ผอ.มูลนิธิชีววิถี ชี้รัฐเอื้อประโยชน์พ่อค้าไม่เก็บภาษี 27% นำเข้าข้าวโพด-ข้าวสาลี
ผอ.มูลนิธิชีววิถี เผยราคาข้าวโพดตกหนัก เหตุนำเข้ามาก ชี้รัฐเอื้อประโยชน์พ่อค้าไม่เก็บภาษีนำเข้า เปิดให้ได้ตลอดปีไม่จำกัดเวลา
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ว่า อาจทบทวนการอนุญาตให้บริษัทยักษ์ใหญ่นำเข้าข้าวสาลีหรือข้าวโพดว่า ในพันธสัญญาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ประเทศไทยผูกมัดที่จะต้องลดภาษีลงจากอัตราภาษีเดิมที่ 56 % เหลือ 27 % นั่นหมายความว่า จะสามารถเก็บภาษีได้ 27 % แต่นโยบายของรัฐกลับมาอุดหนุนและสนับสนุน บริษัทอาหารสัตว์ โดยอนุญาตให้มีการนำเข้าอาหารสัตว์โดยไม่เสียภาษี
"ปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีปี 2559 ประมาณการอยู่ที่ 3.4-5 ล้านตัน และมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขนำเข้าของปี 2558 ประมาณ 3.5 ล้านตัน ซึ่งการนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดทำให้เกิดปัญหาราคาในประเทศ โดยสภาเกษตรกรและชาวไร่ข้าวโพดเคยบอกรัฐบาลมาไม่ต่ำกว่า 5 เดือน ว่า จะเกิดผลกระทบกับราคาข้าวโพดและมันสำปะหลัง แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ"
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า เมื่อแรงกดดันมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการชุมนุมของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆมากขึ้น บริษัทก็ได้รับแรงกดดันค่อนข้างมาก รัฐบาลจึงประกาศว่าจะยุติการนำเข้า แต่ว่าจะหยุดนำเข้าตอนเดือนธันวาคมเป็นต้นไป
"การหยุดในช่วงนั้นไม่สามารถช่วยกู้สถานการณ์อะไรได้แล้ว โดย 2 เหตุผล คือ 1. มีการนำเข้ามาเกินความจำเป็น ตัวเลขการนำเข้ามากกว่าปีที่แล้ว ทุบสถิติการนำเข้าจาก 2 ปีที่แล้ว 2. การยุตินำเข้าในช่วงเดือนธันวาคม ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวโพดไปหมดแล้ว คิดเป็น 90% เพราะข้าวโพดไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร แต่ไปอยู่ในมือของบริษัทอาหารสัตว์ ราคาปรับขึ้นไปเกษตรกรก็ไม่มีข้าวโพดขาย"ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว และว่า ที่บอกว่าจะให้ความร่วมมือไม่นำเข้าข้าวโพดและข้าวสาลี เป็นข้ออ้างที่ไม่สามารถรับฟังได้ การที่รัฐบาลช้าไม่ดำเนินการใดๆ จนข้าวโพดเก็บเกี่ยวแล้ว อย่างเดือนพฤศจิกายนจะเก็บเกี่ยวประมาณ 80 % ถ้าเก็บช่วงธันวาคมประมาณ 90 % การที่รัฐบาลดำเนินการช้า ก็เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทหรือกลุ่มนายทุน ช้อนซื้อข้าวโพดได้ในราคาถูก โดยเฉพาะการที่ปล่อยให้มีการนำเข้าแบบไม่เสียภาษีทำให้รัฐสูญเสียรายได้ของรัฐในการจัดเก็บภาษี อีกทั้งยังไปเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท มาทุบราคาข้าวโพดและมันสำปะหลังในประเทศให้ดิ่งเหวลง ซึ่งราคามันสำปะหลัง ณ ปัจจุบันตกต่ำมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คือนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลยุคปัจจุบันได้อนุมัติให้นำเข้าข้าวโพดไม่จำกัดระยะเวลาและไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า โดยรัฐบาลชุดนี้เปิดให้นำเข้าข้าวโพดและมันสำปะหลังมากกว่ารัฐบาลยุคก่อนหน้านี้ที่จะมีระยะเวลาการนำเข้าอยู่
พร้อมกับยกตัวอย่างรัฐบาลยุคของนายอภิสิทธิ์กำหนดระยะเวลาเดือนมีนาคม-มิถุนายน และรัฐบาลยุคของนางสาวยิ่งลักษณ์ กำหนดนำเข้ามีนาคมถึงเดือนกรกฏาคมเท่านั้น การไม่จำกัดเวลานั้นหมายความว่า สามารถนำข้าวโพดเข้ามาได้ในขณะที่ข้าวโพดในประเทศกำลังเก็บเกี่ยว เท่ากับทุบราคาข้าวโพดให้ต่ำลงไปอีก
"สาเหตุที่รัฐบาลอนุมัติให้นำเข้าแบบไม่จำกัดระยะเวลาเป็นเพราะนโยบายประชารัฐ ตอนนี้โครงสร้างนโยบายของรัฐบาลมีแต่กลุ่มพ่อค้าที่อยู่ในกรรมการชุดต่างๆของรัฐ ซึ่งรัฐบาลก็ฟังเสียงแต่พ่อค้า โดยเกษตรกรหรือตัวแทนเกษตรกรไม่มีที่นั่งในฝั่งนโยบาย"
ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือช่องทางในการร้องเรียนต่างๆที่มีกลไกที่สามารถร้องเรียนกับ ส.ส.ได้ แต่ปัจจุบันกลไกเหล่านี้ก็ไม่มีแล้ว และมิหนำซ้ำตัวโครงสร้างที่เป็นทางการอย่างสภาเกษรตรก็ไม่มีบทบาทอะไรในการกำหนดนโยบาย ส่งผลให้เกษตรกรออกมาชุมนุมกันแล้วในหลายพื้นที่มีการเรียกร้องไปที่ศาลากลางจังหวัดเช่น จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี เป็นต้น โดยตอนนี้กำลังรอท่าทีของรัฐบาล เพราะนายกฯ พูดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนว่ากำลังหาทางแก้ไขปัญหา อันนี้ต้องจับตาว่า รัฐบาลจะมีมติอย่างไรต่อไป
"รัฐบาลควรระงับการนำเข้าข้าวสาลี ถึงแม้จะแทบไม่ทันแล้ว เพราะนำเข้ามาเยอะแล้ว กรณีข้าวโพดควรจะไปแก้ไขมติของกระทรวงพาณิชย์ที่อนุญาติให้นำเข้าไม่จำกัด ต้องกำหนดระยะเวลาในการนำเข้า เช่น ควรให้นำเข้ามาในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฏาคม เพื่อไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต และต้องปรับภาษีของ WTO จากไม่เก็บภาษีให้กลับไปอยู่ที่ 27 % ซึ่งรัฐบาลสามารถปรับลดภาษีลงมาได้ในกรณีที่จำเป็น เช่น กรณีที่ข้าวโพดไม่มีผลผลิต"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ซีพี สนับสนุนรัฐหากระงับนำเข้าข้าวสาลี เร่งช่วยเกษตรกรให้ขายข้าวโพดได้ราคาดี
ขอบคุณภาพจาก : thaipublica