ผอ.อิศรา ชี้พ.ร.บ.คอมฯ อุปสรรคต่อการตรวจสอบรัฐ ปิดปากปชช.
ผอ.อิศรา ชี้พ.ร.บ.คอมฯ อุปสรรคต่อการตรวจสอบรัฐ แนะรัฐควรเปิดให้ปชช.เข้าถึงข้อมูลของภาครัฐได้สะดวกขึ้น-มากขึ้น ขณะที่ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เผยปชช.กลัวผิดกม.หากแชร์ข้อมูลของรัฐ
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 สถาบันพระปกเกล้า จัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 18 (KPI Congress 18) หัวข้อเรื่อง “เติมชีวิต คืนชีวาประชาธิปไตย” (Revitalizing Thai Democracy) วันที่ 2 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
ภายในงานมีการประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง "รัฐบาลแบบเปิด (Open Government) "รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงแนวคิดแบบรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) นั้น ควรที่จะมีความโปร่งใสและต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลในหน่วยงานต่างๆได้ และต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ ซึ่งเทคโนโลยีก็จะต้องเป็นตัวช่วยในการที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปสู่มือของประชาชน
"ถ้าทำได้อย่างนี้ จะสามารถรู้ว่า ประชาชนต้องการอะไร และเวลารัฐบาลจัดหาการบริการให้กับภาคประชาชนจะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น ทำให้การบริการดีขึ้น รวมถึงการทุจริตคอรัปชั่นก็จะน้อยลง"
ศ.ดร.ทิพวรรณ กล่าวถึงดัชนีชี้วัดในระดับสาก มี 4 ตัวชี้วัด อันแรก คือ ดูที่กฎหมายหรือข้อมูลที่รัฐบาลเปิดเผยมีมากน้อยขนาดไหน,สิทธิในการที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ,ดูจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละประเทศได้ผลมากน้อยขนาดไหน และสุดท้ายคือรัฐบาลได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากน้อยเพียงใด ผลปรากฏว่า ไทยอยู่อันดับที่ 68 จาก 102 ประเทศทั่วโลก
"สิ่งที่ได้จากการศึกษานี้คือสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศมีผล ประเทศที่รายได้น้อยโอกาสที่ประชาชนจะเข้าใจสิทธิตัวเองก็จะน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันประเทศที่ประชาชนมีรายได้น้อย โอกาสที่ประชาชนจะไปขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลก็จะมีน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ผู้หญิงโอกาสการเข้าถึงข้อมูลจะน้อยกว่าผู้ชาย"ศ.ดร.ทิพวรรณ กล่าว และว่า แต่ในท้ายที่สุดแนวคิดเรื่องรัฐบาลแบบเปิด ประชาชนก็ควรที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึงรัฐบาลแบบเปิด 1.อยากให้รัฐโปร่งใส เช่น เวลาเข้าเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ ตัวเลขทางบัญชีที่แสดงบนเว็บไซต์ รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ได้รับจัดสรรงบประมาณเท่าไหร่ โดยในเว็บไซต์สำนักงบประมาณควรจะมีตัวเลขการเบิกงานให้สามารถดูได้แบบตลอดเวลางคณะรัฐมนตรีไม่ต้องมานั่งถามเลยว่า เบิกจ่ายไปกี่เปอร์เซ็นต์ ประชาชนก็สามารถเข้าไปดูได้
2.เว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง แม้มีระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่พบว่า เป็นระบบที่ค้นหายากมาก กรมบัญชีกลางจะทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าไปค้นข้อมูลได้ง่ายๆ และข้อมูลไม่จำกัดแค่ช่วงเวลา 3 เดือน
3.เว็บไซด์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น เว็บไซต์ของป.ป.ช. การสอบสวนคดีต่างๆ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ อยากเห็นความคืบหน้าของคดีสำคัญๆ โดยไม่ต้องการรู้เนื้อหาของสำนวน
"ประชาชนอยากรู้ว่า คดีนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคดีสำคัญๆ ที่หายไปนั้น หายไปไหน ประชาชนไม่มีทางรู้เลยว่า คดีสำคัญๆเหล่านั้นหายไปไหน หรืออยู่ขั้นตอนไหนแล้วบ้าง"นายประสงค์ กล่าว และเห็นว่า ข้อมูลคดีต่างๆ นั้นควรมีการเชื่อมโยงกับสำนักงานทะเบียนราษฎร์ด้วย
นายประสงค์ กล่าวด้วยว่า หากจะทำเว็บไซต์เหล่านี้ให้เกิดขึ้นก็ควรกลับไปสู่พื้นฐานให้หน่วยที่มีข้อมูลหาศาลเหล่านี้ไปจัดระบบข้อมูลของตัวเอง และไม่ควรให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องรับผิดชอบหน่วยงานเดียว ฉะนั้นรัฐบาลต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้นจริง มิเช่นนั้น ประเทศไทย 4.0 ก็มองว่า ยังห่างไกลมาก เพราะไม่มีพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญที่สามารถให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของหน่วยรัฐได้เลย
"อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบภาครัฐ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ว่าด้วยเรื่องการนำข้อมูลอันเป็นเท็จ ตอนร่างกฎหมายตัวนี้มีจุดประสงค์สำหรับเอาผิดการทำเว็บปลอม หลอกลวงประชาชนเพื่อให้ได้ทรัพย์สิน แต่ตอนนี้กลับเป็นการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐที่จะปิดปากประชาชนในเรื่องต่างๆ
ปัจจุบันทุกอย่างเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์หมด ถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ ก็จะเป็นปัญหาในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐต่อสาธารณะเป็นอย่างมาก และจะเป็นปัญหาในการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบภาครัฐ"
ด้านนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทาง อิเล็กทรอนิกส์ (องคก์ารมหาชน) กล่าวว่า หากจะไปถึงจุดที่รัฐบาลแบบเปิด ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม จะต้องมีการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตราฐานที่ควรจะเป็นในทิศทางเดียวกัน เพราะในแต่ละหน่วยงานก็จะใช้ภาษาหรือใช้คำเรียกในข้อมูลนั้นๆที่แตกต่างกัน ในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลตอนนี้หน่วยงานต่างๆก็ยังไม่สามารถยืนยันตัวตนบนโลกออนไลน์ได้ โดยจะต้องยืนยันตัวเรา ยืนยันระบบที่ใช้งาน ยืนยันตัวซอฟท์แวร์ และยืนยันตัวระบบของเว็บไซต์ และจะต้องมีความมั่นคงปลอดภัย
"การที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายใต้มาตราฐานที่ยอมรับได้ จำเป็นต้องทำให้ปลอดภัยสอดคล้องกับมาตราฐานสากล"
นางสุรางคณา กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้คนยังแชร์ข้อมูลของรัฐไม่ได้ เพราะบางหน่วยงานไม่อยากให้ข้อมูล เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะแต่ละหน่วยงาน ซึ่งดูแลและบริหารข้อมูลนั้นโดยเฉพาะ การจะให้ข้อมูลกับหน่วยงานอื่นไปบริหารจัดการหน่วยงานนั้นก็ไม่แน่ใจในความปลอดภัยหากต้องนำข้อมูลเหล่านั้นไปมอบให้ดูแล ส่วนโครงสร้างทางกฎหมาย การปฎิบัติต่อให้มีข้อมูลอยู่แต่ก็ไม่กล้าแชร์ เพราะกลัวต้องรับผิด ถ้าไปแชร์แล้วจะแชร์ได้มากน้อยแค่ไหน นี่ก็ยังเป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
เสนอเพิ่มข้อความ ลงในประมวลแพ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีกรณีที่เรียกว่า SLAPP Law คือ การฟ้องหมิ่นประมาทจากภาครัฐหรือภาคเอกชนเพื่อปิดปากประชาชน ที่กำลังทำการตรวจสอบการทำงานรัฐบาลหรือภาคเอกชน และนำข้อมูลที่หามาได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนให้รับทราบว่า การทำงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนนั้นไม่โปร่งใสอย่างไรให้สาธารณะรับทราบ รัฐบาลหรือภาคเอกชนจึงใช้กฎหมายฟ้องหมิ่นประมาทกับผู้เปิดเผยข้อมูลเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก บางครั้งอาจมีการต่อรองกันให้เลิกติดตามการทำงานแล้วจะยุติการดำเนินคดี โดยที่การฟ้องลักษณะนี้ถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากและข่มขู่การวิพากษ์วิจารณ์ โดยผู้ที่ดำเนินคดีไม่มีเจตนาที่ร้องขอความยุติธรรม แต่กระทำไปเพื่อข่มขู่เท่านั้น
"ผลจากการทำแบบนี้คือประชาชนล้มเลิก และไม่กล้าที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือตรวจสอบรัฐบาล รวมถึงภาคเอกชนที่กำลังกระทำการทุจริตหรือกระทำการที่ส่งผลเสียต่อสังคม"
รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวถึงประเทศไทยคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท มีทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่ส่วนใหญ่จะฟ้องทางอาญามากกว่า เพราะคนที่ใช้สิทธิฟ้องมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า เนื่องจากไม่มีค่าขึ้นศาลและไม่มีค่าใช้จ่ายมากมาย แต่จะเป็นการสิ้นเปลืองสำหรับภาครัฐที่ต้องใช้เงินในการดำเนินคดีมหาศาล
"เรื่องการ Anti SLAPP Law กรณีการฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างปัจเจกชนกับปัจเจกชนในประเทศไทยว่า ควรเพิ่มข้อความต่อไปนี้ลงในประมวลแพ่ง 1."ผู้ใดกล่าวข้อความแสดงความคิดเห็นหรือไขข่าวแพร่หลายโดยสุจริตในกิจการสาธารณะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน" เป็นการอธิบายได้ว่า ต้องการให้รัฐบาลเปิดเผยและมีการตรวจสอบได้มากขึ้น 2."เมื่อบุคคลใดถูกดำเนินคดีแพ่ง เพราะการ SLAPP ให้ยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้ศาลชี้ขาดในประเด็นเบื้องต้นในวิแพ่งในมาตรา 25"
รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวทิ้งทายถึงข้อเสนอทางคดีอาญา กรณีที่ผู้เสียหายฟ้องเอง ศาลควรยกฟ้องตั้งแต่คดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หากศาลเห็นว่า เป็นการกระทำตามกฎหมายหมิ่นประมาทางอาญามาตรา 329 (3) ไม่จำเป็นต้องให้ไปสู้กันในชั้นศาล อีกกรณีคือผู้เสียหาย(รัฐ/เอกชน) ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ควรพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่เรียกหลักประกัน เพราะบางทีคนที่โดนฟ้องเป็นชาวบ้านไม่มีเงินประกันตัว ก็จะหมดแรงจูงใจการตรวจสอบภาครัฐ แต่หากเรื่องไปถึงอัยการ ก็มีพ.ร.บ.อัยการ 2553 ตามมาตรา 21 ก็คือสามารถสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะได้ ฉะนั้นถ้าอัยการได้สำนวนที่ภาคประชาชนกำลังติดตามตรวจสอบภาครัฐแล้วโดนฟ้องหมิ่นประมาท อัยการสามารถออกมาตรา 21 ได้ ทำให้การตรวจสอบของภาคประชาชนสามารถดำเนินต่อไปได้
"อย่างในฝรั่งเศสก็ลงโทษคนหมิ่นประมาทเหมือนกัน แต่เป็นการลงโทษการหมิ่นประมาทเฉพาะเรื่องที่เป็นการดูหมิ่นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ ความพิการ คือการหมิ่นประมาทเพราะความแตกต่างทางลักษณะของบุคคลซึ่งเป็นความผิดอาญา ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลสามารถทำได้เลย แค่อย่าไปเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติ ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็จะเรียกค่าเสียหายจากการหมิ่นประมาทเป็นทางแพ่ง ส่วนในประเทศไทยการหมิ่นประมาทที่กระทบต่อความมั่นคงก็คือม.112 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐที่เป็นความผิดอาญา"