1 ใน 9 ข้อเขียนเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเศรษฐศาสตร์
‘ศาสตร์พระราชา’ คือแนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนมายาวนานก่อนที่ประชาคมโลกจะตื่นตัวในเรื่องนี้
ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำบทความ ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ข้อเขียนเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเศรษฐศาสตร์ ที่จะปรากฏใน 'เศรษฐศาสตร์เข้าท่า' ของสถาบันวิจัยป๋วยฯ เร็ว ๆ นี้ โดยขออนุญาต PIER ตัดมาเผยแพร่ก่อน
ศาสตร์พระราชากับการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน
‘ศาสตร์พระราชา’ คือแนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนมายาวนานก่อนที่ประชาคมโลกจะตื่นตัวในเรื่องนี้ เป็นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกหมู่เหล่า
องค์ประกอบของศาสตร์พระราชาคือ การศึกษาและสุขภาพ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต การค้นคว้าวิจัย การบริหารความเสี่ยง การอนุรักษ์ธรรมชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละองค์ประกอบล้วนมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกผู้คนโดยเฉพาะคนจนและผู้ยากไร้
ความโดดเด่นของศาสตร์พระราชา คือแนวปฏิบัติที่มีกระบวนการที่มีเอกลักษณ์ คำนึงถึงบริบททางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละพื้นที่ แก้ปัญหาแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการของคนในพื้นที่ ตามหลักการทรงงานข้อที่ว่าการพัฒนาต้อง ‘ระเบิดจากภายใน’
ตัวอย่างเรื่องเอกลักษณ์การทำงานตามแนวศาสตร์พระราชา คือการแบ่งเป้าหมายเป็นสามขั้นตอน ได้แก่ เพื่ออยู่รอด (Survival) พึ่งตนเอง (Self-reliance) และยั่งยืน (Sustainable)
ดังผู้ที่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินเล่าว่าพระองค์ท่านมักทรงถามชาวบ้านว่า ‘พอมีพอกิน’ หรือไม่ แสดงว่า พระองค์ท่านทรงมีลำดับขั้นการพัฒนาที่ชัดเจน และยังหมายถึงการเอาใจใส่ต่อคนจนที่สุด (Poorest of the poor) ซึ่งมักถูกละเลยโดยภาครัฐและกลไกตลาด
อีกความโดดเด่นของศาสตร์พระราชา คือ เน้นการค้นคว้าวิทยาการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการด้านน้ำ ด้านดิน การเพาะพันธุ์ใหม่ ๆ การแปรรูป เป็นต้น เป็นสิ่งที่นักพัฒนาในยุคหลังเห็นตรงกันว่า คือองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมหมายถึงการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ส่วนการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น นอกจากจะเป็นการสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศน์วิทยาแล้ว ยังมีส่วนช่วยคุณภาพชีวิตของคนยากคนจนที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการหาของจากป่า และที่สำคัญยังช่วยลดผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่มักกระทบชีวิตของคนยากจนมากกว่าคนรวย และการที่ศาสตร์พระราชาเน้น ‘ปลูกคน’ ก่อน ‘ปลูกป่า’ นั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนกว่ามาตรการปลายทางที่ทำกันอยู่ทั่วไป
ในด้านปัญหาความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนย่อมมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงโดยตรง และในอีกด้านหนึ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอนให้คนมีความซื่อสัตย์ สุจริต หากปฏิบัติตามจะมีส่วนสำคัญในการลดความร่ำรวยที่ไม่ชอบธรรม เช่น ร่ำรวยจากการฉ้อราษฎร์ บังหลวง ผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำในไทยสูงมากติดอันดับโลกเช่นทุกวันนี้
หลายประการที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนแฝงไว้ด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของศาสตร์พระราชา แต่ที่ละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ การที่พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับมิติของจิตใจและทัศนคติการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่นพระวิริยอุตสาหะที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติตลอดรัชกาลนั้นเป็นแบบอย่างที่หาค่ามิได้ของจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่น
สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความรับรู้ในระดับสากลโดยเฉพาะด้านกระบวนการทำงานที่มีเอกลักษณ์ เป็นองค์รวม และคำนึงถึงบริบทของพื้นที่