กฤษฎีกายัน ป.ป.ช.ฟันผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนโทษไม่ได้ แม้ศาลยกฟ้องคดีอาญา
กฤษฎีกายัน ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟันผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาตั้ง กก.สอบใหม่-เปลี่ยนแปลง-ยกเลิกโทษไม่ได้ แม้ศาลยกฟ้องคดีอาญา เหตุดำเนินการแตกต่างกัน พ.ร.บ.ป.ป.ช. เป็นกฏหมายเฉพาะ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้วินิจฉัย กรณีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงโทษไล่ออกนายประพัน ไพรอังกูร อดีต ผอ.กองกลาง กรมพลศึกษา ออกจากราชการ ตามผลการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการตรวจการจ้างงานก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ (คลองหก) ได้พิจารณางด และลดค่าปรับให้กับผู้รับจ้างโดยมิชอบ ถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริต และผิด พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องคดีอาญากับนายประพัน โดยศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายประพันปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่มีความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลแต่อย่างใด นายประพันจึงร้องขอความเป็นธรรมให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ แต่ อ.ก.พ.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเห็นว่า นายประพันไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ไปยัง ก.พ. ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ทราบคำสั่งลงโทษ และไม่ได้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ฉะนั้นกระบวนการลงโทษทางวินัยจึงได้เสร็จสิ้นแล้ว และการลงโทษทางอาญากับการสอบสวนทางวินัยมีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้แตกต่างกัน โดยการดำเนินการทางวินัยไม่จำเป็นต้องถือตามผลของคดีอาญาเสมอไป จึงมีมติไม่รับคำร้องของนายประพันไว้พิจารณา อย่างไรก็ดีนายประพันได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมพลศึกษาร้องขอความเป็นธรรมให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ รวมถึงเรียกร้องสิทธิทุกอย่างคืนตามกฎหมายอีกครั้ง
กรมพลศึกษาจึงขอหารือว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการตามที่นายประพันร้องขอได้หรือไม่ เพียงใด หรือมีแนวทางอื่นใดที่สามารถแก้ไขปัญหาให้ความเป็นธรรมกับนายประพันในกรณีดังกล่าวได้
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 13) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมพลศึกษา โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (ก.พ.) และผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นสรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงแก่นายประพัน จึงต้องถือว่าการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นที่ยุติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก และให้ถือรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยกรมพลศึกษาได้ลงโทษไล่ออกนายประพัน ออกจากราชการ และนายประพันไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกแก่ ก.พ. ภายใน 30 วัน จึงเสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอุทธรณ์
ส่วนกรณีนายประพันมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมพลศึกษานั้น แม้เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจรับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา แต่โดยมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดให้เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ไม่ว่าจะพ้นขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งตามกฏหมายนี้หรือกฏหมายอื่นมาแล้วหรือไม่
อย่างไรก็ดีการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยเป็นที่ยุติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางแนวทางวินิจฉัยกรณีนี้ไว้แล้ว สรุปได้ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) เป็นกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ ต่างจากกฎหมายทั่วไป การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. บัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วร้ายแรง จึงต้องฟังเป็นที่ยุติ องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจก้าวล่วงไปพิจารณาในข้อเท็จจริงและฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลไว้แล้ว คงทำได้เพียงพิจารณาการใช้ดุลยพินิจเปลี่ยนแปลงโทษที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้คำสั่งลงโทษไปแล้วตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเท่านั้น กรมพลศึกษาจึงอาจรับคำร้องดังกล่าวในฐานะคำร้องเรียนเพื่อใช้เป็นข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปได้
อย่างไรก็ดีปรากฏว่า นายประพัน ถูกล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 แล้ว ดังนั้นโทษที่นายประพันได้รับถูกล้างมลทินไปแล้ว ให้ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยในกรณีนั้น ผู้บังคับบัญชาจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงโทษตามคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการได้
ในประเด็นที่ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญายกฟ้องนายประพันว่าไม่มีความผิดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น เห็นว่า การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีอาญามีความมุ่งหมายและวิธีพิจารณาที่แตกต่างกัน การดำเนินการทางวินัยจึงไม่จำต้องสอดคล้องหรือตามผลการดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องก็ตาม
ส่วนแนวทางอื่นใดที่สามารถแก้ไขปัญหาความเป็นธรรมให้แก่นายประพันได้นั้น เห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หน่วยงานทางปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาใช้ดุลพินิจเท่าที่ไม่ขัดกฎหมาย เพื่อเยียวยาให้ได้รับความเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงแต่ละกรณีได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่ขัดกับ พ.ร.บ.ล้างมลทินฯ ที่กำหนดให้การล้างมลทินตามมาตรา 4 และมาตรา 5 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับการล้างมลทินที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ