ทีดีอาร์ไอ ชี้หลังน้ำท่วมใหญ่ 54 แก้ปัญหายังเน้นสิ่งก่อสร้าง-ต่างคนต่างทำ
ปรับตัวหลังน้ำท่วมใหญ่ ปี 54 ทีดีอาร์ไอ ชี้แก้ปัญหายังเน้นสิ่งก่อสร้าง- ต่างคนต่างทำ เสนอเก็บภาษี-ประกาศพื้นที่น้ำท่วม หารายได้ชดเชยพื้นที่รับน้ำ ด้านเอกชน เรียกร้องรัฐใช้กฎหมายเข้มข้น ทำให้ทุกคนมีต้นทุนเท่ากัน
วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น “เมืองกับการจัดการน้ำ” ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยดร.นิพนธ์ พัวพงศกร หัวหน้าทีมวิจัย TDRI นำเสนอประเด็นเรื่องปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในเมืองกับการจัดการการใช้ที่ดินและน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการย่อย โครงการวิจัยเพื่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ที่ได้รับทุนวิจัยจาก International Development Research Centre หรือ IDRC
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมในเมืองที่ ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี สาเหตุเกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความผิดของการจัดการน้ำ เช่น การขาดระบบ Single Command ในช่วงวิกฤต ปล่อยให้จังหวัด เทศบาลแก้ปัญหากันเอง ขณะที่ในระยะยาวมีปัญหาเรื่องการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะเขตเมือง พบว่า มีการขยายตัวของเมือง ชุมชนเข้าไปในพื้นที่ลุ่ม ประกอบกับมีอาคารบ้านเรือนและสิ่งกีดขวางทางน้ำ จึงไม่มีที่ให้น้ำอยู่ น้ำฝนต้องระบายลงท่อ ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ เกิดปัญหาน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดในช่วงน้ำท่วม และสูญเสียทรัพยากรน้ำที่มีคุณค่า
“ผลการวิจัยของ TDRI เกี่ยวกับการปรับตัวหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พบว่า ส่วนใหญ่ยังเน้นเรื่องสิ่งก่อสร้าง และเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ภาครัฐยังละเลยในเรื่องการปรับเปลี่ยน พัฒนาสถาบันด้านการจัดการน้ำ และควบคุมการใช้ที่ดินทุกระดับการปกครอง อีกทั้งยังพบปัญหาเรื่องความเป็นธรรม โดยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มักเป็นประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม แต่สร้างภาระให้กับผู้ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ขาดระบบการชดเชยที่เก็บภาษีจากผู้ได้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังไม่มีการควบคุมการใช้ที่ดินขนาดใหญ่ในเมือง ชานเมือง เช่นกรณีหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม ศูนย์การค้า”
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงแนวทางการควบคุมและพัฒนาการใช้ที่ดินระยะยาวด้วยว่า ต่อไปบ้านเราต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผังเมืองและสร้างหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินใหม่ มีเครื่องมือที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง เช่น ภาษีที่ดิน และยังต้องมีแนวคิดแบบบูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่ปรับปรุงระบบจัดการน้ำ ป้องกันน้ำท่วม นำน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ ออกแบบเมือง ใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำ และต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
"ตัวอย่างแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ sponge city ซึ่งตื่นตัวกันมากในประเทศตะวันตก และจีนที่มีอัตราการขนาดตัวของเมืองแบบก้าวกระโดด โดยแนวคิดนี้จะใช้วิธีคิดแบบบูรณาการทั้งระบบ พัฒนากฎหมายกฎเกณฑ์ที่เหมาะกับแต่ละท้องถิ่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองกับหน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ระดมทรัพยากรการเงินสำหรับเมือง ออกแบบให้เหมาะกับภูมิศาสตร์ของแต่ละที่ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเมืองอื่นในต่างประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาในอนาคต"
ขณะที่ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมือง มุมมองเชิงสถาบันและกฎหมายว่า การปรับรูปแบบและความหนาแน่นของการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและระดับความรุนแรงของน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว แต่การควบคุมเรื่องการใช้ที่ดิน มีปัญหาในเชิงลิดรอนสิทธิของเจ้าของที่ดิน ขณะเดียวกันพบว่า หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 แทบไม่เห็นสถาบันไหนเลย ทั้งระดับประเทศ ภาค ท้องถิ่นที่มีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น อนาคตต้องมีการวางแผนและนโยบายระดับภาคที่คำนึงถึงขอบเขตลุ่มน้ำ ยกระดับขีดความสามารถของท้องถิ่นในการวางแผนและผังของตนเอง พัฒนามาตรการด้านผังเมืองที่เอื้อต่อการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงแก้ไขกฎหมายการใช้ที่ดินระดับประเทศ
“ที่ผ่านมาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการบริหารจัดการน้ำ ยังไม่เห็นมีการพูดถึงกันในระดับนโยบาย ส่วนเรื่องการจัดการที่ดินมีการพูดถึงอยู่บ้างในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ยังเป็นวุ่นอยู่ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไป
ด้าน ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัย TDRI กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เมือง ในมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ กรณีเรื่องการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมว่า อาจมีการเก็บภาษีจากประชาชนที่อาศัยในเขตป้องกันน้ำท่วม เช่น คนกรุงเทพ เพื่อนำเงินรายได้ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับพื้นที่รับน้ำ และการดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้ อาจต้องกระทำโดยรัฐบาลกลาง เพราะต้องมีการถ่ายโอนเงินข้ามเขตจังหวัดคือ พื้นที่น้ำแห้งโอนเงินไปชดเชยให้กับพื้นที่น้ำท่วม แต่ปัจจุบันการกระทำลักษณะดังกล่าวทำไม่ได้ ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นตรวจสอบแน่นอน ฉะนั้นหากจะกำหนดเรื่องภาษีน้ำท่วม จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกติกาทางการคลังด้วย
ทั้งนี้ นอกจากภาษีน้ำท่วมแล้ว ดร.อดิศ กล่าวว่า รัฐยังมีอีกทางเลือกที่สามารถนำมาใช้แทนได้ นั่นคือ การปล่อยให้กลไกราคาที่ดินทำงาน โดยประกาศเขตพื้นที่น้ำท่วมให้ชัดเจน ซึ่งจะผลต่อราคาที่ดินในระยะยาว พื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำ ราคาที่ดินจะทำหน้าที่เหมือนเงินชดเชย ส่วนพื้นที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วมเป็นประจำ ราคาที่ดินจะทำหน้าที่เหมือนภาษีที่ดิน
ดร.อดิศร์ กล่าวด้วยว่า การมีโครงสร้างภาษีน้ำท่วมไว้เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้นำมาใช้ในปีที่เกิดอุทกภัย แต่ในภาวะปกติเห็นว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาที่ดิน
ห่วงอนาคตมีพื้นที่น้ำท่วมสูงถึง 60
ส่วน ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณื์น้ำท่วมเมืองในอนาคตว่า จากการคาดการณ์ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมีพื้นที่น้ำท่วมสูงถึง 60% หากเมืองยังขยายตัวในอัตราเช่นปัจจุบัน ขณะเดียวกันบ้านเราจะพบปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการพัฒนาอาคาร โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า
"ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นข่าวว่า มีพื้นที่ใหม่ๆ ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตก เช่น บางซื่อ กำแพงเพชร เป็นต้น ตรงนี้เป็นตัวบ่งชี้เช่นกันว่า การพัฒนาขนาดใหญ่ไม่ได้พิจารณาเรื่องปัจจัย กายภาพมากเท่าที่ควร"
ในฐานะภาคเอกชน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า เอกชนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมปี 2554 เพราะไปสร้างบ้านจัดสรร พัฒนาที่ดินในพื้นที่ที่ไม่ควรสร้าง ขณะที่การบริหารจัดการน้ำ ก็จะเน้นเฉพาะพื้นที่โครงการ ไม่ได้สนใจว่าน้ำจะไปที่ไหน ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐต้องทำให้ผู้พัฒนาเห็นภาพรวมภาพใหญ่
"ส่วนเรื่องการทำผิดกฎหมายนั้นมั่นใจว่า เอกชนไม่ทำผิดอยู่แล้ว เพราะก่อนซื้อที่ดินกางแผนที่ดูเลยว่า ผังสีอะไร มีกฎหมายเรื่องการระบายน้ำเป็นอย่างไร เราทำตาม100% แต่ให้ทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเราไม่ทำ ก็ต้องผลักภาระไปยังผู้บริโภค เพราะนั่นหมายถึงต้นทุน ดังนั้นทางแก้ในระยะยาว จึงเห็นว่า ต้องทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า น้ำต้องมีที่มาที่ไป ท้องถิ่นต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ กฎหมายต้องมีความเข็มข้น ทุกคนต้องอยู่บนกฎเกณฑ์เดียวกัน มีต้นทุนเท่ากัน"