รื้อสนามเก่าทิ้งใช้เงินใหม่สร้างซ้ำ! สตง.สาวไส้ส.กีฬาอำเภอ-ตำบล ละเลงงบ 236ล.
เผยผลสอบ สตง. สุ่มตรวจงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอ-ตำบล กรมพลศึกษา 84 แห่ง พบข้อมูลชัดใช้จ่ายงบที่ไม่คุ้มค่า-ซ้ำซ้อน 236 ล้าน ระบุสนามเก่ายังสภาพดีถูกรื้อสร้างใหม่ ทำเสร็จใช้ประโยชน์น้อย บางแห่งปล่อยทิ้งร้าง อยู่ห่างไกลชุมชน ขาดความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค เปิดชื่อ 2 จว. มีปัญหา 'ชัยนาท-อุทัยธานี'
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล แผนระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) ของกรมพลศึกษา ซึ่งได้รับอนุมัติหลักการ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 มีพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย สนามกีฬาระดับอำเภอ จำนวน 690 แห่ง มูลค่าแห่งละ 24 ล้านบาท งบประมาณรวม 16,560 ล้านบาท และสนามกีฬาระดับตำบลจำนวน 1,114 แห่ง มูลค่าแห่งละ 12 ล้านบาท งบประมาณรวม 13,368 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายกระจายทั่วประเทศ
โดยผลการตรวจสอบ พบว่า สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลที่ก่อสร้างแล้วเสร็จบางแห่งอาจเกิดความล้มเหลว เนื่องจากไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ สนามกีฬาบางแห่งที่เปิดใช้งานแต่มีบางรายการที่ใช้ประโยชน์น้อยมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าการก่อสร้างสนามกีฬาอาจเป็นไปโดยไม่ประหยัด เป็นเงิน 236.70 ล้านบาท เนื่องจากต้องทำการทุบรื้อรายการสนามกีฬาเดิมที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี หรือมีการก่อสร้างซ้ำซ้อนกับสนามกีฬาที่มีอยู่เดิมแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าการก่อสร้างบางแห่งคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบที่กำหนดไว้
(อ่านประกอบ : ละเลงงบร้อยล.! สตง.สรุปชัดโครงการสนามกีฬาอำเภอ-ตำบลหมื่นล.ส่อเหลว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในรายงานสรุปผลการตรวจสอบงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล ของสตง.ดังกล่าว มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานก่อสร้างสนามกีฬาในโครงการที่ไม่ได้คำนึงถึงความพร้อมความเหมาะสมสอดคล้องตามสภาพความจำเป็นและต้องการของพื้นที่เป้าหมาย ทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินที่ไม่ประหยัดและเกิดความคุ้มค่าเป็นจำนวนเงินกว่า 236.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ สตง.ระบุในรายงานการตรวจสอบว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2555 – 2558 พบว่า พื้นที่เป้าหมายบางแห่งจะต้องทำการทุบรื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมหรือสนามกีฬาเดิมที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างสนามกีฬาใหม่ตามรูปแบบที่กำหนด ในขณะที่บางแห่งเกิดความซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น รวมมูลค่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่เป็นไปโดยไม่ประหยัดและไม่เกิดความคุ้มค่าประมาณ 236.70 ล้านบาท
โดยสนามกีฬาระดับอำเภอจะได้รับจัดสรร สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง อัฒจันทร์คอนกรีต โรงยิมเอนกประสงค์ ลานกีฬาเอนกประสงค์ขนาด 30 × 50 เมตร พร้อมไฟส่องสว่าง และลานกีฬาเอนกประสงค์ขนาด 20 × 40 เมตร สนามกีฬาระดับตำบล จะได้รับจัดสรรสนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง โรงยิมเอนกประสงค์ ลานกีฬาเอนกประสงค์ขนาด 30 × 50 เมตร พร้อมไฟส่องสว่าง
อย่างไรก็ตาม จากการสุ่มตรวจสอบ 84 แห่ง พบว่า สนามกีฬาบางแห่งมีสิ่งก่อสร้างบางรายการที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี แต่จะต้องทุบรื้อเพื่อก่อสร้างสนามกีฬาใหม่ตามรูปแบบรายการที่กำหนด จำนวน 32 แห่ง ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปโดยไม่ประหยัดและไม่เกิดความคุ้มค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 110.45 ล้านบาท ที่ต้องทุบรื้อสิ่งก่อสร้างที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ดีออกไป อาทิ สนามฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง ลานกีฬาเอนกประสงค์หรือต้องปรับปรุงทุบรื้อภูมิทัศน์ที่มีอยู่เดิมเพื่อใช้พื้นที่ ทั้งนี้พบว่าสนามกีฬา (สนามฟุตบอล) ที่มีอยู่เดิมบางแห่งโดยได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างโดยการกีฬาแห่งประเทศไทยขนาดมาตรฐาน ขณะที่สนามกีฬาบางแห่งมีการก่อสร้างซ้ำซ้อนกับรายการสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมแล้วจำนวน 9 แห่ง รวมมูลค่ารายการที่มีความซ้ำซ้อนกันประมาณ 126.25 ล้านบาท
นอกจากนี้ กระบวนการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากการตรวจสอบสังเกตการณ์พื้นที่ก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล จำนวน 84 แห่ง พบว่า การคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างสนามกีฬาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้จำนวน 50 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 59.52 ส่งผลให้ต้องมีการทุบรื้อสนามกีฬาที่สภาพใช้การได้ดี เกิดความซ้ำซ้อนของสนามกีฬา เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ใช้ประโยชน์
ในบางรายการ อีกทั้งยังทำให้สนามกีฬาบางแห่งถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ดูแลบำรุงรักษาและไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาทิ มีสนามกีฬาอยู่แล้วในพื้นที่เป้าหมาย ขนาดที่ดินไม่ได้ตามมาตรฐาน สภาพที่ดินหรือระดับที่ดินไม่พร้อมสำหรับรองรับการก่อสร้าง ที่ตั้งสนามกีฬาอยู่ห่างไกลชุมชนหรือไกลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสนามกีฬา และไม่มีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค
" จากการตรวจสอบพบว่าสนามกีฬาระดับอำเภอที่สนับสนุนบางแห่ง แต่สร้างทับซ้อนให้กับสนามกีฬาระดับจังหวัดทำให้เกินความจำเป็น หรือทำให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปโดยไม่ประหยัดและไม่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ เช่น จังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี" สตง.ระบุในรายงานผลการตรวจสอบ
ขณะที่ แหล่งข่าวจาก สตง.ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ผลการตรวจสอบโครงการนี้ ได้มีการแจ้งให้ทางกรมพลศึกษา และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในสถานะหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบเป็นทางการแล้ว