ละเลงงบร้อยล.! สตง.สรุปชัดโครงการสนามกีฬาอำเภอ-ตำบลหมื่นล.ส่อเหลว
สตง.สรุปชัดงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอ-ตำบล กรมพลศึกษาหมื่นล้าน ส่อล้มเหลว ละเลงงบไม่คุ้มค่าหลายร้อยล้าน พบ สร้างเสร็จไม่ใช้งานเพียบ ถูกทิ้งร้างไร้การดูแลสกปรก อาคารสิ่งก่อสร้างชำรุดเสียหาย แถมไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบที่กำหนด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจงานก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล แผนระยะเวลา 5 ปี (2555-2559) ของกรมพลศึกษา ซึ่งได้รับอนุมัติหลักการ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 มีพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย สนามกีฬาระดับอำเภอ จำนวน 690 แห่ง มูลค่าแห่งละ 24 ล้านบาท งบประมาณรวม 16,560 ล้านบาท และสนามกีฬาระดับตำบลจำนวน 1,114 แห่ง มูลค่าแห่งละ 12 ล้านบาท งบประมาณรวม 13,368 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายกระจายทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาระดับชุมชนและอำเภอ ที่ได้มาตรฐานให้เยาวชน ประชาชนได้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬา ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านกีฬา จัดสร้างสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานและสามารถรองรับมหกรรมกีฬาในระดับต่าง ๆ ได้ และเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการกีฬาและนันทนาการได้อย่างเสมอภาคและทั่วถึง
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปี 2555 – 2559 มีการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 184 แห่ง แบ่งเป็นสนามกีฬาระดับ อำเภอจำนวน 114 แห่ง สนามกีฬา ระดับตำบลจำนวน 70แห่ง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,029 ล้านบาท
ขณะที่ การดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬา ในปีงบประมาณ 2555 – 2556 กรมพลศึกษาเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ปีงบประมาณ 2557 ได้โอนเงินงบประมาณให้แก่สำนักงานจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และในปีงบประมาณ 2558 ได้โอนเงินงบประมาณให้กับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
จากการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสอบและสังเกตการณ์ผลการดำเนินการก่อสร้าง การใช้ประโยชน์การวางแผนบริหารจัดการสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล จำนวน 84 แห่ง ใน 26 จังหวัด งบประมาณที่สนับสนุนทั้งสิ้น 1,694 ล้านบาท (ข้อมูลเพียงวันที่ 3 เมษายน 2558 ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 27 แห่ง งบประมาณรวม 612.00 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 28 แห่งงบประมาณ 535 ล้านบาท และยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 29 แห่ง งบประมาณ 547.00 ล้านบาท)
ผลการตรวจสอบ พบว่า สนามกีฬาระดับอำเภอและตำบลที่ก่อสร้างแล้วเสร็จบางแห่งอาจเกิดความล้มเหลวกล่าวคือ ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หรือเคยมีการใช้ประโยชน์บางรายการเพียง 1 – 2 ครั้งและไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อีกจนถึงวันที่เข้าตรวจสอบ จำนวน 20 แห่ง(จากที่แล้วเสร็จ 27 แห่ง) รวมมูลค่าตามรายการสิ่งก่อสร้าง 387.57 ล้านบาท (ยังไม่รวมมูลค่าของรายการสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีสภาพดีและต้องทุบรื้อเพื่อสร้างสนามกีฬาตาม Package ที่กำหนด)
ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามีสนามกีฬาที่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน 9 แห่ง มูลค่า 191.94 ล้านบาท อีก 11 แห่ง มีการใช้ประโยชน์เพียงบางรายการ สำหรับรายการสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คิดเป็นมูลค่า 195.63ล้านบาท
ทั้งนี้ยังพบว่า สนามกีฬาบางแห่งที่เปิดใช้งานแต่มีบางรายการที่ใช้ประโยชน์น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอัฒจันทร์คอนกรีตและโรงยิมเอนกประสงค์ รวมมูลค่างบประมาณที่อาจก่อให้เกิดความไม่คุ้มค่า ไม่น้อยกว่า 387.57 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบว่าการก่อสร้างสนามกีฬาอาจเป็นไปโดยไม่ประหยัด เป็นเงิน 236.70 ล้านบาท เนื่องจากต้องทำการทุบรื้อรายการสนามกีฬาเดิมที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี หรือมีการก่อสร้างซ้ำซ้อนกับสนามกีฬาที่มีอยู่เดิมแล้ว ทั้งนี้ สนามกีฬาบางแห่งถูกทิ้งร้างขาดการดูแลบำรุงรักษาสภาพสกปรก อาคารและสิ่งก่อสร้างจำนวนมากชำรุดเสียหาย อีกทั้งยังพบว่าการก่อสร้างบางแห่งคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามรูปแบบที่กำหนดไว้