กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวเลขไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้า-แมลง กว่า 9 หมื่นตัน/ปี
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เสนอยกเลิก-จำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต, ไกลโฟเสท และ คลอร์โพริฟอส ด้านนักวิชาการกรมควบคุมมลพิษ ชี้ปีหน้า เวทีโลกกำลังพิจารณา พาราควอต ว่าจะอยู่ในอนุสัญญารอตเตอร์ดัมหรือไม่
วันที่ 8 พฤศจิกายน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปี 2559 ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ
ภายในงานมีเวทีเสวนา ข้อเสนอยกเลิกและกำจัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ ยกเลิก พาราควอต, จำกัดการใช้ ไกลโฟเสท พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่สาธารณะโดยทันที และจำกัดการใช้ คลอร์โพริฟอส ในพืชอาหารทุกประเภท
ผศ.ดร.นพ.ปัตพงศ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานคณะทำงานศึกษาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวถึง ข้อเสนอยกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรงนั้น มีการหยิบขึ้นมาพูดคุยนานหลายปีแล้ว ซึ่งก็คืบหน้าไปหลายเรื่อง โดยการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา ไม่ได้ห่วงใยเฉพาะสุขภาพของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เราทำเพื่อคนรุ่นต่อไปด้วย
“ปีนี้ สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการใช้อยู่จำนวนมาก มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก 3 ชนิด คือ ไกลโฟเสท พาราควอต คลอร์โพริฟอส เราพบว่า มีทั้งนำเข้ามาก ใช้มาก และสร้างผลกระทบสูง หมายความว่า เราต้องถกกันแล้วว่า สังคมไทยต้องจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที”
ประธานคณะทำงานศึกษาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งชี้ว่า เราควรทุ่มเทพลังให้ความสนใจควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างจริงจัง
"ปัญหาที่เกิดกับเด็กมีหลากหลายรูปแบบมาก มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก สติปัญญาของเด็ก และความพิการแต่กำเนิด ในประเทศไทย มีสถิติรายงานว่า เด็กไทย 100 คนเกิดมา พบมีความพิการถึง 8 คน หรือ 8% ขณะที่สหภาพยุโรป เด็ก 100 คนเกิดมา พบมีความพิการ 2 คน หรือ 2%"ผศ.ดร.นพ.ปัตพงศ์ กล่าว และเชื่อว่า หากเก็บสถิติดีๆ ทั้งไทยและยุโรป ตัวเลขจะพบมากกว่านี้แน่นอน และอาจมีความพิการมากมายของเด็กที่เราอาจนึกไม่ถึง เช่น รูท่อปัสสาวะอุดตัน ออทิสติกที่มีมากขึ้น ซึ่งการศึกษาของต่างประเทศ ระบุด้วยว่า หากปล่อยไปแบบนี้ เด็ก 1 ใน 2 คนที่เกิดมา จะเป็นออทิสติก”
ผศ.ดร.นพ.ปัตพงศ์ กล่าวถึงความพิการแต่กำเนิดมีให้เห็นมากมาย สาเหตุหนีไม่พ้นสารเคมี อีกทั้งมีงานวิจัยที่รวมรวบและถูกตีพิมพ์ไว้ในระดับนานาชาติก็สามารถยืนยันได้
“เมืองไทยกับการใช้สารเคมี เมื่อเจาะเลือดจากสายสะดือเด็ก พบเจอสารเคมีในเด็กยังไม่ทันได้กินนมแม่เลย ทั้งสารเคมีก่อมะเร็ง สารเคมีกระทบต่อระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ทำให้พิการแต่กำเนิด ในสหรัฐฯ พบความพิการรูท่อปัสสาวะชนิดนี้ถึง 200% แม้เราอาจได้ยินว่า ไวรัสซิก้าทำให้เด็กสมองเล็ก ผมว่า ไม่จริง เป็นปัจจัยเล็กๆ ปัจจัยใหญ่คือสารเคมี”
ประธานคณะทำงานศึกษาสารเคมีกำจัดศูตรพืช กล่าวด้วยว่า องค์การอนามัยโลก รายงานในเว็บไซต์ สาเหตุเด็กสมองเล็ก มีหลายปัจจัยไม่ใช่เฉพาะไวรัสซิก้า ไฮไลท์คือสารเคมี นอกจากนี้สารเคมียังทำให้เกิดการเป็นหมัน ช่วงหลังเราจึงเห็นเด็กเกิดใหม่น้อยลง และมีเกิดมามีสภาพไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงศ์ กล่าวถึงผลสำรวจไอคิวเด็กไทยปี 2559 พบว่า เด็กประถมมีไอคิวต่ำกว่าปกติ ถึง 35 จังหวัด หรือคิดเป็น 45% ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของแคนนา ที่พบว่า เด็กไอคิวลด 5 คะแนน จะมีผลทำให้สังคมสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านเหรียญแคนาดา ฉะนั้นผลกระทบของสารเคมี ซึมลึก กว้างไกล และยาวนาน ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยของนอร์เวย์ มีการวิจัยและติดตามหญิงตั้งครรภ์กว่า 3 หมื่นคน พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่บริโภคอาหารออร์แกนิก อาหารปลอดสาร ลูกเกิดมาพิการด้วยภาวะรูท่องปัสสาวะเปิดต่ำ (Hypospadias) น้อยกว่า หญิงตั้งครรภ์อีกกลุ่มหนึ่ง หรือเท่ากับ 2.3 เท่า
ขณะที่นายศรัณย์ วัธนธาดา กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงสารเคมี 3 ประเภท พาราควอต ไกลโฟเสท (สารเคมีกำจัดวัชพืช) และคลอร์โพริฟอส (ยาฆ่าแมลง) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตต้องมาขอขึ้นทะเบียน จะขายหรือส่งออกต้องขออนุญาต
“การขึ้นทะเบียน กรมวิชาการจะดูประสิทธิภาพการใช้ ดูเรื่องความปลอดภัย ความเป็นพิษเฉียบพลัน ทางปาก ผิวหนัง และพิษระยะยาว พิษกับสิ่งแวดล้อม ข้อมูลทั้งหมดจะประกอบการขึ้นทะเบียน ก่อนออกฉลาก”
นายศรัณย์ กล่าวอีกว่า ปีๆหนึ่งมีปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตราย 1.5 แสนตัน หรือ 150 ล้านลิตร มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่รู้หรือไม่ "ไกลโฟเสท" มีการนำเข้าถึง 6 หมื่นตันหรือ 60 ล้านลิตร "พาราควอต" 3 หมื่นต้น หรือ 30 ล้านลิตร และ "คลอร์โพริฟอส" 2 พันต้น หรือ 2 ล้านลิตร ซึ่งรวมแล้วเกินครึ่งของการนำเข้าวัตถุอันตรายทั้งหมด
“การใช้สารไกลโฟเสท ฉีดไปสีเขียวตายหมด และดูซึมเข้าไปในต้นไม้ ส่วนพาราควอต อยู่ที่ผิว ไม่ดูดซึมไปที่ต้นไม้ และพบว่า ไกลโฟเสท พาราควอต ส่วนใหญ่ใช้ในสวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา ยูคาลิปตัส ส่วนคลอร์โพริฟอส ใช้กำจัดแมลง หนอน ผีเสื้อ”
สำหรับข้อเรียกร้องให้จำกัดการใช้คลอร์โพริฟอส ในพืชอาหารทุกประเภทนั้น นายศรัณย์ กล่าวว่า มีขึ้นทะเบียนใช้กับพืชอาหาร ในพริก และมะเขือเทศ ใช้ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 7 วัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้และห้ามใช้ หากพบว่า มีค่าความเป็นพิษสูง หรือมีสารตกค้าง ซึ่งจะนำไปประกอบการพิจารณาห้ามใช้และจำกัดการใช้ต่อไป
ส่วนนายมโนรัตน์ ฤทธิ์เต็ม กรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ จะมีคณะทำงานพิจารณาสารเคมีที่มีใช้ในโลก ทางด้านการเกษตรชนิดใดอันตรายร้ายแรง รัฐภาคีจะมาพิจารณาร่วมกัน หากพบมาสารเคมีใดมีปัญหาจะนำสู่รัฐภาคี ที่มีการประชุมทุกๆ 2 ปี
“โดยเฉพาะ พาราควอต หรือกรัมม๊อกโซน มีการนำเข้าพิจารณาในระดับเวทีโลกตั้งแต่ปี 2510 เนื่องจากประเทศบูร์กินาฟาโซ มีปัญหาเรื่องของการใช้ มีผลต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม จึงเสนอพาราควอต เป็นสารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ คือการที่ประเทศใดส่งสารเคมีไปประเทศนั้น ต้องได้รับการยินยอมหรือตอบรับ ซึ่งประเทศบูร์กินาฟาโซมีการเสนอแล้ว แต่รัฐภาคีอนุสัญญาฯ ยังไม่เห็นชอบ โดยประเทศที่คัดค้านเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และแอฟริกา เนื่องจากยังมีการใช้ประโยชน์อยู่ รวมถึงประเทศไทย ลาว กัมพูชาด้วย”
นายมโนรัตน์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีจะต้องตื่นตัวรับรู้ ทุกหน่วยงานต้องสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่เกษตรกร เวทีโลกเป็นฉากหนึ่งที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม อีกทั้งบางประเทศระมัดระวังการใช้สารเคมี ฉะนั้นไทยต้องให้ความสำคัญได้แล้ว
“สารเคมีทางการเกษตรในบ้านเรามีการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมไว้บ้าง แต่ยังไม่ครอบคลุม สารเคมีกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งกำลังทบทวนข้อมูล กำหนดมาตรฐาน โดยเฉพาะคลอร์โพริฟอส สารเคมีที่มีปัญหาความเป็นพิษเป็นภัย”
นายมโนรัตน์ กล่าวด้วยว่า ปี 2560 เวทีโลกกำลังพิจารณา พาราควอต ว่าจะอยู่ในอนุสัญญารอตเตอร์ดัมหรือไม่ ปีหน้าสารเคมีตัวนี้จะเข้าอีกครั้งหลังจากไม่ผ่านการพิจารณาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศรีลังกา เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า กลุ่มไกลโฟเสท พบสาเหตุตายไตเรื้อรังกว่า 2 หมื่น