นายกส.โรงสีข้าวไทย พร้อมคณะลาออกยกชุด ยันชัดปลอดการเมืองแทรกแซง
นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยประกาศยุติบทบาทของสมาคมในคณะกรรมการต่างๆ เหตุโดนกล่าวหาว่า กดราคาไม่ช่วยเหลือชาวนา แจงโรงสีไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง เผยที่ผ่านมาช่วยรัฐบาลมาตลอดและให้ความสำคัญกับชาวมาตลอดแต่ยังโดนด่า
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 สมาคมโรงสีข้าวเปิดแถลงข่าวเรื่อง สถานการณ์ข้าวในปัจจุบันและจุดยืนของผู้ประกอบการโรงสีข้าว กับกรณีข่าว "โรงสีร่วมกับฝ่ายการเมืองกดราคาข้าวเพื่อหวังผลการเมือง" ณ สำนักงานสมาคมโรงสีข้าวไทย ตลาดน้อย กรุงเทพฯ
จากกระแสดังกล่าวที่สะท้อนภาพลักษณ์ของโรงสีในเชิงลบ นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย พร้อมคณะกรรมการทั้งหมด ได้ประกาศลาออกและยุติบทบาทในสมาคมโรงสีข้าวไทย เพราะไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาและทำให้ราคาข้าวดีขึ้น
ใจความในแถลงการณ์ ระบุ โรงสีข้าวเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอุตสาหกรรมข้าว และการค้าข้าวโลก อยู่เคียงข้างชาวนามาโดยตลอด แต่กลับพบว่า โรงสีข้าวในทัศนะของสังคมมีภาพลักษณ์ออกมาในเชิงลบ เนื่องจากความเข้าใจผิดที่ว่า โรงสีเป็นพ่อค้าคนกลาง เป็นตัวการสำคัญที่สามารถกำหนดราคาข้าวเปลือกได้ตามใจชอบ ทั้งนี้ในความจริงนั้น โรงสีข้าวไม่สามารถจะกำหนดราคาข้าวสารเองได้ เมื่อแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ต้องการขายข้าวสารผ่านพ่อค้า โดยที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาซื้อ-ขายข้าวสาร (เพื่อนำมาคำนวณกลับเป็นราคาข้าวเปลือก)
เพื่อแก้ภาพลักษณ์ดังกล่าวจึงได้ก่อตั้งสมาคมโรงสีข้าวไทยขึ้น เมื่อปี 2521 และปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งประเทศราว 1 พันคน ใน 50 กว่าจังหวัดที่มีการปลูกข้าวและการดำเนินงานของสมาคมโรงสีข้าวไทยต่อสถานการณ์ข้าวไทยนั้น สมาคมโรงสีข้าวไทยยืนบน 2 หลักการที่สำคัญ คือ สมาคมโรงสีข้าวไทยต้องดำเนินตามนโยบายขอรัฐบาล โดยชาวนาต้องมาก่อน ดังนั้น จึงขอปฎิเสธกระแสข่าวที่ออกมาว่า โรงสีบางแห่งกดราคารับซื้อข้าวเปลือก หรือโรงสีร่วมมือกับฝ่ายการเมืองเพื่อกดราคาเพื่อหวังผลทางการเมือง
ในฐานะผู้ประกอบการโรงสีข้าว และนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ดำเนินงานและประกอบธุรกิจด้วยหลัก ให้ความร่วมมือ สนับสนุนนโยบายทุกรัฐบาล ให้ความสำคัญกับชาวนามาเป็นอันดับแรก และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง (ปลอดการเมือง)
ดังจะเห็นได้จากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา สมาคมและผู้ประกอบการโรงสีข้าวได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลด้านข้าวอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น การใช้เครื่องชั่ง และเครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกที่มีการตรวจสอบจากกองชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ และการรับซื้อข้าวเปลือกในฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ (2559/2560) ประมาณการรับซื้อ 8 ล้านตัน วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท
ซึ่งเป็นเงินที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวต้องใช้วงเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์มาช่วยซื้อ โรงสีต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เองตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ในขณะเดี่ยวกันเมื่อราคาข้าวตกต่ำ ธนาคารก็ตัดลดวงเงินกู้ของโรงสีลงเช่นกันเพื่อลดอัตราเสี่ยงของธนาคาร และโรงสีต้องเก็บสต็อกตามนโยบายชะลอข้าว โดยชดเชยดอกเบี้ย 3 % ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน้อยมากกับวงเงิน 8 หมื่นกว่าล้านบาทที่สมาชิกโรงสีทั่วประเทศช่วยรับซื้อข้าวเปลือกไว้ อีกทั้งสมาชิกโรงสีทั่วประเทศก็ยังได้ช่วยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรชาวนามาโดยตลอด ไม่ได้หยุดซื้อ เพื่อกดราคาแต่อย่างใด ผิดกับพืชเกษตรชนิดอื่น ที่มีการหยุดรับซื้อ
ในส่วนของราคารับซื้อข้าวเปลือก ต้องขอให้พิจารณาราคาข้าวสารที่โรงสีข้าวขายออกไปด้วยว่า มีความสอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกหรือไม่ ณ ปัจจุบันราคาข้าวสารที่โรงสีขายออกไป ก็มีความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับราคาข้าวเปลือก ไม่มีความขัดแย้งหรือสวนทางกันแต่อย่างใด โดยข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 9,000-9,500 บาท ข้าวสารหอมมะลิราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท และจากกระแสข่าวดังกล่าวที่สะท้อนภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการโรงสีข้าวในเชิงลบ แม้สมาชิกสมาคมโรงสีข้าวไทยจะได้พยายามให้ความร่วมมือกับราชการ และให้ความซื่อสัตย์ ยุติธรรมแก่ผู้ค้าคือชาวนา ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คณะกรรมการบริหารสมาคมโรงสีข้าวไทยขอยุติบทบาทในคณะกรรมการต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป