ดร.เศรษฐพุฒิ ชี้การค้าโลกโตน้อยลง แนะไทยมีกลยุทธ์ เจรจาการค้าแบบใหม่
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดผลการศึกษาชิ้นล่าสุด “4 คำถาม ข้อตกลง TPP กับประเทศไทย” ชี้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเวลาที่ดีที่ไทยจะคิด หากต้องตัดสินใจเข้าร่วม TPP ควรรู้-เตรียมพร้อมอะไร
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เหลืออีกไม่ถึง 1 สัปดาห์นั้น สิ่งที่น่าจับตาคือนโยบายของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งหนึ่งในนั้นมีข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) อยู่ด้วย โดยผลการเลือกตั้งน่าจะเป็นตัวชี้ว่า TPP มีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้มากแค่ไหน
"ทรัมป์ไม่สนับสนุนแน่นอน ส่วนคลินตันแม้จะไม่เห็นด้วยกับ TPP ในปัจจุบัน แต่น่าจะมีแนวโน้มกลับไปทบทวนข้อตกลง ซึ่งช่วงนี้อาจเป็นเวลาที่ดีที่ไทยจะคิดว่า หากต้องตัดสินใจเข้าร่วม TPP เราควรรู้และเตรียมพร้อมอะไร รวมถึงควรมีกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรองอย่างไร เพื่อรักษาประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ"
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า มีประเด็นอย่างน้อย 4 ประเด็นที่ไทยจะได้ประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้นจากเพียง 3 ประเทศที่เรายังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย คือ สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกันเพียง 10% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย และในจำนวนนี้เป็นการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 8% ซึ่งประโยชน์จาก TPP ผ่านการลดภาษีจึงไม่น่าจะมีมาก เพราะโดยปกติสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าต่ำอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 1.4%
"ประโยชน์จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นชัดเจนน่าจะได้จากเพียง 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักร และยาง ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มาก จึงมีโอกาสที่นักลงทุนจะมาตั้งฐานการผลิตเพิ่มขึ้น"
สำหรับข้อตกลง TPP ทั้งหมด 30 บท มีกว่า 20 บทที่ไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้า ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญของ TPP จึงอยู่ที่ประเด็นอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งไทยคงต้องคิดว่า เบ็ดเสร็จแล้ว เราได้ประโยชน์แค่ไหน เพราะจะมีทั้งการปรับกฎระเบียบของมาตรฐานให้มีเกณฑ์สูงขึ้น เช่น ด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม รัฐวิสาหกิจ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และประเด็นเชิงเศรษฐกิจการเมืองที่สหรัฐฯ สามารถกำหนดข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสหรัฐฯ ได้
"ยิ่งไปกว่านั้น อำนาจต่อรองของไทยมีไม่มาก เพราะสหรัฐฯ สามารถกำหนดข้อตกลงที่ประเทศเล็กต้องยอมทำตาม สังเกตสัญญาคู่ฉบับด้านแรงงานของมาเลเซีย พบคำว่า “Malaysia shall...” หรือ “มาเลเซียจะต้อง...” ถึง 34 ครั้ง แต่ไม่มีคำว่า “US shall” หรือ “สหรัฐฯ จะต้อง...” เลย มิหนำซ้ำ ไทยต้องขอความเห็นชอบในการเข้าเป็นสมาชิกจากทุกประเทศที่อยู่มาก่อน ซึ่งทั้งมาเลเซียและเวียดนามคงไม่ยอมให้ไทยได้ประโยชน์มากกว่าแน่"
แต่อย่างไรก็ดี ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การผลักดัน TPP อาจกำลังเจออุปสรรคเพิ่มเติมจากกระแส anti-globalization และ anti-trade agreement ที่กำลังมาแรง เห็นตัวอย่างจากการที่คนอังกฤษโหวตให้ประเทศออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หรือล่าสุดที่ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับแคนาดาก็บรรลุข้อตกลงได้อย่างยากลำบาก จึงทำให้มีข้อสงสัยว่าการผลักดันข้อตกลงการค้าอื่นๆ รวมถึง TPP อาจทำได้ยากขึ้น
“โลกเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่มีกระแส anti-globalization และ anti-trade agreement แต่การค้าโลกโตน้อยลงด้วย เห็นได้จาก 20 ปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกโตทุกๆ 1% จะส่งผลให้มูลค่าการค้าโลกเพิ่มขึ้น 2.5% แต่ตอนนี้มูลค่าการค้าจะเพิ่มเพียง 0.7% ปรากฏการณ์ทั้ง 2 สื่อว่า ไทยทำเหมือนเดิมไม่ได้ เราต้องมีกลยุทธ์ในการเจรจาการค้าแบบใหม่ โดยที่ต้องรู้ว่าเราจะยอมเสียอะไรไปเพื่อให้ได้อะไรมา ควรทำสัญญากับใคร และจะทำอย่างไรเพื่อรักษาอำนาจต่อรอง เช่น ต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมไหนที่เราอยากได้จริงๆ แล้วเราจะได้เท่าไหร่ หรือต้องรู้ว่าควรทำสัญญากับใครที่จะได้ประโยชน์สูง เพราะจะบอกได้ว่าไทยควรเข้าเจรจากับใครดี หรือเร่งให้ข้อตกลง RCEP ที่มีจีนเป็นแกนหลัก และ WTO บรรลุผล เพื่อรักษาอำนาจต่อรอง”
รายงานที่เกี่ยวข้อง:4 คำถาม ข้อตกลง TPP กับประเทศไทย