เบื้องหลัง! 3 ปมร้อน'ไทยคม-เน็ตหมู่บ้าน-ITU' เด้งปลัดดิจิทัล-เจ้าตัวโต้ไม่จริง
"...ตอนนี้ยังไม่ได้รายงานตัวเพื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ เพราะได้รับแจ้งว่า ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ เป็นทางการก่อน จึงยังถือว่าตอนนี้อยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลอยู่ แต่หยุดปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. ไม่สามารถเซ็นงานอะไรได้ แต่มานั่งคิดก็ดีเหมือนกัน ช่วงนี้ไม่ต้องไปเซ็นอะไรที่จะมีปัญหากับตัวเองที่จะตามมาในอนาคต"
"..โดยที่เป็นการสมควรกําหนดตําแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่งเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ นางทรงพร โกมลสุรเดช พ้นจากตําแหน่ง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจราชการและเป็นที่ปรึกษาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ 2 ให้ นางสาววิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล พ้นจากตําแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานสถิติแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่ง ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม..."
คือ เนื้อหาใจความสำคัญที่ระบุ ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2559 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ฉบับล่าสุด ที่ราชกิจจาบุเบกษา เผยแพร่เป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : ม.44 เด้ง‘ปลัดดิจิทัล’ ปมขยายไฮสปีดเน็ต 1.5 หมื่นล.-สัมปทานไทยคม 8
อันนำมาซึ่งความสงสัยของสาธารณชนว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ 'นางทรงพร โกมลสุรเดช' ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ถูกออกคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบครั้งนี้ มาจากสาเหตุอะไรกันแน่? และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรอยู่หรือไม่?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาล ถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งโยกย้าย นางทรงพร โกมลสุรเดช ออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัล ว่า มาจาก 3 เรื่องหลักๆ ซึ่งเกี่ยวพันต่อเนื่อง เป็นปัญหาสะสม และนำไปสู่ฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ต้องถูกออกคำสั่งโยกย้ายจากตำแหน่ง
หนึ่ง กรณีปัญหาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากไทยคม
กรณีนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นมาแล้ว และมีการเปลี่ยนระบบจากการให้สัมปทาน เป็นการออกใบอนุญาตให้แทน อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช. มีอำนาจเรียกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากไทยคมไทยแค่ 6 % จากเดิมที่ในระบบสัมปทานสามารถจัดเก็บได้ 20.5% ทำให้รัฐขาดรายได้เป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งเงินรายได้ที่ขาดหายไปนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที ชื่อเดิมของ กระทรวงดิจิทัล) ขณะที่การจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจะต้องมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมา
แต่ที่ผ่านมาทางกระทรวงไอซีที ไม่มีการออกระเบียบเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมจากไทยคม และปัญหานี้ก็ค้างคามาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่ง กสทช. ได้ทำหนังสือเร่งรัดให้ดำเนินการมาตลอด แต่ก็ไม่มีการดำเนินการ และจนกระทั่งครม.มีมติให้ดำเนินการเรื่อนี้ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอีก
โดยล่าสุด ภายหลังจากที่หัวหน้า คสช. มีคำสั่งโยกย้ายปลัดดิจิทัล คนเก่าไปแล้ว พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล จะสั่งการให้มีการเชิญตัวแทนจากไทยคมมาเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมที่ขาดหายไป และอาจจะมีการออกระเบียบกฏเกณฑ์ใหม่ เรียกเงินส่วนที่ขาดหายไปย้อนหลังตั้งแต่ปี 2557 กลับมาด้วย
(อ่านประกอบ : โชว์หนังสือ กสทช.ถาม‘ปลัดดิจิทัล’ ปมเก็บเงินค่าสัมปทานดาวเทียม-ก่อนถูก ม.44)
สอง ปัญหาความล่าช้าในการดำเนินงานโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน
ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2559 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการพิจารณาเรื่องโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน จำนวน 4 หมื่นหมู่บ่าน ซึ่งกระทรวงดิจิทัล รับผิดชอบวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ต จำนวน 2 หมื่นหมู่บ้าน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของกสทช.
ปรากฎว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการสอบถามถึงปัญหาความล่าช้าในการทำงานเรื่องต่างๆ โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีการพูดที่เล่นที่จริง ว่า ปัญหาการทำงานที่ล่าช้า อาจจะมีการโยกย้ายบางอย่าง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
สาม การไม่เข้าร่วมประชุมเตรียมการจัดงานโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมระดับโลก “ITU Telecom World 2016”
หลังจากการประชุมโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งถูกพล.อ.ประยุทธ์ ตำหนิเรื่องความล่าช้าในการดำเนินงาน ตามที่กล่าวไปแล้ว ในปลายสัปดาห์ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีคำสั่งโยกย้ายปลัดดิจิทัล ในวันที่ 5 พ.ย.2559
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2559 มีการประชุมเตรียมงานจัดงานโชว์เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมระดับโลก “ITU Telecom World 2016” ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งกระทรวงดิจิทัล และกสทช.เป็นเลขานุการร่วม
ปรากฎว่า นางทรงพร ปลัดกระทรวงดิจิทัล ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งที่เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ขณะที่ในการประชุมเตรียมงาน 7 ครั้งที่ผ่านมา นางทรงพร ก็มาร่วมประชุมแค่ครั้งเดียว
"ในการประชุมครั้งสุดท้าย ที่นางทรงพร ไม่มาเข้าร่วมประชุมทำให้ พล.อ.ประจิน ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญกับประเทศไทยมาก มีผู้นำหลายประเทศมาร่วมงานได้ จึงได้มีการไล่บี้สอบถามในที่ประชุมว่า ทำไมปลัดไอซีที ถึงไม่มาเข้าร่วมประชุมด้วย"
"กรณีนี้ จึงถูกมองว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ปลัดดิจิทัลโดนสั่งย้าย เพราะพล.อ.ประจิน โกรธมาก และภายหลังจากที่ประชุมครั้งนี้ เสร็จสิ้นลงก่อนจะมีคำสั่งโยกย้าย ปลัดดิจิทัล ตามมา ในวันที่ 5 พ.ย.2559 "
ขณะที่ นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัล ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา แต่ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
โดยในประเด็นเรื่องปัญหากรณีไทยคมนั้น ข้อเท็จจริงคือ กสทช. กับไทยคมมีการแก้ไขเรื่องการจ่ายค่าสัมปทาน มาเป็นการให้ใบอนุญาต มาตั้งแต่ปี 2555, 2557 แล้ว แต่ทาง กสทช.ไม่เคยแจ้งหนังสืออะไรมาให้กระทรวงไอซีทีเลย แต่พอมาถึงช่วงปี 2559 กลับเพิ่งทำหนังสือแจ้งมา 2 ครั้ง ตามที่เป็นข่าว ลองคิดดูว่าปัญหาเกิดจากใคร ทำไมปล่อยเรื่องไว้ตั้งนานเพิ่งมาแจ้ง ช่วงที่ผ่านมาไปทำอะไรอยู่
"ส่วนที่ไประบุว่าเรื่องนี้มีมติ ครม.ออกมาแล้ว ก็ยังไม่ดำเนินการอะไรอีก ก็ไม่เป็นความจริง เรากำลังทำให้อยู่ ซึ่งขั้นตอนรายละเอียดการดำเนินงานไปตรวจสอบข้อมูลได้เลย"
ต่อมาประเด็นเรื่อง อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ขอยืนยันว่า ในการประชุมร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ สิ่งสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูด คือ ถ้ามีปัญหาตรงไหน ก็รีบไปทำงานแก้ไขปัญหาโดยเร็วๆ เป็นหลัก
ส่วนเรื่องที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมงาน ITU และทำให้พล.อ.ประจิน โกรธมาก ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุม มีการแจ้งลาโดยตรงกับพล.อ.ประจิน ตลอด และมีการมอบตัวแทนซึ่งเป็นระดับรองฯไปแทนทุกครั้ง เพราะกระทรวงฯให้ความสำคัญกับการจัดงานนี้อย่างมาก
"ในการประชุมครั้งสุดท้ายที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เป็นเพราะติดภารกิจการประชุมชี้แจงกฎหมายกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช. )ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมาก และก็ได้แจ้งขอเรียนลาการประชุมกับพล.อ.ประจินแล้ว ซึ่งท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งอะไรกับพล.อ.ประจินด้วย"
เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวคิดว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้ถูกโยกย้ายครั้งนี้ นางทรงพร กล่าวว่า "เท่าที่ติดตามข่าวมีการพูดกันว่า เป็นเรื่องการทำงานโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านที่ล่าช้า ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าการทำงานของตนกับโครงการอินเตอร์หมู่บ้าน ทำงานตามขั้นตอนตลอด เจออะไรที่มีปัญหาไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำงานเต็มที่ ส่วนคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยไปล้วงลูกอะไร ไม่รู้มีใครเป็นหมากตัวสำคัญ เดินตามเกมใครบางคนที่คิดจะเอาเราออกไปจากโครงการนี้ ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรด้วยหรือเปล่า ซึ่งก็ขอให้สังคมคอยติดตามตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนี้ต่อไปแล้วกัน"
"ตอนนี้ยังไม่ได้รายงานตัว เพื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ เพราะได้รับแจ้งว่า ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ เป็นทางการก่อน จึงยังถือว่าตอนนี้อยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลอยู่ แต่หยุดปฎิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. ไม่สามารถเซ็นงานอะไรได้ แต่มานั่งคิดก็ดีเหมือนกัน ช่วงนี้ไม่ต้องไปเซ็นอะไรที่จะมีปัญหากับตัวเองที่จะตามมาในอนาคต"
นางทรงพร ยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีการใช้มาตรา 44 โยกย้ายตำแหน่ง คนมักจะคิดกันว่าไป คนที่ถูกโยกย้ายมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต แต่กรณีของดิฉันไม่ใช่ เพราะการทำงานที่ผ่านมาของดิฉันไม่มีเรื่องทุจริต และไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องพวกนี้ด้วย ส่วนเหตุผลจริงๆ จะมาจากเรื่องอะไรนั้น ไม่ทราบ
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลสองฝั่ง แต่ถ้าหากใครพิจารณาให้ดี จะพบว่ามีปัญหาประเด็นและเงื่อนปมบางอย่าง ที่ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังตามมาอยู่เป็นระยะๆ ว่า โครงการนี้ มีเรื่องแปลกๆ โปรดอย่ากระพริบตาโดยเด็ดขาด
(อ่านประกอบ : ชำแหละจุดตายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตไอซีทีหมื่นล.ฉบับ สตง.! เร่งรีบ-ส่อสูญเปล่า)