ศ.ดร.สุรชาติ ตั้งคำถาม ทำไมชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย ?
“วันนี้โจทย์ใหญ่คือทำไมชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย วันนี้อย่าฝันเกินจริง ด้วยอุดมคติที่สุดโต่งละเชื่อว่าจะสามารถสร้างประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบได้ ผมเรียกร้องให้เป็นช่างซ่อม ถ้าซ่อมได้จะช่วยสร้างอนาคตให้ประเทศไทย”
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 สถาบันพระปกเกล้า จัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 18 (KPI Congress 18) หัวข้อเรื่อง “เติมชีวิต คืนชีวาประชาธิปไตย” (Revitalizing Thai Democracy) วันที่ 2 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอภิปราย เรื่อง “เดินหน้าประชาธิปไตยไทย” โดยเริ่มต้นระบุถึงคำนิยามประชาธิปไตยในประเทศไทย
"ผมคิดว่า ถ้าพูดประชาธิปไตยแบบอุดมคติเราคงถกกันได้ทั้งวัน แต่ตอนนี้ต้องถามว่า สถานะของการเมืองไทยอยู่ประมาณไหน ถ้าเราเชื่อทางวิธีคิดหรือภาษาทางรัฐศาสตร์เรียกว่า เรากำลังเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน ผมเชื่อว่านั้นคือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุด ต้องทำความเข้าใจกันว่า วันนี้เราไม่ได้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านรัฐประหารไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน รัฐประหารคือรัฐประหาร แล้วถ้าคิดว่า รัฐประหารคือการสร้างประชาธิปไตย
ผมคิดว่าต้องยุบคณะรัฐศาสตร์ผมทิ้ง เพราะรัฐประหารไม่สร้างประชาธิปไตย รัฐประหารสร้างรัฐบาลทหารและเป็นเผด็จการทหาร นั้นหมายความว่า ในหลายปีที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ผมคิดว่าสถานการณ์รูปแบบการเมืองไทยอยู่ในสถานะที่แบบก้ำกึ่งตรงกลาง เปลี่ยนผ่านมีเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยภายใต้ระบอบเลือกตั้งระยะหนึ่ง และก็ยึดอำนาจใหม่ นั่นหมายความว่าประชาธิปไตยไทยมีลักษณะเดินหน้าถอยหลัง
ผมไม่อยากเปรียบเทียบเพลงไทยโบราณ คือ สาละวันเตี้ยลงๆ แต่มันก็มีจังหวะที่ขยับขึ้น แต่เป็นการขยับกลับไปกลับมาอย่างนี้การเมืองไทยก้าวไม่พ้น ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่า พื้นที่สีเทาเกรย์โซน"
นักวิชาการรัฐศาสตร์ มองว่า ถ้าการเมืองไทยอยู่ในภาวะที่เป็นพื้นที่สีเทาตลอดนั้นหมายความว่า การเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยกำลังสร้างระบอบการปกครองที่ภาษารัฐศาสตร์สมัยใหม่เรียกว่า ระบอบการปกครองที่เป็นระบอบการปกครองแบบระบอบพันธุ์ทาง หรือไฮบริด ระบอบนี้มีนัยยะใหญ่ เพราะในหลายประเทศการเปลี่ยนผ่านไม่ได้เดินไปถึงจุดจบในการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านก็ไม่ล้ม ถอยไปสู่การปกครองทหารแบบเก่านั้นหมายความว่า ในอนาคตถ้าการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น คำถามคือระบอบพันธุ์ทางแบบไทยๆนั้น จะค่อนไปทางระบอบแบบประชาธิปไตยหรือค่อนไปทางระบอบอำนาจนิยม
"ถ้าค่อนไปทางระบอบอำนาจนิยมนั้นหมายความว่า ระบอบพันธุ์ทางไทยจะเป็นกึ่งอำนาจนิยม แต่ถ้าค่อนมาทางประชาธิปไตยระบอบการเมืองไทยในอนาคตจะเป็นแบบกึ่งประชาธิปไตย"
ศ.ดร.สุรชาติ แสดงความคิดเห็นว่า ทุกวันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของการเมืองไทยและเป็นคำถามหลังการเลือกตั้งในอนาคต เพราะสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้นั้น
1.ตกลงการเลือกตั้งเมื่อไหร่จะมาถึง
2. ผลของการเลือกตั้งในอนาคตรัฐบาลใหม่น่าตาเป็นอย่างไร
"แต่ผมคาดเดาได้ประมาณหนึ่งว่า รูปแบบในอนาคตอาจจะไม่ต่างจากระบอบการปกครองหลังปี 2521 ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่การเมืองไทย และเป็นคำถามหลังการเลือกตั้งในอนาคต เพราะเรายังไม่รู้ว่า การเลือกตั้งจะเกิดเมื่อไหร่ รัฐบาลใหม่จะน่าตาเป็นอย่างไร"
ส่วนในเรื่องของการเดินหน้าประชาธิปไตยทำอย่างไรให้ยอมรับจากต่างประเทศนั้น ศ.ดร.สุรชาติ ชี้ว่า เวลาพูดเรื่องประชาธิปไตยจะตัดเรื่องต่างประเทศไม่ได้ เพราะบรรทัดฐานระหว่างประเทศ มีการนำเอาประชาธิปไตยมาชี้วัด ถ้าถอยจากประชาธิปไตย KPI หรือดัชนีชี้วัดลดทันที ในรอบ 10 ปี ที่มีรัฐประหารซ้ำ 2 ครั้ง คือ 1. ฟิจิ 2.ประเทศบูร์กินาฟาโซ และ3. ประเทศไทย ตั้งคำถามว่าประเทศไทยเข้าไปอยู่ในนั้นได้อย่างไร วันนี้ประเทศบูร์กินาฟาโซยั่งยืนอยู่ในระบอบรัฐประหารเพียงแค่ 7 วัน
“ในฐานะเรียนรัฐศาสตร์วันนี้ผมไม่เชื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ว่าจะไม่มีปัญหา ถ้าเราคิดแบบนี้เราจะมีความฝันแบบอุดมคติแล้วเราจะคาดหวังทุกอย่างจากประชาธิปไตย พอเราคาดหวังทุกอย่างแล้ว เราจะเห็นปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่ไม่มีปัญหา แต่ในปัญหานั้นทำให้เราได้เลือกตั้ง และตัดสินใจเลือกผู้บริหารประเทศเอง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นหลักประกัน ถ้าหลักประกันไม่มี อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง
ถามจริงๆ ระบบการเมืองไหนสร้างสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ แม้ระบบการเมืองไทยจะชำรุดไปบ้าง สามารถช่วยการซ่อมได้ ถ้าร่วมมือกัน”
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุถึงเกณฑ์ที่ประชาธิปไตยควรมี ขอใช้สูตร 7+7 คือสิทธิขั้นพื้นฐาน 7 ประการต้องมี คือ
สิทธิการออกเสียง
สิทธิในการตั้งพรรคการเมือง
สิทธิการแข่งขันเลือกตั้ง
สิทธิในการควบคุมตัวแทนของประชาชน
สิทธิในการพูดในที่สาธารณะ
สิทธิในการประท้วงอย่างสันติ
สิทธิของชนกลุ่มน้อย แม้สิทธิไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเป็นการค้ำประกันสิทธิเหล่านี้
อีกส่วนคือ หลักการพื้นฐานใน 7 ประการ คือ
หลักนิติธรรมนิติรัฐต้องเกิด
ระบบตุลาการต้องเป็นอิสระ
ธรรมาภิบาลต้องมี
การควบคุมโดยพลเรือนหรือการควบคุมทหารโดยพลเรือน
การตรวจสอบและถ่วงดุล
การกระจายอำนาจ
การสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคม
ถ้าเป็นยังไงนี้มันจะเป็นเงื่อนไขในการซ่อมความชำรุดของระบบประชาธิปไตยไทย ถ้า7+7 ไม่เกิดประชาธิปไตยก็ยังเป็นแบบอุดมคติ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งทายด้วยว่า การต่อต้านประชาธิปไตย คือประกาศจุดยืนต่อต้านประเทศในตะวันตก ประเทศที่มีประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้จะเห็นว่า การรัฐประหารล่าสุด ประเทศบางประเทศไม่วิจารณ์รัฐประหารที่กรุงเทพฯเลย หลังจากนั้นเริ่มเห็นการเมืองไทยใกล้ชิดกับประเทศที่ไม่วิจารณ์รัฐประหารในไทย ถ้าเป็นแบบนี้ประเทศไทยจะเปลี่ยนค่ายการเมืองระหว่างประเทศ และเปลี่ยนพันธมิตรด้านการเมืองและความมั่นคงทั้งหมด
“ในบริบทใหม่คือโลกเปลี่ยนสังคมไทยก็เปลี่ยนทำให้วันนี้โจทย์ใหญ่ของเราคือทำไมชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย วันนี้อย่าฝันเกินจริง ด้วยอุดมคติที่สุดโต่งและเชื่อว่าจะสามารถสร้างประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบได้ ผมเรียกร้องให้เป็นช่างซ่อม ช่วยกันเป็นช่างซ่อม ถ้าซ่อมได้จะช่วยสร้างอนาคตให้ประเทศไทยและอนาคตการเมืองไทยมีอย่างเดียวคือซ่อมด้วยกัน”
ขอบคุณภาพจาก: ประชาชาติ