ครม. อนุมัติ 1.5 หมื่นล้านพยุงราคายาง 120 บ.
ครม. อนุมัติงบผ่าน ธกส. 1.5 หมื่นล้าน ให้สถาบันเกษตรดันราคายาง 120 บ./ก.ก. ตั้งเป้ารับซื้อ 2 แสนตันรักษาเสถียรภาพ เชื่อมั่นปี 55 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวไม่กระทบยาง
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.55 มีมติเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ให้สถาบันเกษตรกรและองค์กรสวนยาง (อสย.) รับซื้อยางจากเกษตรกรในราคานำตลาดก่อนแปรรูป โดยครม. อนุมัติงบฯ กลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 1,322 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินจ่ายขาดในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง แบ่งเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยในอัตรา 3.9% เป็นเงิน 731 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการเป็นเงิน 450 ล้านบาท และค่าประกันภัยเป็น เงิน 100 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ธ.ก.ส. จะปล่อยสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการบริหารโครงการ วงเงิน 5 พันล้านบาท และปล่อยสินเชื่อให้อสย. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้ารับซื้อยางพาราจากเกษตรกรในปริมาณ 2 แสนตันหรือมากกว่านั้น เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินหมุนเวียนในการซื้อยาง
นายอภิชาต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบมาตรการระยะสั้นสำหรับแก้ปัญหายางแผ่นรมควันของสถาบันเกษตรกรที่ไม่สามารถขายได้ โดยให้ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 2 พันล้านบาท ให้สถาบันเกษตรกรเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการรับซื้อยางจากเกษตรกร และให้นำยางในสต๊อกประมาณ 3 พันตัน เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยสถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อกรณีดังกล่าว ขณะที่รัฐบาลจะสนับสนุนค่าประกันวินาศภัยในวงเงิน 13.3 ล้านบาท
“สำหรับราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคายาง ณ วันที่ 17 ม.ค.55 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กยน.) อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยราคายางเพิ่มจาก 85 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 97 บาทต่อกิโลกรัม และเพิ่มเป็น 107 บาทต่อกิโลกรัม” เลขาธิการ สศก. กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคายางดิบที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 115 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 22.32% จากราคา 94.01 บาทต่อกิโลกรัม ในวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งทุกๆ การเพิ่มขึ้น 1 บาทของราคายางดิบจะนำเงินตราเข้าสู่ประเทศ 3 พันล้านบาท ดังนั้น 14 วันที่มีข่าวจะอนุมัติงบประมาณ ทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น 20.99 บาท คิดเป็น 62,970 ล้านบาท ที่ได้จากการขายยางพาราเข้าสู่ประเทศ ดังนั้นถือว่าตลาดยางพาราสะท้อนมาตรการพยุงราคายางของ กนย.ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธาน ประกอบกับช่วงฤดูนี้อีก 3 เดือนจะเป็นช่วงที่ยางผลิใบและไม่สามารถกรีดได้ ปริมาณก็จะลดลงจากระบบ ขณะที่ความต้องการไม่ได้ลดลง
ขณะที่ ดร.หลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยฮั้วยางพารา กล่าวว่าปี 55 แม้เศรษฐกิจโลกจะไม่คล่องตัว แต่มั่นใจว่าราคายางพาราคงไม่เลวร้ายเหมือนปลายปี 54 หากรัฐบาลไม่ตั้งราคาสูงหรือต่ำเกินไป ควรปล่อยตามกลไกตลาดและควบคุมการผลิตและส่งออกอย่างจริงจัง โดยราคา 120 บาท/ก.ก. เป็นราคาที่เหมาะสม
“ปัจจัยที่ส่งผลต่อความผันผวนของราคายางพาราในตลาดโลกมี 3 ข้อ 1.เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป หากทรุดเพียง 20% สามารถกระทบต่อราคายางทั่วโลกได้ 2.กลไกควบคุมราคาของภาครัฐ 3.ดินฟ้าอากาศ เมื่อฝนตกหนักเกษตรกรไม่สามารถผลิตได้ ราคาตลาดจะขึ้นสูงทันที แต่หากฝนแล้งการผลิตมากเกินไป อาจส่งผลให้ราคาตก”
ดร.หลักชัย กล่าวต่อว่า การควบคุมราคาและส่งออกยางพาราไทยนั้น ไม่มีการแทรกแซงจากนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นแน่นอน เนื่องจากมีการควบคุมจากบริษัทกลุ่มสมาชิกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 บริษัท ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย .
ที่มาภาพ :http://region5.prd.go.th/ewt_news.php?nid=2841&filename=siamclub
.