ปมละเมิดลิขสิทธิ์เพลงบานปลาย!'อัตพร' ยันไม่ปลอมลายเซ็นศิลปิน-จ่อฟ้องกลับ
'อัตพร' ยันไม่ปลอมลายเซ็นศิลปิน พร้อมชี้แจง โชว์เอกสารแต่งตั้งตัวแทนฯ ‘เสาร์ ๕-นันท์ กรีนไลฟ์’ ปีละแสนบาท จ่อฟ้องกลับ ปมปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เพลงบานปลาย เผยข้อมูลการเป็นตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ปัจจุบันมอบสิทธิ์ให้จ้างเอกชนรายหนึ่งแต่ถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม
สืบเนื่องจาก กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน พร้อมผู้เสียหาย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือกลุ่มศิลปิน และเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงต่าง ๆ กรณี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS นำผลงานเพลงที่มีลิขสิทธิ์ไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อประโยชน์ทางการค้าและแสวงหาผลกำไร โดย AIS ยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาอย่างถูกต้องในการได้รับสิทธิ์เผยแพร่จาก บริษัท เอ็มพีทรี โมบาย เน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รวบรวมคอนเทนต์เพลง
ขณะที่ นายชูเกียรติ บัวผาง กรรมการบริษัท เอ็มพีทรี โมบาย เน็ทเวิร์ค จำกัด ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า เกิดจากการเผอเรอที่พนักงานของเรานำเอาเพลงที่หมดสัญญาไปใช้ ไม่ใช่ความผิดของAIS พร้อมยืนยันด้วยยว่า ปัจจุบัน ศิลปินเสาร์ห้า หรือ นายสุนทร สินยัง ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายอัตพร ช่วยซบ ฐานปลอมแปลงเอกสารไว้แล้ว เมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ยื่น'บิ๊กตู่'สอบ‘AIS’แพร่เพลงมีลิขสิทธิ์ผ่านแอพฯ-เอกชนดัง ยันไม่ละเมิด , 'บ.เอ็มพีทรีฯ' รับผิดเองปมลิขสิทธิ์เพลง -AIS ไม่รู้เรื่อง ลบจากระบบแล้วนับพัน)
ล่าสุด วันที่ 6 พ.ย. 2559 นายอัตพร ช่วยซบ เจ้าของลิขสิทธิ์เพลงในนาม บริษัท กรีนไลฟ์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ร้องเรียนกรณีดังกล่าว เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า หลังจากที่หมดสัญญาการเป็นตัวแทนจัดเก็บสิขสิทธิืเพลงกับบริษัท ลิขสิทธิ์ เซ็นตอร์ฯ เมื่อช่วงปี 2557 ปัจจุบันได้ทำสัญญามอบสิทธิตัวแทนในการจัดเก็บลิขสิทธิ์ดังกล่าวให้กับเอกชนรายหนึ่งตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 โดยช่วงปลายเดือน ม.ค. 2559 ตรวจสอบพบว่ามีการนำเพลงที่ตนถือลิขสิทธิ์อยู่ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า จึงเดินหน้าแจ้งความร้องทุกข์ในคดีดังกล่าว
ส่วนกรณีการปลอมแปลงเองกสารของศิลปินเสาร์ห้า หรือนายสุนทร สินยัง กล่าวว่า ไม่ได้มีการปลอมลายเซ็น แต่อย่างใด และยืนยันจะดำเนินการฟ้องกลับอย่างแน่นอน
โดย นายชูเกียรติ บัวผาง นำข้อมูลหนังสือสัญญาแต่งตั้งตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ปี 2554-2555 (ทำที่ บริษัท ลิขสิทธิ์ เซ็นเตอร์ฯ) ระหว่าง นายอัตพร ช่วยซบ (เจ้าของลิขสิทธิ์) กับ บริษัท ลิขสิทธิ์ เซ็นเตอร์ จำกัด โดย นายภิญโญ ทวีแจ่มทรัพย์ และ นายชูเกียรติ กรรมการบริษัทฯ (ตัวแทนจัดเก็บ) มาเปิดเผยผู้สื่อข่าว ดังนี้
หนึ่ง สัญญาแต่งตั้งตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ศิลปิน 'นันท์ กรีนไลฟ์' อัลบั้ม รักคนเลว จำนวน 10 เพลง (พร้อมคำขึ้นต้นเพลง) เมื่อ 8 มี.ค. 2554 ทำขึ้นระหว่าง นายอัตพร ช่วยซบ กับ บริษัท ลิขสิทธิ์ เซ็นเตอร์ จำกัด โดย นายภิญโญ ทวีแจ่มทรัพย์ และ นายชูเกียรติ บัวผาง กรรมการบริษัทฯ ระบุว่า
‘เจ้าของลิขสิทธิ์’ เป็นผู้สร้างสรรค์หรือผู้ก่อให้เกิด ผู้ทำขึ้นหรือผู้มีสิทธิ์ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม (คำร้อง-ทำนอง) หรือรับอนุญาตจากผู้ประพันธ์ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และมอบหมายให้ ‘ตัวแทนจัดเก็บ’ เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ เพื่อดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในสิทธิทำซ้ำดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนในทางการค้าหากำไร บริหารจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และดูแลสิทธิประโยชน์อันเกิดจากการใช้ผลงานลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน ระบุสาระสำคัญดังต่อไปนี้
งานลิขสิทธิ์ในสัญญานี้ ให้มีความหมายตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และในกรณีหากมีข้อสงสัยตามเนื้อความแห่งสัญญานี้ ให้ใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว บังคับแก่คู่สัญญาและบุคคลภายนอกด้วย โดย 'เจ้าของลิขสิทธิ์' ตกลงแต่งตั้งให้ 'ตัวแทนจัดเก็บ' สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 8 มี.ค. 2554 จนถึง 8 มี.ค. 2556 และภายในระยะเวลาของสัญญานี้ เจ้าของฯ จะไม่อนุญาตหรือแต่งตั้งให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใด เพื่อเป็นตัวแทนฯ ตามความในสัญญาฉบับนี้อีก แต่ยินยอมให้ตัวแทนฯ สามารถแต่งตั้งให้ตัวแทนช่วงหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่น ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แทนได้ โดยตัวแทนฯ จะต้องแจ้งให้เจ้าของฯ ทราบถึงการแต่งตั้งหรือมอบอำนาจดังกล่าวด้วย
โดย 'ตัวแทนจัดเก็บ' ตกลงจัดสรรค่าลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับเจ้าของฯ เป็นจำนวนปีละ 100,000 บาท รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
สอง สัญญาแต่งตั้งหรือมอบสิทธิ์ให้เป็นตัวแทนในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ศิลปิน 'เสาร์ห้า (เสาร์ ๕)' อัลบั้ม คนใต้ใจเต็ม จำนวน 10 เพลง (พร้อมคำขึ้นต้นเพลง) เมื่อ 1 มิ.ย. 2555 ทำขึ้นระหว่าง นายอัตพร ช่วยซบ กับ บริษัท ลิขสิทธิ์ เซ็นเตอร์ จำกัด โดย นายภิญโญ ทวีแจ่มทรัพย์ และ นายชูเกียรติ บัวผาง กรรมการบริษัทฯ ระบุสาระสำคัญเช่นเดียวกับสัญญาข้างต้น
โดย 'เจ้าของลิขสิทธิ์' ตกลงแต่งตั้งให้ 'ตัวแทนจัดเก็บ' สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง เป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2555 จนถึง 31 พ.ค. 2557 และตัวแทนฯ ตกลงจัดสรรค่าลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้กับเจ้าของฯ เป็นจำนวนปีละ 100,000 บาท รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานพีอาร์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ชี้แจงว่า “สำหรับกรณีนี้ เมื่อเราได้รับทราบก็เร่งตรวจสอบทันที และได้รับการยืนยันว่า บริษัท เอ็มพีทรีฯ ซึ่งเป็นบริษัทผู้รวบรวมคอนเทนต์เพลง ได้รับสิทธิ์อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้ กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมาย โดย AIS ให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์ และสนับสนุนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่แท้จริง ทั้งนี้ AIS ไม่ได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งหมดมีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย” (อ่านประกอบ : AIS แจงปมถูกร้องนายกฯ! ยันได้รับลิขสิทธิ์เพลงจาก ‘บ.เอ็มพีทรีฯ’ ทำสัญญาถูกต้อง)
อ่านประกอบ :
กลุ่มธรรมาภิบาลฯ รุกยื่น ‘ปปง.’ สอบปมฟอกเงิน หลัง ‘AIS’ ยันไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง
โชว์ลิขสิทธิ์เพลง ‘ก.ทรัพย์สินทางปัญญา’ หลัง AIS ยันได้จาก 'บ.เอ็มพีทรี' ถูกต้อง
AIS แจงปมถูกร้องนายกฯ! ยันได้รับลิขสิทธิ์เพลงจาก ‘บ.เอ็มพีทรีฯ’ ทำสัญญาถูกต้อง
เปิด14เพลง7ผู้ประพันธ์2ศิลปิน ยื่น'บิ๊กตู่'สอบปมลิขสิทธิ์-'AIS'ยันดีลผ่านตัวแทน
ยื่น'บิ๊กตู่'สอบ‘AIS’ แพร่เพลงมีลิขสิทธิ์ผ่านแอพฯ-เอกชนดัง ยันไม่ละเมิด