถามว่าจะถูกต้องตามกฎหมายอยู่หรือไม่ โดย ครม.รับทราบผลการดำเนินการที่ผ่านมา โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ และสั่งการให้ดำเนินการให้เป็นตามกฎหมาย
“ผมได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการของดีอี มาหารือแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และมีการรายงานความก้าวหน้าให้ครม.ทราบเป็นระยะ โดยผมได้มอบหมายให้นางวิไลลักษณ์ ปลัดดีอี คนใหม่ ตั้งคณะทำงานชุดใหม่ เพื่อตรวจสอบดูบริบทที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายการให้บริการ ผลประโยชน์ คาดว่าสัปดาห์หน้าคณะทำงานชุดดังกล่าวจะมีข้อเสนอมาให้ผมได้สั่งการ และรายงานต่อนายกฯได้ภายในต้นเดือนธันวาคม และตั้งใจจะให้แล้วเสร็จไม่เกินเดินกุมภาพันธ์ 2560”
@ มีการทักท้วงว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสัมปทานที่ออกให้ตามใบอนุญาต 6% ทำให้รัฐขาดรายได้ จึงควรเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบสัญญาสัมปทานตามเดิม ซึ่งจะทำให้ไทยคมเสียค่าธรรมเนียม 20.5 %
จะต้องมีฝ่ายกฎหมายเข้ามาดูเรื่องนี้ เพราะมีความซับซ้อนมาก และเกรงว่าจะกระทบต่อประชาชน ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าควรจะต้องมีการเจรจากัน เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย แต่ครม.ยืนยันว่าต้องเป็นหน้าของกระทรวงดีอี ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย
“เราต้องเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง และเอารายละเอียดการดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มสัมปทานเมื่อปี 2535 มาตรวจสอบดูถึงข้อตกลง และต้องดูเรื่องของเจตนาว่ามีอะไรบ้าง เราจะพยายามทำให้เร็วที่สุด ส่วนจะเรียกเก็บย้อนหลังตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแบบใบอนุญาตเลยหรือไม่ ก็ต้องดูกฎหมายทั้งหมดก่อน
@ โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจะเดินหน้าต่ออย่างไร
โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการวางโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ก่อนหน้านี้เราคาดว่าจะเริ่มต้นโครงการดังกล่าวได้ในช่วงกลางปี 2559 แต่เมื่อยังเริ่มต้นไม่ได้ก็ต้องมาดูปัญหา เพื่อแก้ไขให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่ามีปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องของพื้นที่ แต่จากการประชุมครั้งล่าสุดเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบยืนยันไม่มีที่ซ้ำซ้อน
“คณะกรรมการเตรียมความพร้อมดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม เห็นชอบให้โอนงบประมาณในโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน 1.5 หมื่นล้านบาท ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ และในส่วนที่เป็นเคเบิ้ลใต้น้ำอนุมัติให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ดำเนินการ โดยทั้ง 2 ส่วนนายกฯได้ตั้งคณะทำงานโดยมีนางวิไลลักษณ์ เป็นประธาน จากนั้นจะกำหนดแนวทางและติดตามความพร้อม โดยจะเริ่มประชุมในสัปดาห์หน้า”
โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน มีทั้งหมด 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ ในส่วนที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม มีโซนเอและโซนบี ส่วนโซนซีและโซนซีบวก มีจำนวน 40,432 หมู่บ้าน โดย 24,700 หมู่บ้าน แยกให้บริษัททีโอทีดำเนินการ ที่เหลืออีก 15,732 หมู่บ้าน ให้กสทช.ดำเนินการ โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส งบประมาณไม่รั่วไหล หรือเกิดการทุจริตขึ้น และภายในวันที่ 25 ธันวาคม จะต้องมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับบริษัทผู้ให้บริการ
ส่วนระบบเคเบิ้ลใต้น้ำคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน เพราะต้องเชื่อมต่อทั้งภายในและภายนอกประเทศ และมีเป้าหมายเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ไทยเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งศึกษาการเชื่อมต่อกับประเทศจีนและอินเดีย โดยเบื้องต้นจะเชื่อมต่อจากประเทศสิงคโปร์ก่อน
@ ฟางเชือกสุดท้ายที่ทำให้ย้ายนางทรงพร เพราะไม่เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมระดับโลก
ไม่จริง เพราะถ้าใครอยู่ในที่ประชุมจะรู้ว่าตนไม่เคยตำหนินางทรงพรเลย แต่มีเรื่องที่ค่อนข้างจะห่วงใยคือเรื่องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งในช่วงนี้การประชาสัมพันธ์เรื่องต่างๆ อยู่ในช่วงอ่อนไหวก็ให้มีการปรับเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ซอฟต์ลงตามเหตุการณ์ แต่จะทำอย่างไรให้ได้เป้าหมายใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 1 แสนคน
“แต่มีตัวบุคคลที่กระทบบางเรื่อง คืออุตสาห์กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ การจัดระดับชาติ และระดับโลก แต่การประชาสัมพันธ์ก็ไม่ได้เพราะช่วงนี้ไม่เหมาะ กำหนดเป้าหมายไว้ 1 แสนคนก็ไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าตึงๆ นิดหน่อย และเกรงว่าจะเสียเงินโดยไม่ได้รับอะไร จึงปรับกลยุทธ์ตรงนี้ แต่ไม่เคยมีการกระทบกระทั่งกับบุคคล”
ทั้งหมดนี่ คือ คำชี้แจงจาก พล.อ.ประจิน เกี่ยวกับการย้ายปลัดกระทรวงดีอี ที่กำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะนี้