ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา พลิกประวัติศาสตร์ ชี้จุดเริ่มต้นข้าวราคาถูก
"และการที่เราปลูกข้าวในจำนวนที่น้อยลง จะทำให้เรามีความปราณีตมากขึ้นพอปราณีตมากขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงขึ้น ถ้าคนไทยสัก 25 % ทำแบบนี้ได้ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะหายไปได้เยอะเลย "
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำขณะนี้ว่า ปัญหาเรื่องข้าวใหญ่มาก และเชื่อว่าในประเทศไทย ถ้าเอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนมานั่งคุยเรื่องข้าวอาจจะมีมุมมองไม่เหมือนกันขึ้นอยู่ว่าแต่ละคนได้ข้อมูลอะไร เพราะแต่ละคนมีความเชื่อส่วนบุคคลอย่างไร
"ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่ชาวนาจะอ่อนแอ เห็นได้จากทุกประเทศเลยว่า อาชีพอะไรที่มีคนทำเป็นจำนวนมาก อาชีพดังกล่าวก็จะเป็นอาชีพที่จะอ่อนแอของประเทศนั้นๆ"
กรณีของไทย เขาเห็นว่า อาจจะเป็นกรณีที่พิเศษ สืบเนื่องมาจากการเมืองยุคสงครามโลก ที่ตอนแรกประเทศไทยถูกปรับว่า แพ้สงครามจะต้องใช้หนี้ปฏิกรรมสงคราม (ค่าปรับสงคราม) แต่ท่านปรีดี พนมยงค์ และท่านป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ไปต่อรองกับสัมพันธ์มิตรว่า เราไม่ได้ทำสงคราม แม้ไทยจะไปเซ็นสัญญาร่วมมือกับญี่ปุ่นก็จริง แต่เรามีกลุ่มเสรีไทยที่ต่อสู้กับกลุ่มประเทศญี่ปุ่น ถึงยังไงก็ตามปีแรกไทยก็โดนปรับไป แต่เราถูกปรับไปเป็นข้าว เพราะไม่มีเงินจ่าย เราก็เอาข้าวไปจ่าย รัฐบาลไม่มีตังค์มากจึงต้องหาข้าวในราคาที่ถูกที่สุดไปให้กับต่างประเทศ นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ราคาข้าวราคาไม่แพง"
หลังจากจ่ายหนี้หมด รัฐบาลก็มองหาวิธีการหารายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง ประเทศไทยใช้นโยบายที่บอกว่า เราอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องการดึงดูดให้นักลงทุน อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ที่ทำให้นักลงทุนสนใจเพราะค่าแรงถูกที่เราใช้เป็นนโยบายแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะให้ค่าแรงถูกดึงนักลงทุนเข้ามา แรงงานที่ถูกก็ต้องซื้ออาหารหลักถูกตามไปด้วย ไม่อย่างนั้น แรงงานก็จะโวย นี่ก้เป็นจุดเริ่มต้นว่า ทำไมราคาข้าวถึงได้ต่ำ
ในโลกนี้มีข้าวอยู่ หมื่นสายพันธุ์
ต่อมาหลังจากที่ประเทศไทยเริ่มทันสมัยขึ้น ผศ.ดร.จิตติ เล่าวว่า เมื่อก่อนการผลิตข้าวก็จะเอาไว้กินเองเป็นหลักไม่จำเป็นต้องไปส่งออกต่างประเทศหรือต้องไปขายต่างประเทศ ตอนหลังเริ่มชินกับการได้ขายข้าวให้ต่างประเทศบวกกับสินค้าอื่นก็เริ่มลดน้อยถอยลง อย่างไม้สัก แร่ ก็เริ่มลดลง ก็เริ่มหันมาขายข้าว พอไปขายข้าวต่างประเทศเราก็จะถูกผู้บริโภคต่างประเทศกำหนดเรื่องมาตรฐาน
"มาตรฐานคืออะไร มันกลายมาเป็นการใช้เมล็ดพันธุ์เดียวกัน มันกลายมาเป็นการใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นเวลาจะทำข้าวขายหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวชนิดเดียวกัน เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน"
ในโลกนี้มีข้าวอยู่ประมาณ 1 หมื่นสายพันธุ์ ของไทยเมื่อก่อนก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ร้อยสายพันธุ์ ในแต่ละทุ่งนาอดีตถึงแม้จะเป็นในหมู่บ้านเดียวกันเกษตรกรมีรสนิยมในการกินข้าวไม่เหมือนกัน ในอดีตจึงใช้สายพันธุ์หลากหลายในการปลูกข้าว
การที่ใช้สายพันธุ์ที่หลากหลายนี้เอง นักวิชาการ เห็นว่า ส่งผลดีคือมีความหลากหลายในทางชีวภาพและข้าวจะสุกไม่พร้อมกัน พอข้าวสุกไม่พร้อมกันชาวนาที่อยู่ในละแวกนั้นก็จะสามารถลงแขกเกี่ยวข้าวกันได้ เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาเกี่ยวข้าวพร้อมกัน ก็จะมีเพื่อนบ้านมาช่วยกันเก็บเกี่ยว
"เห็นไหมว่า ตัวข้าวอย่างเดียวผูกพันทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรม แล้วลองนึกสภาพดูว่า ที่เราใช้เมล็ดพันธุ์แบบเดียวกัน จะเกิดอะไรขึ้น ก็เกิดการเกี่ยวข้าวที่ต้องเกี่ยวพร้อมกัน และเจอปัญหาเรื่องแรงงานไม่พอ"
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาแบบทุนนิยม คือ ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง ใช้เครื่องจักรเข้ามามีบทบาท การใช้เครื่องจักรเกี่ยวข้าวไม่มีคน คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาเท่าไหร่นัก
ผศ.ดร.จิตติ อธิบายต่อว่า ในยุคแรกที่เรามีเครื่องเกี่ยวข้าวที่ขนาดใหญ่ มีความสะดวก และสบาย "ผมเคยคำนวณแล้วว่าการใช้เครื่องจักรเกี่ยวข้าวถูกกว่าการจ้างแรงงานและเร็วกว่า แต่ผลกระทบที่เสียหายต่อมามีมากคือข้าวชื้น"
"เวลาที่เราลงแขกเกี่ยวข้าว ชาวนาก็จะไปตากข้าวกว่าจะปัดข้าว กว่าจะทำให้เป็นเมล็ด กว่าจะใส่ในยุ้งฉาง ผ่านไปแล้ว 2-3 วัน ข้าวก็แห้ง ไม่ชื้น ราคาข้าวก็จะดี แต่พอใช้เครื่องจักรเกี่ยวข้าวเวลาเกี่ยวเสร็จเครื่องจะยิง แล้วใส่ในกระสอบข้าว แล้วชาวนาก็นำไปขายโดยทันที ก็ยิ่งมีความชื้น ราคาข้าวจะไปเหลืออะไร ก็จะโดนกดราคา เพราะโรงสีรู้ว่าไม่ขายก็ไม่ได้ ไม่งั้นข้าวคุณก็จะเสีย คุณก็ต้องเร่งขาย แถมคุณมาเกี่ยวพร้อมกันอีกยิ่งโดนกดราคา"
นี่เป็นกลไกที่ถูกล็อคโดยอัตโนมัติ ผศ.ดร.จิตติ ตั้งคำถามว่า แล้วหน่วยงานราชการทำงานหรือไม่ที่ผ่านมา
"คำตอบ ทำครับ พยายามเหมือนกัน ในอดีตพยายามไปตั้งโรงอบตามกลุ่มเกษตรกร ระยะแรกปรากฎว่า เครื่องที่เอามาลงไว้ร้างไปเป็นปี เพราะพวกนี้ใช้ไฟสามเฟต แต่ในหมู่บ้านใช้ไฟสองเฟต เมื่อไม่มีงบประมาณดึงไฟสามเฟตเข้าเครื่องนี้ ก็ใช้งานไม่ได้ ถึงลากได้ก็ยังมีปัญหาคือโรงอบที่ราชการไปประมูลซื้อมา
ผมไม่รู้ว่าสเปคมันดีหรือไม่ดี แต่รูปธรรมที่เราเห็นว่า ไม่เหมาะ พอเวลาเปิดเครื่องความร้อนจะขึ้นเร็วมาก พอปิดเครื่องความร้อนก็จะลดลงเร็วมาก ข้าวที่ผ่านกระบวนการแบบนี้ทำให้เวลาสีข้าวเมล็ดข้าวจะแตกหักมากกว่าปกติ
เดี๋ยวนี้ชาวนาก็อายุมากขึ้น วิถีชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไปพอเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเราก็เริ่มชินกับเทคโนโลยีมากขึ้น ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นพอต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาก็ไม่เป็นใจ ก็เริ่มมีปัญหาหนี้สินเข้ามา ถ้าตราบใดไม่มีใครมากล้าปักธงว่าภาพรวมในการผลิตข้าวของไทยควรจะเป็นอย่างไร"
อดีตที่ผ่านมา ข้าวไทยมีความหลากหลายมากบางสายพันธุ์ทำมาทั้งชีวิต บางสายพันธุ์ไร่หนึ่งทำเป็นข้าวสารแล้วเหลือแค่ 200 กิโลกรัม
"คนกินนี้ไม่รู้หรอกว่า ไร่หนึ่งเขาได้แค่ 200 กิโลกรัม แต่เขาไปเปรียบกับข้าวที่ราคาถูกๆ ไม่อร่อย เป็นข้าวที่หน่วยราชการบีบหรือผลิตขึ้นมา เพื่อที่จะเพิ่มแป้ง เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณผลิตขึ้นมาให้เยอะๆ แต่ไม่เพิ่มคุณค่า ไม่ได้เพิ่มความอร่อยของข้าว มันต่างกัน เพราะข้าวแบบนี้ผลิตเยอะกว่า คนกินก็เอามาเปรียบเทียบว่า ทำไมคุณขายแพงเหลือเกิน ผมว่าตรงนี้ควรให้การศึกษาทั้งตัวเกษรตรกรเอง ให้การศึกษาทั้งตัวผู้บริโภค และการศึกษาแบบองค์รวมของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง"
ผศ.ดร.จิตติ ทิ้งทายถึงการแก้ปัญหาข้าว คือ เอาเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงมาใช้อย่างจริงจัง นำไปปฎิบัติให้ได้อย่างจริงจังจะแก้ปัญหาข้าวของประเทศไทยได้ ถ้าหากเราทำกันอย่างจริงจัง จะเป็นกลไกอะไรบางอย่างที่ล็อคอยู่แล้ว เราคงยังจำได้เมื่อก่อนนี้หน่วยราชการก็ส่งเสริมกันไปว่า ต่อไปนี้ถ้าเวลาทำนาตามเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ต้องแบ่งพื้นที่นาเป็น 4 ส่วน ทำบ่อน้ำ 30 % ปลูกข้าว 30 % ปลูกสวนผลไม้อีก 30 % อีก 10 % ไปทำบ้านและเลี้ยงเป็ดไก่รอบๆ
"จริงๆแล้วในหลวงท่านไม่ได้รับสั่งให้ตายตัวแบบนี้ แต่ในหลวงท่านตรัสว่า นี่คือแนวคิดในการสร้างความสมดุลของที่แปลงๆนั้น ท่านตรัสว่า ถ้าแปลงไหนน้ำอุดมสมบูรณ์ก็ไม่ต้องไปขุดบ่อใหญ่ ทำบ่อน้ำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้ง เพื่อที่จะสามารถรดพืชผัก ทำให้คุณมีผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี การที่กระจายการผลิตออกเป็นหลายๆอย่าง คือการกระจายความเสี่ยงด้วย คือการสร้างสมดุลของธรรมชาติด้วย คือการสร้างความหลากหลายในชีวภาพ
และการที่เราปลูกข้าวในจำนวนที่น้อยลง จะทำให้เรามีความปราณีตมากขึ้นพอปราณีตมากขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงขึ้น ถ้าคนไทยสัก 25 % ทำแบบนี้ได้ผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะหายไปได้เยอะเลย"...
ขอบคุณภาพจาก: www.youtube.com/watch?v=VGs8NEHVhzU