ที่ประชุมนบข. ออกมาตรการช่วยชาวนาผู้ปลูกข้าวขาว-ข้าวปทุมธานี
นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลไม่ทอดทิ้งเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ซึ่งรัฐบาลดำเนินการโดยรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกรชาวนา โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าว ข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
วันที่ 7 พ.ย.59 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 8/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมหารือการบริหารจัดการข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง จากการแก้ปัญหาให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวปทุมธานี ซึ่งหลักการให้ดำเนินการในลักษณะใกล้เคียงกับกรณีข้าวหอมมะลิโดยไม่ให้เกิดความแตกต่างกัน
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความห่วงใยประชาชนทุกคน และยืนยันรัฐบาลไม่ทอดทิ้งเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ซึ่งรัฐบาลดำเนินการโดยรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้ง เกษตรกรชาวนา โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าว ข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ การดำเนินการในปัจจุบันและที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการแก้ปัญหาปลายทางมาโดยตลอด แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องทำให้ถูกกฎหมายและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาด
"ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกมาตรการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิไปแล้ว โดยวันนี้ที่ประชุมจึงได้มีการพิจารณาเรื่องของโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2559/60 นาปี หรือ รอบที่1 โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกปทุมธานี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม รวมทั้ง รัฐบาลได้มีการเตรียมมาตรการรองรับในส่วนของข้าวประเภทอื่น ๆ ด้วย หากราคามีปัญหา"
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารจัดการข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ ของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความยั่งยืนว่า ต้องสร้างมาตรการให้เกิดความเข้มแข็ง โดยดำเนินการให้ครบวงจรทั้งระบบตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ให้กับเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ และชาวสวน ที่เน้นการดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง คือผู้ผลิต โดยให้พิจารณาในเรื่องของการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวลงและปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่โดยไม่ใช่พืชเชิงเดียว โดยใช้แผนที่ Agri Map เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของนาแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการใช้น้ำอย่างเป็นระบบลดการใช้น้ำ จัดรอบการผลิต การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกข้าว และพิจารณาอุปสงค์และอุปทาน ( Demand and Supply) ประกอบการดำเนินการด้วย
ส่วนกลางทาง เช่น โรงสี พ่อค้าคนกลาง สหกรณ์ การแปรรูป สร้างนวัตกรรม วิจัยพัฒนา เพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการหนี้เกษตรกรชาวนา และปลายทาง เช่น ตลาดในประเทศ ต่างประเทศ โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ธ.ก.ส. กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ) ขับเคลื่อนโดยบริษัทประชารัฐ ดำเนินการขายปลีก การจำหน่ายให้โรงสีและพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกชุมชน (ตลาดกลาง) โดยสีข้าวด้วยเครื่องสีข้าวขนาดเล็กหรือสหกรณ์เป็นผู้สี เพื่อนำมาแบ่งใส่ถุงจำหน่ายในตลาดชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในเรื่องของการสีข้าวและการผลิตข้าวด้วยตนเอง รวมทั้งเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีสถานที่จำหน่ายและได้รับความเป็นธรรม เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดความชื้น ตรวจสอบคุณภาพข้าว เป็นต้น
พร้อมกันนี้ขอให้ทุกภาคส่วนและประชาชนได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ รวมถึงแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 เพิ่มเติม โดยที่ประชุมเห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2559/60 นาปี หรือ รอบที่ 1 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บข้าวไว้ก่อนโดยไม่ต้องรีบขายข้าวทันทีในช่วงที่ราคายังต่ำอยู่ ซึ่งเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายได้ สำหรับการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2559/60 นาปี หรือ รอบที่ 1 มีดังนี้
1) ข้าวเปลือกเจ้า กำหนดราคาเป้าหมายต่อตัน 7,000 บาท ค่าเตรียมข้าวขึ้นยุ้งและค่าฝากเก็บ 1,500บาท/ตัน ค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพ 2,000 บาท/ตัน (รายละไม่เกิน 10 ไร่ ) โดยชาวนาได้รับเงิน 10,500 บาท/ตัน กรณีขึ้นยุ้ง ส่วนกรณีไม่ขึ้นยุ้ง ชาวนาจะได้รับเงิน 9,000 บาท/ตัน
2) ข้าวเปลือกปทุม กำหนดราคาเป้าหมายต่อตัน 7,800 บาท ค่าเตรียมข้าวขึ้นยุ้งและค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ค่าเก็บเกี่ยวและค่าปรับปรุงคุณภาพ 2,000 บาท/ตัน (รายละไม่เกิน 10 ไร่ ) โดยชาวนาได้รับเงิน 11,300 บาท/ตัน กรณีขึ้นยุ้ง ส่วนกรณีไม่ขึ้นยุ้ง ชาวนาจะได้รับเงิน 9,800 บาท/ตัน
ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรชาวนามาขึ้นทะเบียนโดยเร็ว เพื่อจะรับความช่วยเหลือตามมาตรการโครงการดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกมาจำนวนมากนั้น กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ จะเชิญผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศทั่วโลก 15 ประเทศ จำนวน 150 กว่าราย เพื่อซื้อข้าวจากเกษตรกรชาวนาโดยตรง รวมถึงกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มผู้ส่งออกด้วย โดยตลาดการซื้อขายข้าวดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2559 ณ เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว
ที่มาเว็บไซต์ Thaigov.go.th